ไม่พบผลการค้นหา
รมช.เกษตรฯ สั่งกรมชลประทานเพิ่มการระบายน้ำจากเขื่อนภูมิพล เขื่อนสิริกิติ์ พร้อมหยุดสถานีสูบน้ำด้วยไฟฟ้าตลอดแนวลุ่มน้ำปิง-น่านกว่า 400 สถานี ยกระดับน้ำเหนือเขื่อนเจ้าพระยาสูงขึ้นทดเข้าระบบชลประทานเลี้ยงนาข้าวกว่า 17 ล้านไร่

นายประภัตร โพธสุธน รัฐมนตรีช่วยว่าการเกษตรและสหกรณ์ กล่าวว่า ภาวะภัยแล้งที่ต้องแก้ปัญหาอย่างเร่งด่วน คือ พื้นที่ลุ่มเจ้าพระยา ซึ่งต้องส่งน้ำให้นาข้าวกว่า 17 ล้านไร่ ทั้งในเขตชลประทานและนอกเขตชลประทาน เพื่อให้ชาวนาเก็บเกี่ยวผลผลิตได้ช่วงกลางเดือน ส.ค. จึงเร่งปรับเพิ่มระบายน้ำเพื่อช่วยเหลือเกษตรกร

จากแผนเดิมจะลดระบายน้ำเขื่อนภูมิพล จากวันละ 23 ล้าน ลบ.ม. เหลือ 20 ล้านลบ.ม. และเขื่อนสิริกิติ์จากวันละ 20 ล้าน ลบ.ม. เหลือ 19 ล้าน ลบ.ม. เพื่อกักเก็บน้ำไว้ในเขื่อนทั้ง 2 แห่ง แต่ไม่สามารถทำได้ เนื่องจากน้ำในแม่น้ำเจ้าพระยามีระดับต่ำมาก เมื่อมาถึงเขื่อนเจ้าพระยา จังหวัดชัยนาท หากระดับน้ำหน้าเขื่อนต่ำจะทดน้ำเข้าระบบชลประทานไม่ได้ ทำให้พื้นที่เกษตรเสี่ยงเสียหายมากขึ้น

อย่างไรก็ตาม ขณะนี้ความสูงของน้ำหน้าเขื่อนเจ้าพระยาอยู่ที่ระดับ 14.3 เมตรจากระดับน้ำทะเลปานกลาง ส่งผลให้น้ำไม่ไหลเข้าคลองมะขามเฒ่า-อู่ทอง ซึ่งมีความยาว 104 กิโลเมตร จึงไม่มีน้ำส่งให้พื้นที่เกษตรที่รับน้ำจากคลองนี้หลายแสนไร่ น้ำไม่เพียงพอจัดสรรให้คลองส่งน้ำ 24 คลอง ทำให้เกิดปัญหาทะเลาะแย่งน้ำกันตลอด เป็นเรื่องเรื้อรังหนักขึ้นทุกปี โดยเฉพาะปีนี้ฝนทิ้งช่วง จึงได้ประสานให้ผู้ว่าราชการจังหวัดทั้งชัยนาทและสุพรรณบุรีมาทำความเข้าใจ การระบายน้ำจากเขื่อนภูมิพลปรับเพิ่มเป็นวันละ 25 ล้าน ลบ.ม. ส่วนเขื่อนสิริกิติ์ปรับเพิ่มเป็นวันละ 20 ล้าน ลบ.ม.

อีกทั้งยังให้ผู้ว่าราชการจังหวัดกำแพงเพชร พิษณุโลก อุตรดิตถ์ และนครสวรรค์ ซึ่งอยู่ท้ายเขื่อนลงมาสั่ง อบต.หยุดสูบน้ำจากสถานีสูบน้ำไฟฟ้ากว่า 400 สถานีตลอดแม่น้ำปิงและแม่น้ำน่านตลอดสาย เพื่อไม่ให้น้ำถูกดึงไปใช้ระหว่างทาง ซึ่งกำหนดให้หยุดสูบน้ำ 3 วัน คาดว่า ปริมาณน้ำที่ปรับเพิ่มจะมาถึงเขื่อนเจ้าพระยาวันที่ 25 ก.ค.นี้ เพื่อช่วยเลี้ยงนาข้าวกว่า 17 ล้านไร่ หากไม่เพียงพออาจมีการปรับระบายเพิ่มอีกรอบ จนกระทั่งเก็บเกี่ยวกลางเดือน ส.ค.

สำหรับปริมาณน้ำ 4 เขื่อนใหญ่ลุ่มเจ้าพระยา คือ เขื่อนภูมิพล สิริกิติ์ แควน้อยบำรุงแดน และป่าสักชลสิทธิ์ ขณะนี้มีน้ำใช้การได้ 1,300 ล้าน ลบ.ม. ซึ่งเพียงพอสำหรับอุปโภค- บริโภคแน่นอน ประชาชนไม่ต้องตื่นตระหนก แต่จำเป็นต้องจัดสรรปันส่วนเป็นน้ำเพื่อการเกษตร โดยพิจารณาอย่างรอบคอบและเกิดประสิทธิภาพมากที่สุด ไม่มีส่วนใดเดือดร้อน ทุกฝ่ายได้ใช้น้ำผ่านพ้นวิกฤติไปจนฝนตกตามปกติ

นายประภัตร กล่าวเพิ่มเติมว่า รู้จักพื้นที่นี้ดีกว่าใคร จึงหารือกับทุกหน่วยงานแล้วและสั่งการให้อธิบดีกรมชลประทานเพิ่มปริมาณการระบาย โดยเรียกว่า 'การกระแทกน้ำ' เพื่อให้น้ำจากแม่น้ำปิงและแม่น้ำน่านไหลมารวมที่จังหวัดนครสวรรค์มีระดับสูงขึ้น ส่งผลให้ระดับน้ำหน้าเขื่อนเจ้าพระยายกสูงขึ้น จากระดับ 14.3 เมตรจากระดับน้ำทะเลปานกลางเป็น 15-15.2 เมตรจากกระดับน้ำทะเลปานกลาง ซึ่งเป็นระดับที่สามารถทดเข้าระบบชลประทานทั้ง 2 ฝั่งแม่น้ำได้

ข่าวที่เกี่ยวข้อง :