ไม่พบผลการค้นหา
คณะครูนับร้อยจากทั่วประเทศ ยื่นหนังสือถึงคณะกรรมาธิการการศึกษา-ประธานสภาฯ ให้ทบทวนการยกร่าง พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติฉบับใหม่ ชี้ ไม่ตอบโจทย์การพัฒนาการศึกษา ลดทอนศักดิ์ศรีและคุณค่าครู แนะ แก้ไขเฉพาะบางมาตราที่ล้าสมัย

กลุ่มรวมพลคน 38 ค.(2) รวมตัวยื่นหนังสือถึง คณะกรรมาธิการการศึกษาและประธานสภาผู้แทนราษฎร ผ่านสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร โดยมีนายปรีดา บุญเพลิง หัวหน้าพรรคครูไทย เพื่อประชาชนเป็นตัวแทนพรรคการเมืองรับหนังสือจากนายธนชล มุทาพร ประธานชมรมผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาแห่งประเทศไทย

โดยแสดงจุดยืนคัดค้านร่างพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติฉบับที่ พ.ศ. ที่คณะกรรมการร่างพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติได้ตรวจสอบและนำเสนอร่างพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติเพื่อให้มีการแสดงความคิดเห็นไปแล้วนั้น ทางกลุ่มไม่เห็นด้วยกับสาระสำคัญของร่างกฎหมายดังกล่าวและไม่เห็นด้วยกับการพิจารณาร่างกฎหมาย ในประเด็นยกเลิกร่างพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติพุทธศักราช 2542 และปรับปรุงแก้ไขทั้งฉบับ

พร้อมกันนี้สนับสนุนให้มีการแก้ไขร่างพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติพุทธศักราช 2542 และปรับปรุงแก้ไขบางมาตราที่เห็นว่าล้าสมัยและไม่ทันต่อเหตุการณ์ กระบวนการร่างพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติฉบับนี้ตัวแทนครูและบุคลากรทางการศึกษาไม่ได้มีส่วนร่วมในการยกร่าง พระราชบัญญัติฉบับนี้อาจก่อให้เกิดความขัดแย้งระหว่างบุคลากรทางการศึกษากับชุมชน การยกเลิกใบประกอบวิชาชีพครูเป็นใบรับรองความเป็นครูมีศักดิ์ และสิทธิ์เทียบเท่ากันอย่างไรเหตุผลใดจึงเปลี่ยนและจะส่งผลต่อการพัฒนาคุณภาพการศึกษาได้อย่างไร เพราะในขณะที่อาชีพอื่นใช้คำว่าใบประกอบวิชาชีพ การเปลี่ยนชื่อตำแหน่งจากผู้อำนวยการสถานศึกษาเป็นครูใหญ่ตอบโจทย์การพัฒนาคุณภาพการศึกษาได้อย่างไร

เพราะบทบาทหน้าที่ยังคงเหมือนเดิมขณะที่ครูผู้ช่วยครูใหญ่ไม่จำเป็นต้องเป็นครูก็ได้แต่สามารถที่จะพัฒนาเป็นครูใหญ่ได้ ทำให้การพัฒนาการศึกษาขาดความเป็นมืออาชีพ และจะกระทบต่อความรู้สึกบั่นทอนขวัญกำลังใจของผู้ดำรงตำแหน่งทางวิชาชีพ ตามร่างมาตรา 4 กำหนดให้มีแค่ครูและครูใหญ่เท่านั้นส่วนตำแหน่งอื่นๆ ถูกตัดไปเช่นคณาจารย์ ผู้บริหารสถานศึกษาผู้บริหารการศึกษาและบุคลากรทางการศึกษา ตามมาตรา 38 ให้มีองค์กรครูหรือเรียกว่าคุรุสภาต้องมีผู้แทนคณะกรรมการคุรุสภาที่มาจากครูโดยตรง และหมวด 7 มาตรา 79 คณะกรรมการนโยบายการศึกษาแห่งชาติไม่ได้กำหนดให้มีกรรมการที่มาจากผู้แทนครูและบุคลากรทางการศึกษาอื่นเป็นคณะกรรมการดังกล่าวทำให้ขาดการมีส่วนร่วมของผู้ที่มีส่วนได้เสียอย่างแท้จริง

ดังนั้นจากปัญหาและผล กระทบที่เกิดขึ้น กลุ่มรวมพลคน 38 ค.(2) จึงขอให้ผู้มีอำนาจยุติการพิจารณาร่างพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติฉบับใหม่และและนำพระราชบัญญัติการศึกษา แห่งชาติพุทธศักราช 2542 มาปรับปรุงแก้ไข แก้ไขมาตราที่เห็นว่าล้าสมัยไม่ทันต่อเหตุการณ์และให้มีกระบวนการรับฟังความคิดเห็นจากครูผู้บริหารสถานศึกษาบุคลากรทางการศึกษาอย่างแท้จริง ให้คงคำว่าใบประกอบวิชาชีพ

โดยมีหลักเกณฑ์เงื่อนไขตามพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติพุทธศักราช 2542 ครูผู้บริหารสถานศึกษาผู้บริหารการศึกษาศึกษานิเทศก์ ต้องมีใบประกอบวิชาชีพเพราะครูใหญ่ไม่ตอบโจทย์ ที่จะทำให้ผู้เรียนมีคุณภาพการศึกษาดีขึ้นเป็นการสร้างเงื่อนไขให้เสียกำลังใจสร้างความแตกแยกในสังคม ให้ยกเลิกตำแหน่งผู้ช่วยครูและให้เป็นรองผู้อำนวยการโรงเรียนคงเดิมและต้องมาจากวิชาชีพครูเท่านั้นเพราะการนำอาชีพอื่นมาทำหน้าที่จะก่อให้เกิดการไม่ยอมรับ ไม่มีจิตวิญญาณของความเป็นครูที่แท้จริง

นอกจากนี้ให้มีกรรมการที่มาจากผู้แทนครูในคณะกรรมการนโยบายการศึกษาแห่งชาติในสัดส่วนที่เหมาะสม และในส่วนของข้าราชการที่สนับสนุนการจัดการเรียนการสอนที่ปฏิบัติหน้าที่อยู่บนสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา ให้เปลี่ยนจากบุคลากรทางการศึกษาอื่นตามมาตรา 38 ค. (2) เป็นข้าราชการครูสายสนับสนุนการสอนทุกตำแหน่ง