ไม่พบผลการค้นหา
ผู้บริหาร 'บูมเมอแรง' เปิดใจ วิกฤตการขายหนังแผ่นในยุคเศรษฐกิจชะลอตัว เผยออนไลน์ไม่ใช่คู่แข่งแต่คือเพื่อนร่วมทุกข์ ลดต้นทุนแพ็กเกจคือทางรอด เพื่อให้มีสินค้าเสิร์ฟผู้บริโภค

โชคชัย ชมพืช ผู้ดำรงตำแหน่ง International Marketing Manager ของ 'ปุญญพัฒน์ เอนเตอร์ไพรซ์ จำกัด' หรือ ร้านบูมเมอแรง ให้สัมภาษณ์กับทีมข่าว 'วอยซ์ ออนไลน์' ถึงสภาพเศรษฐกิจที่ส่งผลต่อธุรกิจการขายแผ่นภาพยนตร์และเพลง ในรูปแบบซีดี ดีวีดี บลูเรย์ และ 4K ทำให้การค้าขายลดตัวลงมากในปีที่ผ่านมา

สาเหตุสำคัญก็ย่อมมาจากปัญหาเศรษฐกิจชะลอตัว ภาพยนตร์มีน้อยลง ผู้บริโภคมีความพิถีพิถันในการเลือกซื้อสินค้ามากขึ้น ด้วยเหตุผลที่ต้องการใช้เงินให้คุ้มค่ามากขึ้น ซึ่งสืบเนื่องมาจากสภาพเศรษฐกิจเช่นกัน ซึ่งภาพรวมของธุรกิจด้านนี้ไม่ได้รับความนิยมเหมือน 5-10 ปีที่แล้ว ทำให้รายรับประจำเดือน และประจำปีของบริษัทที่เคยได้ พลิกจากขาวไปเป็นเทา แต่ยังไม่ถึงดำ หรือยอดขายหนังแผ่นลดลงจากช่วงที่ได้รับความนิยมกว่าร้อยละ 35-40 อีกสาเหตุหนึ่งที่เข้ามามีส่วนแบ่งในตลาด คือ การรับชมในช่องทางออนไลน์ ซึ่งจุดแข็งคือสามารถเลือกรับชมได้เร็วกว่า ขณะที่หนังแผ่นอาจจะออกจำหน่ายช้ากว่า

อย่างไรก็ตาม จุดแข็งของหนังแผ่น คือการจับต้องได้แล้ว ยังสามารถดูกี่ครั้งก็ได้โดยไม่มีเสียเงินอีก และดูด้วยกันได้ทั้งบ้าน ซึ่งเป็นข้อแตกต่างของโรงภาพยนตร์กับหนังแผ่น นอกจากนี้ทางบริษัทเองได้รับลิขสิทธิ์ในการจำหน่ายหนังแผ่นของค่ายใหญ่ๆ เช่น ค่ายดิสนีย์, ค่ายโซนี่ พิคเจอร์ส, และค่ายยูนิเวอร์แซล มีเดีย เอ็นเตอร์เทนเม้นท์ ทำให้ยังมีลูกค้าที่เหนียวแน่นอยู่

โชคชัย ชมพืช.jpg

เมื่อค่ายยักษ์ใหญ่ไม่ต่อสัญญาลิขสิทธิ์

แต่ในช่วงสองเดือนที่ผ่านมานี้ ค่ายดิสนีย์ ผู้ถือลิขสิทธิ์ภาพยนตร์ค่าย 20th Century Fox ด้วย ไม่มีการต่อลิขสิทธิ์ให้กับบริษัทในหลายประเทศในเอเชีย-แปซิฟิก ทำให้ไม่มีการจำหน่ายสินค้าประเภทหนังแผ่นของสองค่ายนี้ นั่นหมายความว่าหนังแผ่นจากสองค่ายนี้ก็จะไม่มีการใส่เสียงพากษ์ไทย และอักษรบรรยายไทยอีกเลย และส่งผลกระทบให้ลูกค้าบางส่วนที่เป็นแฟนของค่ายเหล่านี้หายไปด้วย

เมื่อถามว่าตอนนี้ถือเป็นช่วงวิกฤตของการขายหนังแผ่นแล้วหรือยัง โชคชัย ตอบว่า "เป็นจุดที่เริ่มวิกฤตแล้ว" เพราะเดิมทีผู้บริโภคทุกคนที่ดูหนังจากในโรงภาพยนตร์แล้ว ภายในสองถึงสามเดือนก็จะหาแผ่นได้ แต่ตอนนี้บางเรื่องอาจจะถูกนำเสนอในช่องทางออนไลน์ผ่านบริษัทแม่โดยตรงแทน แต่ถ้าวิเคราะห์การไม่ต่อสัญญาของค่ายดิสนีย์ในเมืองไทยและเอเชีย โชคชัย มองว่าสืบเนื่องมาจากภาวะเศรษฐกิจทั่วโลกชะลอตัว ไม่ใช่แค่ในไทย แต่มีผลกระทบตลาดโลก ยกตัวอย่าง บริษัทขายหนังแผ่นดังๆ ในฮ่องกงก็เพิ่งปิดตัวลง แต่ตนยังเชื่อว่าในวันข้างหน้าตลาดหนังแผ่นอาจจะกลับมาเฟื่องฟูได้

ปัจจุบันความนิยมของคนไทย คือ ดีวีดี และบลูเรย์ ขณะเดียวกัน 4K หรือ UHD ซึ่งมีคุณภาพสูงและราคาแพง แต่ก็ยังมีลูกค้าที่เต็มใจซื้ออยู่เช่นกัน แม้ว่าตอนนี้จะมีตลาดออนไลน์ที่เข้ามามีส่วนแบ่งลูกค้าและเร็วกว่า แต่สิ่งที่ตลาดออนไลน์ทำไม่ได้ และถือเป็นจุดแข็งที่สุดของหนังแผ่นที่ใช้ดึงดูดลูกค้า คือ บรรจุภัณฑ์ หรือ Packaging ที่ร้านสามารถเพิ่มลูกเล่นและของที่ระลึกเข้าไปได้ อีกทั้งยังสามารถเพิ่มเนื้อหาพิเศษ เช่น หนังหลายเรื่องมีตอนจบหลายแบบ มีเบื้องหลังฉาก เบื้องหลัง Special Effect มีฟุตเทจเยอะ หนังแผ่นสามารถเพิ่มเข้าไปในผลิตภัณฑ์ได้ ต่างจากออนไลน์ที่โรงภาพยนตร์ฉายแบบไหน ออนไลน์ต้องนำเสนอแบบนั้น หรือเบื้องหลังที่แม้ออนไลน์จะมีแบบสั้นๆ แต่หนังแผ่นสามารถนำเสนอได้แบบยาวๆ หลายนาที

“เราจะไม่ไปวุ่นวายกับส่วนแบ่งการตลาดของเขา แต่เราจะพัฒนาและรักษาของเราให้คงระดับไว้หรือพัฒนาขึ้น” โชคชัย กล่าว

หนังแผ่น3.jpg

ออนไลน์ไม่ใช่ศัตรู แต่คือ 'เพื่อนร่วมทุกข์' ในยุคเศรษฐกิจตกต่ำ

ในขณะเดียวกัน หนังแผ่นที่ประสบความสำเร็จในช่วงปีนี้ ซึ่งสวนทางกับเศรษฐกิจ คือ Avengers: End Game และ Fast and Furious: Hobbs and Shaw ที่ต้องสั่งผลิตแผ่นเพิ่ม ซึ่งในปีนี้มีหนังไม่กี่เรื่องที่ขายดีถึงขั้นสั่งผลิตเพิ่ม ขณะเดียวกันภาพยนตร์เอเชียก็มีแฟนคลับที่เหนียวแน่นและมีกำลังซื้อ

ทั้งนี้ โชคชัย เปิดเผยว่า การแข่งขันกับแพลตฟอร์มออนไลน์ ยังไม่ถือว่าเป็นอุปสรรคสำคัญที่ทำให้ยอดขายลดลง แต่สาเหตุมาจากเศรษฐกิจจริงๆ พร้อมทั้งยอมรับว่าถ้าเศรษฐกิจในประเทศดีเหมือน 5 ปีก่อนเราจะเห็นความนิยมของวงการหนังแผ่นมากกว่านี้ แต่ยังถือว่าโชคดีที่ยังมีกลุ่มลูกค้าที่ซื้อหนังแผ่นถูกลิขสิทธิ์อยู่

อย่างไรก็ตาม ออนไลน์เองก็เจอพิษเศรษฐกิจเหมือนกัน ถ้าเศรษฐกิจดีทั้งออนไลน์และหนังแผ่นก็จะโตไปพร้อมกัน เพราะอัตราการขายและการเติบโตไม่ต่างกันมากนัก

ถ้าโรงภาพยนตร์ตาย ร้านขายหนังแผ่นก็จะต้องตายก่อน เพราะภาพยนตร์ผลิตขึ้นมาเพื่อเข้าฉายในโรงเป็นลำดับแรก แล้วจึงมาขายเป็นแผ่นลำดับต่อมา และโรงภาพยนตร์เองก็ถือเป็นช่องทางการโปรโมตที่สำคัญของภาพยนตร์ต่างๆ แต่ส่วนตัวยังเชื่อว่าโรงภาพยนตร์จะไม่มีวันตาย เพราะตราบใดที่ฮอลลีวูดยังมีการสร้างภาพยนตร์ ก็จะต้องเข้าฉายในโรง แต่สำหรับร้านขายหนังแผ่น ถ้าวันใดที่ไม่มีลูกค้าที่ซื้อสินค้าถูกต้องตามลิขสิทธิ์ วันนั้นร้านขายหนังแผ่นก็จะตาย ทั้งนี้ตนยังเชื่อว่าร้านหนังแผ่นจะไม่มีวันตาย แต่อาจจะลดขนาดลงไปตามสภาพเศรษฐกิจ

หนังแผ่น1.jpg

ทางรอด เมื่อพิษเศรษฐกิจทำให้ยอดขายลดกว่าครึ่ง

โชคชัยเล่าให้ฟังว่า หน้าหนัง หรือจำนวนของหนังที่น่าสนใจ มีผลต่อยอดขายหนังแผ่น รวมไปถึงผลประกอบการของโรงภาพยนตร์มีผลตรงต่อยอดขายหนังแผ่น หลายเรื่องก่อนที่จะเข้าโรงภาพยนตร์เป็นที่สนใจมาก แต่พอเข้าฉายในโรงภาพยนตร์แล้วผลประกอบการไม่ดี ก็จะส่งผลต่อยอดขายแผ่นของภาพยนตร์เรื่องนั้นๆ คนดูก็จะเลือกไม่ซื้อหรือไปดูในช่องทางอื่นๆ แต่ถ้าเรื่องไหนที่เป็นที่นิยมในดรงภาพยนตร์ หนังแผ่นเรื่องนั้นๆ ก็จะขายดี

ขณะเดียวกัน ตารางการเข้าฉายของภาพยนตร์ก็มีผลต่อการขายหนังแผ่น เพราะบางช่วงที่ไม่มีภาพยนตร์ที่ผู้ชมสนใจเข้าฉาย ก็จะทำให้การขายหนังแผ่นในช่วงหลังจากนั้นซบเซาด้วย ซึ่งร้านขายหนังแผ่นก็จะใช้วิธีการทำ Pre-order เพื่อสำรวจความต้องการของลูกค้าก่อน ค่อยทำแผ่นออกมาขายหลังจากเข้าฉาย เช่น ภาพยนตร์เรื่อง Us ที่แสดงนำโดย ลูพิตา ญองโง แม้จะไม่ได้รับความนิยมในการเข้าฉายมาก แต่หลังจากการทำ Pre-order มีคนสนใจมาก ก็สามารถทำแผ่นออกมาขายและได้รับความสนใจจากลูกค้าเช่นกัน

นอกจากการเพิ่มลูกเล่นเหล่านี้แล้ว ร้านขายหนังแผ่นต่างๆ ก็มีมาตรการในการรับมือกับเศรษฐกิจที่ชะลอตัวอีก เช่น การจัดการลดราคาสินค้าเพื่อกระตุ้นการขาย และขอบคุณลูกค้าในช่วงเทศกาลเฉลิมฉลองไปพร้อมกัน, การทำผลิตหนังออกมาเป็นเซ็ตและขายในราคาพิเศษ เพราะในยุคที่คนเลือกซื้อสินค้าละเอียดขึ้น หนังแผ่นซึ่งถือว่าเป็นสินค้าฟุ่มเฟือยก็ต้องพัฒนาให้สินค้ามีความคุ้มค่าสำหรับผู้บริโภคมากขึ้น, การลดค่าใช้จ่ายที่ปรับได้ ไม่ว่าจะเป็นขั้นตอนการผลิตหรือการบรรจุภัณฑ์แบบพิมพ์นูน พิมพ์รุ้ง พิมพ์สามมิติ หรือลดกล่องสวม ในภาพยนตร์เรื่องที่เป็นวานิลลาดีวีดี หรือหนังพากษ์ไทยเท่านั้น แบบไม่มีเสียงซาวด์แทร็กและไม่มีบรรยาย แต่ยืนยันว่าไม่ลดคุณภาพของแผ่น

ขณะที่สินค้าที่มีความต้องการมาก และเป็นที่นิยมของผู้ชม ก็ยังมีการบรรจุภัณฑ์ที่มีลูกเล่นเหล่านี้อยู่, รวมทั้งการเจรจากับบริษัทแม่ในการลดค่าใช้จ่ายที่สูงเกินความจำเป็น, หรือบางบริษัทอาจหาทางออกโดยการทำธุรกิจอื่นที่ไม่เกี่ยวกับการขายหนังแผ่นเสริมไปด้วย

“บางทีที่ตลาดเราซบเซา เราจำเป็นที่ทำให้ยังมีสินค้าอยู่ในท้องตลาด แต่อาจจะไม่ได้ลงทุนเต็มที่ ด้วยเราเจอปัจจัยเรื่องค่าใช้จ่าย มันคือเรื่องจริงที่เกิดขึ้น เราไม่มีเจตนาว่าทำไมไม่ทำตรงนั้น ทำตรงนี้ ทำไมไม่ทำรุ้ง ไม่ทำนูน ไม่ทำอะไร มันมีเหตุผลของมัน เราไม่ใช่ไม่ทำเลย เรายังทำอยู่ แต่เราเลือกที่จะทำกับสินค้าบางเรื่องที่มันมีศักยภาพมากๆ แล้วก็เป็นหนังที่ฮอตแล้วก็คนยังชื่นชม เราปรับกลยุทธ์ของ Packaging เพื่อให้มีสินค้าในท้องตลาด ยังอยู่ได้ เพราะถ้าเราไม่ปรับ จะไม่มีสินค้ามาวางให้คุณเลือกซื้อเลย เนื่องจากต้นทุนที่สูงมาก” โชคชัย กล่าว