ไม่พบผลการค้นหา
บทบัญญัติละเมิดอำนาจศาล รธน. เคยถูกนำเข้าพิจารณาในสภาผู้แทนราษฎรตั้งแต่ ปี 2551 และมีการถกเถียงกันอย่างยาวนานถึงความเหมาะสม ที่จะให้มี 'ฐานความผิด' เนื่องจากศาล รธน. เป็นองค์กรที่มีบทบาทชี้ขาดทางการเมือง สุดท้ายร่างดังกล่าวตกไปจากการ รปห. 57 และกลับมาอีกครั้งในกฎหมาย ยุค คสช.

การละเมิดอำนาจศาลรัฐธรรมนูญกำลังถูกพูดถึงอีกครั้งในขณะนี้ จากการแสดงความคิดเห็นวิพากษ์วิจารณ์ศาลรัฐธรรมนูญของประชาชน 27 ส.ค. 2562 รศ.ดร.โกวิท วงศ์สุรวัฒน์ อาจารย์ภาควิชารัฐศาสตร์และรัฐประศาสนศาสตร์ คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ได้รับจดหมายเชิญจากสำนักงานศาล��ัฐธรรมนูญไปให้ข้อเท็จจริง จดหมายดังกล่าวยังระบุว่า ข้อความที่ รศ.ดร.โกวิท ระบุถึงศาลรัฐธรรมนูญนั้นเป็นถ้อยคำที่ไม่เหมาะสม

(ข้อความในทวิตเตอร์ของ รศ.ดร.โกวิท ที่ศาลรัฐธรรมนูญเห็นว่าเป็นถ้อยคำที่ไม่เมหาะสม)

และในกรณีล่าสุด 28 ส.ค. 2562 โพสต์เฟซบุ๊ก ทรงกลด ชื่นชูผล หรือ 'ผู้กองปูเค็ม' ระบุว่า "คำเตือนถึงยุทธเลิศและฝูงซอมบี้ ผมจะแจ้งความดำเนินคดี ยุทธเลิศ ทวิตหมิ่นศาลรัฐธรรมนูญ ตามสูตรเดิม 1+10 ยุทธเลิศ + 10 ซอมบี้" พร้อมทั้งระบุชื่อบัญชีทวิตเตอร์ @Yuhtlerd ของนายยุทธเลิศ สิปปภาค ผู้กำกับภาพยนตร์ชื่อดัง โดยกล่าวว่านายยุทธเลิศเป็นหนึ่งในผู้รีทวิตข้อความดังกล่าว

บทบาทศาลรัฐธรรมนูญ นับตั้งแต่รัฐประหารในปี 2549 เป็นต้นมา ศาลรัฐธรรมนูญได้เข้ามามีบทบาทเกี่ยวข้องกับวิกฤตการณ์การเมืองไทย หลายครั้งส่งผลถึงขั้นล้มรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง

ภายใต้รัฐธรรมนูญ 2560 ซึ่งเกิดขึ้นในยุคของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ศาลรัฐธรรมนูญก็มีอำนาจมากขึ้น

ในปีที่ผ่านมาได้มีการประกาศใช้พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยวิธีพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญ เมื่อวันที่ 27 ก.พ. 2561 โดยที่ผู้มีส่วนเกี่ยวข้องในการออกกฎหมายฉบับนี้ ทั้งคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) และสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ล้วนเป็นบุคคลที่ได้รับการ "แต่่งตั้ง" ของ คสช.

ทั้งนี้ บทบัญญัติสำคัญที่ได้มีการบรรจุลงในกฎหมายฉบับนี้ คือประเด็นเรื่อง "ละเมิดอำนาจศาล" เป็นครั้งแรก ในมาตรา 38 และ 39 และกำหนดฐานความผิดถึงจำคุก

ศาลรัฐธรรมนูญ ศาล 31244567.jpg

ทั้งนี้ ตาม พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยวิธีพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญ มาตรา 38 ระบุให้ศาลมีอํานาจรักษาความสงบเรียบร้อยของการพิจารณาคดีในส่วนที่เกี่ยวกับบุคคลที่เข้ามาหรือจะเข้ามาในที่ทําการศาล หรือบริเวณที่ทําการศาล หรือเข้าฟังการไต่สวนของศาล หรือในกรณีมีความจําเป็นเพื่อประโยชน์แห่งความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน ศาลอาจมีคําสั่งให้บุคคลใดหรือกลุ่มบุคคลใดกระทําการหรืองดเว้นกระทําการ เพื่อให้การพิจารณาคดี ดําเนินไปโดยสงบเรียบร้อย และรวดเร็ว

ศาลมีอํานาจออกข้อกําหนดของศาลเกี่ยวกับการปฏิบัติการตามวรรคหนึ่ง เพื่อให้การดําเนินกระบวนพิจารณาของศาลเป็นไปด้วยความเรียบร้อยและมีประสิทธิภาพ

การวิจารณ์คําสั่งหรือคําวินิจฉัยคดีที่กระทําโดยสุจริตและมิได้ใช้ถ้อยคําหรือมีความหมายหยาบคาย เสียดสี หรืออาฆาตมาดร้าย ไม่มีความผิดฐานละเมิดอํานาจศาล 

และบทลงโทษใน มาตรา 39 ระบุว่า ผู้ใดฝ่าฝืนข้อกําหนดของศาลหรือคําสั่งศาล ตามมาตรา 38 ให้ถือเป็นการละเมิด อํานาจศาล และให้ศาลมีอํานาจ (1) ตักเตือน โดยจะมีคําตําหนิเป็นลายลักษณ์อักษรด้วยหรือไม่ก็ได้ (2) ไล่ออกจากบริเวณศาล (3) ลงโทษจําคุกไม่เกินหนึ่งเดือน หรือปรับไม่เกิน 50,000 บาท หรือทั้งจําทั้งปรับ

โดยการลงโทษข้างต้นนี้ ให้ศาลพิจารณาเท่าที่จําเป็นตามพฤติการณ์แห่งกรณี และการสั่งลงโทษตาม (3) ต้องมีมติด้วยคะแนนเสียงไม่น้อยกว่า 2 ใน 3 ของตุลาการทั้งหมด เท่าที่มีอยู่ ในการดําเนินการให้เป็นไปตามคําสั่งศาลตาม (3) ให้นําประมวลกฎหมายวิธีพิจารณา ความอาญามาใช้บังคับด้วยโดยอนุโลม 


‘ปิยบุตร’ ชี้วิจารณ์คำวินิจฉัย ศาล รธน. ทำโดยสุจริต ไม่ถือว่าเป็นการละเมิดอำนาจศาล

เมื่อวันที่ 14 ส.ค. 2562 ในการประชุมสภาผู้แทนราษฎรครั้งที่ 15 ในวาระที่สองของการประชุม เรื่องที่ประธานแจ้งให้ที่ประชุม ได้มารายงานประจำปี 2560 ของศาลรัฐธรรมนูญ โดยนายปิยบุตร แสงกนกกุล ส.ส. บัญชีรายชื่อ พรรคอนาคตใหม่ ได้อภิปรายรายงานของศาลรัฐธรรมนูญ โดยตอนหนึ่งระบุว่า บทบัญญัติดังกล่าว หมายความว่า การวิจารณ์คำวินิฉัยศาลรัฐธรรมนูญนั้นสามารถทำได้หากเป็นไปตามเงื่อนไข 4 ข้อ ที่ระบุไว้คือ หนึ่ง ทำโดยสุจริต สอง ไม่ได้ใช้ถ้อยคําหรือมีความหมายหยาบคาย สาม ไม่เสียดสี สี่ ไม่อาฆาตมาดร้าย แต่อย่างไรก็ตาม การเขียนกฎหมายแบบนี้นัยหนึ่งก็คือการบอกว่าจะมีอะไรที่เป็นการละเมิดอำนาจศาลบ้าง

นายปิยบุตร ยังกล่าวอีกว่า คำว่า "ละเมิดอำนาจศาล" ในทางหลักการคือ เกิดปัญหาขึ้นในขณะที่ศาลกำลังนั่งบัลลังก์พิจารณาคดี และมีการขัดขวางการพิจารณา มีการปิดล้อมศาล มีการก่อความไม่สงบ หรือขัดคำสั่งศาล อย่างนี้จึงเรียกว่าเป็นการละเมิดอำนาจศาล และไม่เกี่ยวอะไรกับการวิพากษ์วิจารณ์ ดังนั้น การวิจารณ์คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ ต่อให้ทำโดยไม่สุจริต หยาบคาย เสียดสี ก็ไม่ถือเป็นการละเมิดอำนาจศาล


หากมีเรื่องของการดูหมิ่น หมิ่นประมาทตุลาการท่านใด ก็สามารถดำเนินคดีส่วนตัวได้ แต่เมื่อมีการเขียน มาตรา 38 ในลักษณะดังกล่าวก็คือ การบอกว่า การวิจารณ์อาจจะเป็นการละเมิดอำนาจศาลได้ และบุคคลทั้งหลายก็เริ่มไม่แน่ใจว่าองค์กรของรัฐจะใช้กฎหมายกับตัวเองอย่างไร แล้วก็จะนำไปสู่การเซ็นเซอร์ตัวเอง เพราะกลัวว่าการใช้เสรีภาพของตัวเป็นเรื่องที่ผิด มาตรานี้มันสร้างระบบที่ทำให้ประชาชนเซ็นเซอร์ตัวเองขึ้นมา



ปิยบุตร

กรธ. หนุนละเมิดอำนาจศาล รธน. ยันไม่ได้เปลี่ยนอะไร ยกร่างให้ตามที่ศาลเสนอมา

ย้อนคำพูด ศ.ดร.อุดม รัฐอมฤต คณบดีคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และหนึ่งในกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) และ ศ.จรัญ ภักดีธนากุล ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ถึงเหตุผลของการต้องมีบทบัญญัติเรื่องการละเมิดอำนาจศาลรัฐธรรมนูญ และที่มาที่ไปของโทษจำคุก ของผู้ 'เสนอ' และ 'ผู้ยกร่าง' กฎหมาย ในงานเสวนา “ละเมิดอำนาจศาล : จุดกึ่งกลางระหว่างอำนาจกับสิทธิอยู่ที่ใด?” จัดโดยศูนย์นิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เมื่อวันที่ 21 ก.พ. 2561

ศ.ดร.อุดม กล่าวว่าประเด็นเรื่องความผิดฐานละเมิดอำนาจศาลเป็นสิ่งที่ต้องมี ในการคุ้มครองให้บรรยากาศของศาลให้เกิดความสงบเรียบร้อย ศาลสามารถทำงานได้อย่างเต็มที่ รวมถึงการป้องกันการข่มขู่ คุกคาม ที่อาจจะเกิดขึ้นกับตัวบุคคลที่ทำหน้าที่เป็นผู้พิพากษา ตุลาการ

มีชัย.jpg

ศ.ดร.อุดม กล่าวว่า "กรรมการร่างรัฐธรรมนูญ ก็ได้เห็นด้วยกับที่ศาลรัฐธรรมนูญยกร่างมาในเบื้องต้นว่า อยากให้มีการกำหนดเรื่องฐานความผิดละเมิดอำนาจศาล ในการพิจารณาคดีของศาลรัฐธรรมนูญ ซึ่ง กรธ. ก็เห็นด้วย เดี๋ยวจะกลายเป็นว่า กรธ. ไปเปลี่ยนอะไร กรธ. ยกร่างให้ตามที่ทางศาลเสนอมา ก็ไม่ติดใจ"

ศ.ดร.อุดม กล่าวต่อว่า แต่ประเด็นที่อาจจะต้องคุยกันก็คือการใช้อำนาจในการตัดสินว่ากรณีใดเป็นการละเมิดอำนาจศาล เป็นเรื่องน่าคิด

"ผมจำได้ว่าพวกสื่อมวลชนมีโอกาสอย่างมากที่จะอยู่ภายใต้การวินิจฉัยของการละเมิด เพราะท่านไม่ได้นำเสนอแค่ข้อเท็จจริงอย่างเดียว บางครั้งท่านก็เสนอแนวทาง หรือว่ามอง วิเคราะห์ วิจารณ์อะไรต่างๆ แล้วสิ่งที่จะตามมาก็คือ หลายครั้งๆ ลงไปถึงตัวบุคคล...ซึ่งต้องยอมรับว่าบางส่วนท่านอาจจะเสนอความจริง แต่บางส่วนท่านก็ใช้ความคิดของท่านเอง คือผมพูดแบบกลางๆ แล้วกันว่า มันก็มีผลต่อสาธารณะ ว่าสิ่งที่ท่านเอาไปเสนอ ทำให้ศาลรู้สึก หรือสาธารณชนเกิดความรู้สึกต่อศาลที่จะทำหน้าที่ต่อไป"

ศ.ดร.อุดม ยังกล่าวอีกด้วยว่า ในประเด็นที่เกี่ยวข้องกับการเมือง ต้องยอมรับว่าประเด็นนี้เป็นเรื่องที่บอบบาง เพราะในเมื่อเราก็ส่งเสริมให้คนมีสิทธิ เสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น แต่อะไรที่มันล้ำเส้น ทำให้กระบวนการตรงนี้จะเดินไปแล้ว และยิ่งวุ่นวายหนักไปใหญ่ ก็ควรจะมีอะไรที่ชัดเจน ว่าเส้นแบ่งตรงไหน หรือควรมีคำเตือนไหม ก่อนที่ถึงขั้นว่าคุณจะไปชี้ว่าละเมิดอำนาจศาล น่าจะมีอะไรที่จะมาคุยกันหรือไม่ ตรงนี้ตนขอว่าเอาพอเหมาะพอดีไม่ต้องไปไกล



ศาลรัฐธรรมนูญ.jpg

ตุลาการ ชี้ บทบัญญัติ 'ละเมิดอำนาจศาล' ต้องมี เหตุถูกขัดขวาง ทำงานไม่ได้ต้องไปนั่งพิจารณาที่ค่ายทหาร

ด้าน ศ.จรัญ ภักดีธนากุล ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ กล่าวว่า เรื่องบทบัญญัติเรื่องการละเมิดอำนาจศาลรัฐธรรมนูญได้เคยขอไปตั้งแต่ปี 2551 แต่ไม่ได้รับการเห็นชอบจากสภาผู้แทนราษฎร ด้วยเหตุผลที่ว่า ศาลรัฐธรรมนูญเป็นศาลที่จะต้องชี้ขาดทางการเมือง จึงต้องสามารถให้ประชาชน รวมถึงนักการเมือง สามรถวิพากษ์วิจารณ์การทำหน้าที่ของศาลรัฐธรรมนูญได้อย่างเต็มที่ เพื่อเป็นการดุลคานอำนาจของศาลรัฐธรรนูญได้อย่างเต็มที่

ร่างดังกล่าวบรรจุอยู่ในวาระพิจารณาของสภาผู้แทนราษฎร ค้างอยู่ในวาระนั้น จนเกิดการรัฐประหารปี 2557 ศ.จรัญกล่าวว่า ประเด็นเรื่องการละเมิดอำนาจศาล ทางสภาผู้แทนราษฎรให้ตัดอออกทั้งหมด ศาลรัฐธรรมนูญทักท้วงขอมาทบทวนว่ามันจำเป็น

"แล้วเรื่องที่ค้างนานที่สุดก็คือเรื่องละเมิดอำนาจศาล ทางสภาผู้แทนราษฎรให้ตัดอออกทั้งหมด ศาลรัฐธรรมนูญก็ทักท้วงขอมาทบทวนว่ามันจำเป็น เราก็ยกตัวอย่างให้เห็นว่า มันทำงานไม่ได้จริงๆ ไม่ได้ ถึงขั้นต้องกลายเป็นศาลพเนจร คือไม่สามารถนั่งพิพากษาคดีในศาลของตัวเองได้ เพราะว่าถูกปลุกปั่น ปลุกระดมมวลชนเข้าปิดล้อมถึงจะเผาจะระเบิด จนกระทั่งทางฝ่ายกองทัพได้เสนอว่า ให้ไปนั่งพิจารณาในกองบัญชาการทหาร แล้วท่านจะปกป้องคุ้มครองเอง ขอให้สบายใจไม่ต้องเป็นห่วง แต่ว่าเราเป็นศาล จะเอาเราไปอยู่ในกองทัพ มันก็ยิ่งแย่ไปกว่าเดิม มันจะกลายสภาพจากศาลรัฐธรรมนูญ กลายเป็นศาลทหารไป"

“แล้วเราก็เลยบอกว่า ขอเถอะ ขอกฎหมายละเมิดอำนาจศาล ให้เราสั่งได้ แต่ท่านจะให้มากน้อยแค่ไหน เพียงใด สุดแล้วแต่ท่านจะเห็นสมควร แล้วเราก็ออกแบบ เอาอย่างนี้แล้วกัน หนึ่ง เราไม่เอาโทษจำคุกเลย เพราะว่าถ้าจะดำเนินคดีอาญาก็ให้ไปแจ้งความร้องทุกข์กล่าวโทษ ข้อหาข่มขู่คุกคาม...ไปเข้าระบบอาญา เราไม่เอาโทษจำคุก สอง ขอให้มีอำนาจสั่งด้ยตัวเราเองได้ มีอำนาจสั่งให้ไปอยู่นอกศาล สาม เอาเฉพาะกรณีที่จะมาบุกก่อความวุ่นวาย ขัดขวางการทำหน้าที่ของเราในศาลพอละ ส่วนเรื่องวิพากษ์วิจารณ์เราไม่เอา เราให้วิพากษ์วิจารณ์ได้อย่างเต็มที่ อย่างที่ฝ่ายการเมืองต้องการ มันทำท่าจะได้ข้อยุติ พอดีมีปฏิวัติก่อน 22 พ.ค. 2557 ร่างกฎหมายที่คามา 7 ปี ก็เป็นอันตกไป”

“พอมาถึงตอนคราวที่จะต้องเสนอร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญต่อกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ เราก็เอาข้อความเดิมในเรื่องละเมิดอำนาจศาลมา แล้วก็เตรียมใจไว้แล้วว่าถ้าท่านไม่ให้ ก็จะขอต่อรอง หนึ่ง ลดโทษจำคุกลงไป สอง ตัดเรื่องวิพากษ์วิจารณ์เราไม่เอา เอาเฉพาะเรื่องก่อความไม่สงบเรียบร้อย ที่เข้ามาขัดขวางการทำหน้าที่...แต่นึกไม่ถึงเลย ท่านให้มาเต็มเลย เพราะฉะนั้น อันนี้ก็ไม่ได้ว่าท่านนะ แล้วก็ขอบคุณท่าน ที่ให้มา เพราะว่าเราไม่ได้เรียกร้องดึงดันจะเอาแบบนี้” ศ.จรัญ กล่าว

จรัญ ศาลรัฐธรรมนูญ 278-4E18-AD9A-62535C91BA20.jpeg


(คลิปงานเสวนา “ละเมิดอำนาจศาล : จุดกึ่งกลางระหว่างอำนาจกับสิทธิอยู่ที่ใด?” จัดโดยศูนย์นิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เมื่อวันที่ 21 ก.พ. 2561 )