ไม่พบผลการค้นหา
‘สมพงษ์ อมรวิวัฒน์’ ส.ส.เชียงใหม่ ในฐานะหัวหน้าพรรคเพื่อไทยและผู้นำฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎร ให้สัมภาษณ์พิเศษ ‘วอยซ์ ออนไลน์’ ถึงบทบาทภายใต้การนำพรรคฝ่ายค้านที่กำลังเผชิญกับสภาฯ เสียงปริ่มน้ำ รวมถึงการลงพื้นที่ขอเสียงฉันทามติจากประชาชนให้เกิดการแก้ไขรัฐธรรมนูญ

“ผมเองก็ไม่ค่อยได้อภิปรายมาก แต่เมื่อมาอยู่เป็นผู้นำฝ่ายค้านฯ ก็จำเป็น ที่จะต้องอภิปรายในลักษณะคล้ายๆ เปิดประเด็น การเปิดประเด็นนี่ก็หมายความว่า พูดรวม สมมติว่า มันจะมีประเด็น ยกตัวอย่าง จะอภิปรายประเด็นเรื่อง เกี่ยวกับการถวายสัตย์ฯ มันอาจจะมีหลายประเด็นที่จะต้องคุยกัน ก็คงจะเปิดรวบไปหมด แล้วก็แต่ละจุด ก็จะมีผู้อภิปรายเป็นเรื่องๆ ไป”

สมพงษ์ อมรวิวัฒน์ ส.ส.เชียงใหม่ หัวหน้าพรรคเพื่อไทย และผู้นำฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎร เผยถึงเทคนิคการอภิปรายในรัฐสภาเมื่อต้องรับบทบาทใหม่เป็นผู้นำฝ่ายค้านฯ คนที่ 8 นับตั้งแต่รัฐสภาไทยมีผู้นำฝ่ายค้านฯ

‘สมพงษ์’ ในวัย 78 ปี บอกกับ ‘วอยซ์ ออนไลน์’ ว่า “ผมก็โชคดีที่มีคนให้คำแนะนำ ช่วยศึกษา ช่วยอะไรต่างๆ ก็คงจะต้องทำ เพราะว่า งานมันเยอะเหมือนกัน ทางผู้นำฝ่ายค้านฯ โดยเฉพาะอย่างยิ่งฝ่ายกฎหมายทางเราก็มี โดยเฉพาะข้าราชการท่านก็มาช่วย เป็นหน้าที่ แล้วก็ทำสรุปข้อมูลต่างๆ ส่งมาให้ผู้นำฝ่ายค้าน แล้วก็รายละเอียด หรือข่าว ส่งมาให้ทุกวัน แต่ปัญหาเราก็จะมีเวลาอ่านหรือเปล่า มันเยอะเหลือเกิน”

แม้ ‘สมพงษ์’ จะเพิ่งฝากลีลาการอภิปรายในสภาฯ ในฐานะผู้นำฝ่ายค้านฯ เสนอแนะถึงการบริหารราชการแผ่นดินเมื่อครั้งรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ภาค 2/1 เข้าแถลงนโยบายต่อรัฐสภาเมื่อวันที่ 25-26 ก.ค. 2562 ก็ตาม

ทว่าบทบาทของผู้นำฝ่ายค้านฯ ในยุคที่มี 7 พรรคร่วมจะเดินหน้าไปทิศทางอย่างไร ยิ่งภาพรวมในสภาฯ เกิดรัฐบาลเสียงปริ่มน้ำก้ำกึ่งที่จะแพ้ - ชนะกันได้ทุกเมื่อ

สมพงษ์-เทพไท เพื่อไทย รัฐสภา


  • การเป็นผู้นำฝ่ายค้าน แตกต่างจากแต่ก่อนไหม

คือในเรื่องเกี่ยวกับการมาเป็นผู้นำฝ่ายค้าน ในสภาผู้แทนราษฎร ในลักษณะแห่งงาน เราก็จะทำหน้าที่ฝ่ายค้าน ของทุกพรรคฝ่ายค้าน ได้มีการคุยกัน และเคยเรียนให้กับฝ่ายค้านหลายๆ พรรคทราบว่า ผมทำงานนี้ ไม่ใช่ว่า เป็นหัวหน้าพรรคเพื่อไทย แล้วก็เป็นผู้นำฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎร ก็คงยังจะต้องทำงานในลักษณะฝ่ายค้าน ของฝ่ายค้านทั้งหมด เรามองภาพใหญ่ แต่แน่นอนในสัดส่วนของการเป็นหัวหน้าพรรคเพื่อไทย เราก็ยังคงอยู่ในกลุ่มของพรรคเพื่อไทยอยู่

  • การทำงานในบทบาทผู้นำฝ่ายค้านฯ กับ ประธานรัฐสภา จะมีลักษณะประนีประนอมมากขึ้นหรือไม่

 อันนี้มันก็ขึ้นอยู่กับตัวบุคคลมากกว่า สำหรับผม ผมก็ให้ความเคารพนับถือ ท่านชวน หลีกภัย ประธานสภาผู้แทนราษฎรในฐานะที่เป็นผู้แทนราษฎรอาวุโสมานานแล้ว ตั้งแต่ผมเข้ามาทำงานในสภาฯ 30 ปีกว่าปีที่แล้ว ท่านก็ขึ้นมาเป็นประธานสภาฯ แล้วในช่วงนั้น คุยกับท่านได้ แต่แน่นอนในทางการเมือง ในทางอภิปราย หรือมันผิดไปจากข้อบังคับ ก็ต้องมีการพูดคุยกันหน่อย แต่ที่ผ่านๆ มา ทั้งหมด ไม่ได้มีอะไรเป็นประเด็น ผมเชื่อว่าไม่มีปัญหา

  • พรรคเพื่อไทยภายใต้การนำของท่านสมพงษ์ จะวางบทบาทฝ่ายค้านอย่างไร

พูดถึงบทบาทของพรรคเพื่อไทย ในสมัยนี้ เรียนด้วยความเคารพว่า เรามีความจำเป็นอย่างยิ่งต้องปรับเปลี่ยน เพราะว่าสถานการณ์ของบ้านเมืองก็ดี แล้วก็ความที่ต้องให้ทันกับความเปลี่ยนแปลงของโลก พรรคเพื่อไทยเอง โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ได้มีการสรุปว่า เราควรจะต้องทำอะไรต่างๆ โดยการบริหารต้องอยู่กับการมีส่วนร่วม ในสังคมทั่วไป การมีส่วนร่วมนี้หมายความว่า เราจะนำเอาแนวทางองคาพยพของพรรคเพื่อไทย ที่จะเอาเข้ามา คิดอ่าน แล้วก็สรุปออกมา เราต้องเอาข้อเท็จจริง เราจะเอาสถิติต่างๆ ที่เราได้เคยทำมา ที่เราได้รวบรวมมามากมายก่ายกอง แล้วสุดท้ายแล้วเราก็จะวิเคราะห์ วิเคราะห์เสร็จเรียบร้อยว่ามันเป็นอย่างไร แล้วเราถึงจะดำเนินการ ดังนั้นในลักษณะอันนี้ ต้องเรียนว่า เราจะเป็นฝ่ายค้านที่ทันสมัย เราไม่ได้จะค้านเปรอะๆ ไปเรื่อย เราจะค้านแบบที่มีเหตุมีผล แล้วก็อะไรที่มันไม่ถูกต้อง อันนั้นเราจะค้าน 

การค้านไม่ใช่จะค้านอย่างเดียว เราจะเพิ่มแนวทาง เพิ่มความคิดความอ่านของเรา ให้กับรัฐบาลด้วย เพื่อถ้าเขาสามารถรับได้ แล้วนำไปประยุกต์ นำไปปฏิบัติ อันนี้เราก็ไม่ว่ากัน เราก็ยินดีอย่างยิ่ง เราต้องดูเรื่องผลประโยชน์สูงสุดให้กับพี่น้องประชาชนโดยตรง เพราะพี่น้องประชาชนเองจะได้รับผลพวงจากการที่รัฐบาลดำเนินการใด นโยบาย เรื่องแผนงาน ซึ่งไม่ตรงกับความต้องการของพี่น้องประชาชน หรือความเป็นจริง เราต้องยอมรับว่า รัฐบาลที่อยู่ในปัจจุบัน มีปัญหา ที่ปัญหาก็คือว่า ปัญหามาจากรัฐธรรมนูญ  

แต่อย่างไรก็ตามในลักษณะอย่างนี้ มันก็ไม่สามารถที่จะให้บ้านเมืองสงบอย่างที่เขาต้องการได้ ที่ไม่สงบนั่นก็หมายถึงว่า เขาเนี่ย รัฐบาลจะต้อง มีความกังวลอยู่เสมอ ว่า รัฐบาลมีเสียงปริ่มน้ำ จะอยู่รอดไม่รอด ก็เลยดูแลแต่ตัวเอง ไม่ได้ดูแล พี่น้องประชาชน ว่าเขาต้องการอย่างไร ไอ้จุดนี้เป็นจุดที่ผมเรียนว่า มันถึงนำไปสู่ แนวทางที่พรรคฝ่ายค้าน 7 พรรค คิดว่า ในการที่รัฐธรรมนูญออกมาแบบนี้ มันจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องมีการแก้ไข จะแก้ไขรายมาตรา หรือจะแก้ไขทั้งหมด หรือว่าอะไร ก็ว่ากัน แต่ว่าจะต้องมีการแก้

สมพงษ์ อมรวิวัฒน์
  • การแก้ไขรัฐธรรมนูญของฝ่ายค้าน 

 มองภาพรวม ในเรื่องของการแก้ไขรัฐธรรมนูญ มันเป็นไปได้ยาก เพราะมันมีมาตราที่เขาร่างไว้เลยว่า การแก้ไขรัฐธรมรนูญเนี่ย จะต้องวุฒิสมาชิก ซึ่งนายกฯ เป็นคนแต่งตั้ง 1 ใน 3 นั่นก็คือ 80 กว่าท่าน จะต้องเห็นด้วย แล้วคุณคิดเหรอ จะเห็นด้วยไหม ไม่มี เพราะเขาออกแบบมาอย่างนั้น แล้วพรรคการเมืองทุกพรรคจะต้องเห็นด้วย มันจะเป็นไปได้อย่างไร เพราะฉะนั้นสิ่งเรากำลังดำเนินการ 7 พรรค เราอยากจะอธิบายเรื่องนี้ให้กับพี่น้องประชาชน เราต้องทำงานหนัก เราจะไปทุกสาขา เราจะไปทุกแห่ง เพื่อจะอธิบายให้เขาทราบว่า ปัญหาบ้านเมืองมันเกิดมาจากรัฐธรรมนูญอันนี้ เศรษฐกิจอะไรต่างๆ มันโยงกันหมด 

ผมคิดว่ารัฐบาลคงจะไม่ใจกว้างมาก ที่จะให้เกิดมีการสอบถามเป็นประชามติ กับพี่น้องประชาชน ก็ลองถามมาสิ ผมเชื่อว่าพี่น้องประชาชน จะเข้าใจแล้วก็จะเห็นว่า การแก้ไขรัฐธรรมนูญมันเป็นเรื่องสำคัญ เพื่อที่จะเอาปัญหาเศรษฐกิจต่างๆ มันหมดไป

ปัญหาเศรษฐกิจมันเกี่ยวข้องกับตัวรัฐธรรมนูญ ยกตัวอย่างง่ายๆ ตั้งแต่มีการปฏิวัติรัฐประหาร ต่างชาติ ประเทศที่เป็นประชาธิปไตย ก็ไม่คุยกับเราหรอก 5ปีที่แล้ว เขาไม่คุย นายกรัฐมนตรีเดินทางไป เขาไม่ได้คุยเรื่องการค้า ปกติมันจะต้องมีเรื่องการค้า สอบถามซึ่งกันและกันเลยว่า อะไรจะทำอย่างไร แต่อันนี้ไม่มี ท่านไป ไปสหประชาชาติ  มันนานาชาติ ท่านไปได้ ท่านไปเพราะประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ก็เพราะว่าเขาต้องการให้เราเนี่ย ประเทศไทย มีส่วนที่จะสนับสนุนเขา เกี่ยวกับเรื่องเกาหลีเหนือ ตอนนั้นจำได้ไหม ถึงไปต้อนรับ ท่านนายกรัฐมนตรีเรา ที่ทำเนียบขาว แต่การต้อนรับอันนั้น ก็ไม่ได้สมเกียรติอะไรเลย เพราะว่าก็ไปอยู่ห้องอะไรก็ไม่รู้ ไม่ใช่ห้องที่แบบรับแขกเป็นทางการ

ประชุมสภา สมพงษ์ เพื่อไทย ผู้นำฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎร
“เมื่อไม่มีเสถียรภาพ หมายความว่า อะไรต่างๆ เขาต้องรวมตัวเขาเอง รัฐบาล เพราะฉะนั้น สิ่งต่างๆ ที่คิด คิดที่จะอยู่เนี่ย คิดที่จะต้องปกป้องตัวรัฐบาล อยู่รอด เขาคิดแต่เรื่องนี้ คิดที่จะแก้ไขบ้านเมือง แก้ไขปัญหาพี่น้องเกษตรกร ปัญหาพี่น้องอุทกภัย น้อยลง มันไม่มีความมั่นคง”

 

  • ภารกิจของฝ่ายค้าน จะใช้เสียงประชาชนเป็นกุญแจ ผลักดันการแก้ไขรัฐธรรมนูญ

เราก็หวังว่า เมื่อเรา ได้ให้ความคิดความอ่านกับพี่น้องประชาชนแล้ว พี่น้องประชาชนจะเป็นผู้ตัดสินเอง ประชาชนคงจะต้องวิเคราะห์ ว่าที่ผ่านๆ มา รัฐธรรมนูญนี้มันเป็นอย่างไร เขามีความพอใจอย่างไร ในเรื่องของรัฐธรรมนูญนี้ ถ้าหากรัฐธรรมนูญนี้มันเป็นในลักษณะที่ว่า มันไม่ได้มอบหมายสิ่งที่ดีๆ ให้กับพี่น้องประชาชน เขาก็คงต้องคิด แต่อย่างไรก็ตาม บทบาทของรัฐธรรมนูญ คงต้องคิดอยู่อย่างว่า จะต้องมีความเป็นธรรม กับพี่น้องประชาชนทุกเหล่า ไม่ว่าจะรวย จะจน จะไม่อะไรต่างๆ จะต้องมีความเป็นธรรม พี่น้องประชาชนทุกคนมีสิทธิเท่ากันหมด รวยก็มีหนึ่งสิทธิหนึ่งเสียง จนก็มีหนึ่งเสียง เพราะฉะนั้นอันนี้เป็นเรื่องที่สำคัญมาก ถ้าหากรัฐธรรมนูญยังเป็นอย่างนี้ พี่น้องประชาชนเขาจะคิดอย่างไร มันอึดอัดมาก เราก็หวังใจอย่างยิ่งว่า รัฐธรรมนูญต้องเป็นกลาง คือหมายความว่า ทุกหมู่คณะ ทุกคน ต้องสามารถใช้รัฐธรรมนูญอันนี้ได้ แต่ว่าขณะนี้ ขณะนี้มันเป็นอย่างไร ในเรื่องของนโยบายที่ออกมา

เราจะสังเกตเห็นได้ชัดเจนเลยว่า ขณะนี้รัฐบาลใช้วิธีการ เอาคนรวยนำคนจน การดำเนินการในลักษณะเช่นนี้ ความจริงมันต้องกระจาย คนรวย คนจน คนมีกิน รากหญ้า ต้องเท่ากันหมด เดี๋ยวนี้นโยบายเศรษฐกิจไทย ทำมาจะมอบสิ่งต่างๆ ให้ผู้มีอันจะกิน หมายความว่า คนร่ำรวย มีไม่กี่ตระกูล มีรายได้มากมาย ในระยะ 5 ปีที่ผ่านมา รวยเป็น 10 เท่า เมื่อก่อนสมมติว่ามีร้อยหนึ่ง เดี๋ยวนี้มีเป็นพันแล้ว เป็นพันล้าน เคยมีเป็นพันล้าน ก็เป็นหมื่นล้าน อันนี้เราต้องจะทำรัฐธรรมนูญนี้ให้เป็นกลางที่สุด

  • ที่พูดที่เวทีพรรคฝ่ายค้านสัญจร จ.เชียงใหม่ล่าสุด เกี่ยวกับการทำประชามติ

อันนี้แน่นอน ผมกล้าพูดอย่างนี้ นั่นก็คือ เอาตัวอย่าง จากการที่พี่น้องประชาชนเลือกพรรค พรรคที่ไม่เอาสืบทอดอำนาจ นั่นก็หมายถึงว่า ไม่เอาท่านประยุทธ์นี่แหละ ก็มีฝ่ายค้านเรา 7 พรรคนี้แล้ว และก็ยังมีพรรคประชาธิปัตย์ ซึ่งนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ อดีตหัวหน้าพรรคเป็นคนพูด ท่านไม่เอา แล้วก็พรรคภูมิใจไทยก็เหมือนกัน ก็หมายความว่า จะเอาประชาธิปไตย เพราะฉะนั้นลักษณะแห่งการมองภาพรวมแล้ว ผมใช้คำว่า ขณะนี้ผู้แทนราษฎรของเรา 50 ท่าน เคยพูดว่าที่จะเอาประชาธิปไตย ถึง 350 ของเราทางฝ่ายค้านรัฐบาล 7 พรรคเนี่ย ก็เข้าไป 246 แล้ว และก็ยังมีประชาธิปัตย์ กับภูมิใจไทยเข้าไปอีกร้อยนิดหน่อย ก็พูดง่ายๆ ว่า เกือบ 350 นี่คือตัวแทนของประชาธิปไตย แต่ว่าในเมื่อพรรคประชาธิปัตย์กับภูมิใจไทยเข้าไปร่วมรัฐบาลก็หมายถึงว่า สิ่งที่เขาได้เคยพูดไว้เนี่ย มันตรงกันข้าม เพียงแต่ว่า เขาอยากจะทำงาน ให้กับพี่น้องประชาชน ถ้าหากเขามาอยู่ฝ่ายค้าน ถ้าเป็นฝ่ายค้าน เขาคงไม่สามารถที่จะสนองนโยบาย นโยบายที่เขามีอยู่ต่อประชาชนได้ อันนี้โอเคเป็นสิ่งที่เขาพูด เราก็ฟังไว้ 

เพราะฉะนั้นที่ผมบอกว่า ถ้าจะให้มีการทำประชามติเพื่อเป็นประชาธิปไตยที่เกือบสมบูรณ์ ไม่ต้องร้อยเปอร์เซ็นต์หรอก ผมเชื่อว่า ถ้ารัฐบาลใจกว้างพอ ให้ทำประชามติ สอบถามว่าการแก้ไขรัฐธรรมนูญ พี่น้องประชาชนจะเอาไหม

“ผมเชื่อว่า ที่คนเขาเลือกพรรคเหล่านี้เข้ามา รวมแล้วทั้งหมดได้ผู้แทนมา 350 คนเนี่ย มันมากเกินครึ่ง ผมถึงกล้าพูดได้เลยว่าถ้าเกิดว่า ถ้าหากว่า ลองรัฐบาลใจกว้างให้พี่น้องประชาชนลงประชามติว่าจะแก้ไขรัฐธรรมนูญหรือไม่ เชื่อว่าถล่มทลาย จะมากกว่าคะแนนที่ ทำประชามติเมื่อตอนที่รัฐธรรมนูญนี้ ออกสู่สังคมเมื่อปี 2559”

ผมรับประกันว่า ถ้าเกิดเที่ยวนี้มีประชามติ ถ้าต่ำกว่า 15 ล้าน ก็ไม่ต้องแก้แล้วรัฐธรรมนูญ ผมท้าได้เลย ถ้าเกินสิครับต้องเอา

ทั้งฉบับ หรืออะไรก็แล้วแต่ เพราะว่าในขณะนี้ จะแก้เป็นรายมาตรา ทำไม่ได้ แก้ทั้งฉบับก็ทำไม่ได้ คือความจริงมันอยู่ที่รัฐบาลจะให้แก้หรือไม่แก้ แต่รัฐบาลก็บอกว่า ก็เขาคงไม่ใจกว้างพอที่จะทำให้แก้หรอก แล้วคุณก็ดูรัฐธรรมนูญ กฎ บทบัญญัติในรัฐธรรมนูญ กำหนดไว้เลยว่า จะแก้รัฐธรรมนูญได้ ต่อเมื่อ 1 2 3 4 5 วุฒิสมาชิกต้องเห็นด้วย 1 ใน 3 สอง ผู้แทนราษฎรทุกพรรคต้องเห็นด้วย แค่นี้เราก็ไปละ พรรคฝ่ายค้าน พรรครัฐบาล มันก็เห็นต่างกันอยู่ตลอดเวลา เวลาโหวตก็เห็นต่างกันอยู่เสมอ เพราะฉะนั้นมันจะเอาตรงไหนอ่ะ แล้ววุฒิสมาชิก 80 กว่าคน คุณคิดว่าเขาจะโหวตให้เหรอ ก็เลือกนายกฯ ยังพาเข้าไปเต็มเลย ขาดประธานวุฒิสภาคนเดียว ที่นั่งอยู่บนบัลลังก์

สมพงษ์ ผู้นำฝ่ายค้านในสภา สภา เพื่อไทย 09741.jpg


  • กรอบเวลาเหมาะสมที่จะทำประชามติ ควรจะต้องเป็นตอนนี้ หรือว่ารอสักพัก

รัฐบาลก็พยายามพูดว่ามันต้องแก้ไขเศรษฐกิจก่อน แล้วถึงจะแก้ไขรัฐธรรมนูญ ผมได้พูดไว้แล้วว่า บ้านเมืองเรา ขณะนี้ ที่มันผ่านมาเมื่อ 5 ปี เรามีปัญหาทางด้านเศรษฐกิจ เรามีข้าวยากหมากแพง เรามีปัญหา พืชผลราคาเกษตรตกต่ำ ที่มาและก็วิเคราะห์ แล้วก็เห็นชัดว่า มันมาจากอันหนึ่ง ยึดอำนาจ พอยึดอำนาจเสร็จเรียบร้อยแล้ว หมายความว่าประเทศต่างๆ ที่เป็นประชาธิปไตย เขาไม่คุยด้วยอ่ะ เพราะว่า เขาถือว่า เป็นประเทศที่มาจาก ปืน มาจากรถถัง มาจากทหาร เป็นการยึดอำนาจ พี่น้องประชาชน เขาไม่คุยด้วย 

  • ยังหวังว่านายกฯ จะตื่นตัวในการแก้ไขรัฐธรรมนูญ

ผมอยากจะเห็น ในฐานะที่เราเป็นฝ่ายค้าน เราก็เอาใจช่วยนะ ที่เราเห็นจริงๆ คือความเดือดร้อนมันเกิดขึ้นทุกย่อมหญ้า ถ้ารัฐบาลฟังเราบ้าง และนำไปปฏิบัติบ้าง ผมคิดว่าความเบาบางจะเกิดขึ้น มันจะเบา มันจะดีขึ้น แต่อย่างไรก็ตาม ที่ผ่านมา 5 ปี มันเป็นสิ่งที่เราเห็นว่า อนาคตประเทศไทย มันยังไม่กระเตื้องขึ้นเลย เนื่องจากว่า ผู้บริหารในรัฐบาลนี้ ก็เป็นผู้บริหารเก่าๆ อ่ะ เดิมทั้งนั้น และที่ผ่านมา 5 ปี มีอำนาจเต็ม มี มาตรา 44 อยู่ในมือ สามารถทำอะไรได้หมด แต่ว่า ไม่เห็นมีอะไรที่กระเตื้องเลย อันนี้เป็นสิ่งที่เป็นปัญหาใหญ่ ที่ผมอยากจะกราบเรียน

สมพงษ์-วิรัช-ฝ่ายค้าน
  • มองเวทีในสภา หลังเลือกตั้ง รัฐบาล 19 พรรค เสียงปริ่มน้ำ

 ในเรื่องนี้ มันก็ขึ้นอยู่กับ การรวบรวมสมาชิกพรรค ความกำชับของสมาชิกพรรคทั่วไป เสียงขณะนี้มันห่างกันแค่ 7-8 เสียงเท่านั้นอ่ะ มันไม่ได้มากอ่ะ อย่างไรก็ตาม ทางพรรคฝ่ายค้าน เราก็ต้องตรึงกำลังของเรา ตรึงกำลังในลักษณะที่ว่า การตรึงของเราจะต้องยึดมั่นอยู่ในสัดส่วนของเรา เราก็เชื่อมั่นว่าฝ่ายรัฐบาลเขาคงคิดเช่นนั้นเหมือนกัน การคิดเช่นนี้ของเขา เป็นเรื่องของรัฐบาลที่จะต้องดูแล เราคงจะไป เราก็ต้องทำหน้าที่ของเรา เอาย่างนี้ดีกว่า รัฐบาลก็ทำหน้าที่ของรัฐบาล

  • โอกาสที่จะกระทบกับเสถียรภาพของรัฐบาล ในเมื่อมันมีเสียงปริ่มน้ำ การโหวตแต่ละครั้ง ก็อาจจะมีผลพลิกล็อกได้ตลอดเวลา

มันก็เกิดขึ้นแล้วในสภาฯ เกิดขึ้นมาสองครั้งละ ที่แนวทางของรัฐบาล ถูกการแก้ไข และก็แพ้เราสองครั้งแล้ว ในการประชุมสภาผู้แทนราษฎร ในเรื่องญัตติต่างๆ เราก็หวังใจอย่างยิ่งว่า เราก็จะบอกในแนวทางที่ถูกที่ควรอ่ะ

  • ปัจจัยที่ทำให้รัฐบาลชุดนี้ล้มลงก่อนวัยอันควร

อันนี้เรา มันคาดเดาไม่ได้หรอก แต่พูดจริงๆ แล้ว ก็เป็นหน้าที่ของรัฐบาลนะ หน้าที่เขาจะต้องดูแลของเขา ก็อย่างที่ผมบอกคุณเนี่ย รัฐบาลนี้มันมีเสียงมาก หลายพรรค เมื่อเสียงหลายพรรคเนี่ย มันก็ต้องดีลกับคนมากกลุ่ม เมื่อมากกลุ่ม เวลาจะมีญัตติสำคัญๆ มันก็ต้องมีการคุยกับเขา การคุยกับเขาอาจจะมีเรื่องอื่นเรื่องใดเข้ามาแทรก เราไม่รู้ แต่ว่า ทุกครั้งที่มีเรื่องเกี่ยวกับการเสนอญัตติใดๆ ขึ้นมา เขาต้องคุมเสียงเขา มันก็เป็นปัญหาเขา 

ดังนั้น ผมถึงบอกว่า รัฐบาลไม่มีเสถียรภาพไง เมื่อไม่มีเสถียรภาพ หมายความว่า อะไรต่างๆ เขาต้องรวมตัวเขาเอง รัฐบาล เพราะฉะนั้น สิ่งต่างๆ ที่คิด คิดที่จะอยู่เนี่ย คิดที่จะต้องปกป้องตัวรัฐบาล อยู่รอด เขาคิดแต่เรื่องนี้ คิดที่จะแก้ไขบ้านเมือง แก้ไขปัญหาพี่น้องเกษตรกร ปัญหาพี่น้องอุทกภัย น้อยลง มันไม่มีความมั่นคง

  • นาทีนี้ฝ่ายค้าน 7 พรรคยังจับมือกันเหนียวแน่น

 อันนั้นเรามั่นใจ เพราะเราคุยกันทุกครั้งทุกครา เรามั่นใจว่า สิ่งเหล่านี้ เรายังควบคุม เรามีแนวทางเดียวกัน

  • คิดว่าจะไม่เกิดการพลิกไปพลิกมาเวลาโหวตเรื่องสำคัญ

คิดว่าไม่ เชื่อว่าไม่ เราปรึกษาหารือกันทุกพรรค ทุกพรรคก็ยืนยัน แต่ผมก็ไม่รู้ เรื่องอะไรมันจะเกิด ความผันแปร มันอาจจะเกิดตามกาลและเวลา แต่เราเชื่อมั่นว่า ไม่มี

ในสมัยนี้ มันอาจจะมีมากกว่าสมัยก่อนก็ได้นะ เพราะว่าความปริ่มน้ำมันมี ผมคิดว่า ทางฝ่ายรัฐบาล เขาก็คงต้องหาทาง ทำทุกอย่าง เพื่อให้เสียงเขายังคงอยู่ เกินกว่าครึ่งหนึ่ง จะเสียงจากทางไหนก็ไม่รู้ แต่เราเองในฐานะเป็นฝ่ายค้าน กลุ่มเราทุกพรรค เรากำชับ ไม่ได้นะ แต่ว่าไม่ได้หมายความว่าเราจะไปซื้องูเห่าจากฝ่ายรัฐบาลมา เราไม่เคยคิดจะทำ 

ประชุมสภา สมพงษ์ หัวหน้าพรรคเพื่อไทย ผู้นำฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎร


  • ในมุมมองของท่านที่มีประสบการณ์มาอย่างยาวนานทางการเมือง เวทีนอกสภาฯ จะเป็นปัจจัยให้รัฐบาลปัจจุบันล้มลงหรือมีปัญหาให้อายุของรัฐบาลอยู่ไม่ยืดหรือไม่

 มันคงมีเหมือนกันอ่ะ อันนี้ที่เรียนว่า เรามองดูรัฐบาลในขณะนี้ มองดูว่า มันในสภาฯ นะ มันไม่เหมือนเก่า สมัยที่ผมเป็น ส.ส. ตั้งแต่ ปี 2529 มา สมัยนั้นอ่ะ ในสภาฯ เนี่ย ถึงแม้ว่าเราจะมีการอภิปรายรุนแรงบ้าง แต่ว่า หลังจากที่อภิปรายแล้วเนี่ย เราก็คุยกัน แต่สมัยนี้เนี่ย อาจจะเป็นเพราะว่ามีผู้แทนราษฎร แตกต่างกัน อายุแตกต่างกันมาก อะไรอย่างนี้ เวลาการดำเนินงานในสภาฯ ดูเหมือนว่า จะต้องเอาชนะคะคานกัน ไม่ได้ดูเหตุและผล อย่างนี้เป็นต้น สมัยก่อน ยังพูดว่า งานในสภาฯ มันราบรื่นมากกว่านี้ เดี๋ยวนี้เราจะสังเกตว่า พูดอะไร นิดๆ หน่อยๆ ก็ค้านต้องอะไร มีการประท้วงกัน ทั้งที่หลายครั้ง ท่านประธานสภาฯ ก็เตือนไป บอกอันนี้มันไม่เกี่ยว คือก็หมายความว่า มองดูเหมือนว่า ใช้แนวทางนี้ สภาฯ มันก็เลยไม่ราบรื่น แต่ก็หวังใจอย่างยิ่งว่า ต่อๆ ไป ขณะนี้มันเพิ่งเริ่มนะ ต่อๆ ไป คนที่เข้าอกเข้าใจอะไรต่างๆ ก็คงจะปรับตัวได้

  • 18 ก.ย. นี้ถึงคิวซักฟอกแบบไม่ทางการด้วยการยื่นญัตติอภิปรายทั่วไป กรณี ครม.ถวายสัตย์ฯไม่ครบถ้วน มันจะมีผลอะไรในทางการเมืองของรัฐบาลมากน้อยแค่ไหน

การอภิปรายเที่ยวนี้มันไม่มีการลงมติ มันเพียงแต่จะพูดในลักษณะที่ว่า สิ่งต่างๆ ที่อยากจะให้มันเป็นอย่างไร แล้วเราก็เสนอแนะเป็นบางสิ่งบางอย่างไป ตัวท่านนายกฯ ก็คงต้องมา แล้วก็ต้องเรียนว่า เมื่อมาแล้วเนี่ย ท่านก็คงจะนำสิ่งต่างๆ ไปปรับปรุงบ้าง อะไรบ้าง ก็หวังว่าเป็นอย่างนั้น คือพอคิดอย่างว่า เออ เป็นนายกรัฐมนตรี เราเป็นคนเสียงข้างมาก เพราะฉะนั้นฉันจะทำตามที่ฉันต้องการอะไรอย่างนี้ มันก็เป็นเรื่องของท่าน ผมคิดว่า ไม่ควร ท่านต้องนำเอาไปแก้ไข

  • ถ้านายกฯ ยังใช้วิธีการหลบเลี่ยงการชี้แจงในสภาฯ

ความจริงเนี่ย พูดไปมันก็ ก็เป็นที่เข้าใจละกัน อย่าให้พูดซ้ำไปเลย

ประยุทธ์-แถลงนโยบายรัฐบาล-สภา
  • ท่านมองกระแสคนรุ่นเก่ากับคนรุ่นใหม่ทางการเมืองอย่างไร มองว่าจะเป็นจุดที่เปลี่ยนแปลงทางการเมืองได้แค่ไหน

 ความจริงคนรุ่นใหม่เข้ามา เพราะโลกเปลี่ยนแปลงไปมาก คนรุ่นใหม่เนี่ยเขาจะมีทัศนคติที่รวดเร็ว แล้วก็ทันต่อเหตุการณ์ ซึ่งอันนี้ก็เป็นสิ่งที่ดี แล้วก็หวังใจอย่างยิ่งว่า สิ่งเหล่านี้มันจะเปลี่ยนแปลงไปในแนวทางที่ดี ขอให้ทุกคนมองเพื่อชาติเป็นหลักมากกว่า ประเทศชาติเป็นหลัก แล้วก็ทำงานตรงนี้เพื่อชาติเป็นหลัก ความก้าวหน้า ความฉับพลัน เปลี่ยนแปลงของโลกมีมาก รวดเร็ว คนรุ่นใหม่นี่จะให้คำแนะนำ หรือว่าแนวทางในการทำงานได้ดีกว่า คนรุ่นเก่าก็ยังใช่ได้อยู่ แต่ว่า มันอาจจะไม่ค่อยทันสมัยนัก แต่ว่ายังมั่นคงอยู่

  • ปัญหาเศรษฐกิจในปัจจุบัน ฝ่ายค้านจะมีส่วนในการกระตุ้นรัฐบาล ช่วยอะไรให้ประชาชนเขาคลายความเดือดร้อน

 เราเป็นฝ่ายค้าน เราไม่สามารถจะคลี่คลายได้หรอก เพียงแต่เราจะให้คำแนะนำ จะบอกรัฐบาล เพราะว่าอำนาจซื้อ เราต้องรู้ว่าอำนาจซื้อที่ใหญ่ที่สุด คือ รัฐบาล ที่เอาเม็ดเงินลงไปหมุน เราก็ต้องรู้ว่าเอาเม็ดเงินลงไปหมุน แต่รัฐบาลทำถูกจุดหรือเปล่า ผมไม่ว่านะ แล้วผมก็มีความรู็สึก โอเค เข้าใจ รัฐบาลปั้มเงินไปแจก กับผู้ยากไร้ บัตรคนจนเนี่ย 1500บ้าง 1000 นึงบ้างเนี่ย แจกกันไป อันนี้ท่านรู้แล้ว ท่านแจกมาหลายครั้งแล้ว เดือนนี้ก็แจก เดือนหน้าก็แจก เมื่อมันเป็นอย่างนี้ ผมไม่ว่า แจก ชาวบ้านชอบ แต่มันตรงจุดหรือเปล่า

นายกฯ พูดเสมอว่า อยากให้คนมีเงินเอามาใช้จ่ายนะ เศรษฐกิจมันจะได้หมุนเวียน เราก็รู้ว่าเม็ดเงินใช้ 10 บาท หมุนไปหมุนมา 10 เท่า ก็เป็นร้อย กระจายทั่วไป มันได้ คนมีเงินมีทองใช้ แต่ว่าตอนนี้ รัฐบาลต้องรู้ว่า หนี้ครัวเรือนมันสูงมาก สูงถึง 60 กว่าเปอร์เซ็นต์ เมื่อสูงขนาดนี้แล้ว ได้รับเงินมา ถึงแม้จะเป็นคนส่วนน้อยก็จริง รับมา แทนที่เขาจะเอาไปใช้จ่าย ไปซื้อกาแฟ ไปซื้อผงซักฟอก ซื้ออะไรต่างๆ เขาก็คงจะมีนิดหน่อย ไปใช้ส่วนตัว ที่เหลือใช้หนี้ทั้งนั้น เงินมันก็ไม่สะพัด เงินมันก็อยู่ที่เก่า แนวทางอันนี้ เป็นแนวทางที่ต้องทำ แต่ว่าทำในระยะสั้น ไม่ใช้ทำตลอด นี่ทำมาตลอด ถ้าไม่อย่างนั้นทั่วประเทศ ทั่วโลก แจกเงินกันดีกว่า ไม่ต้องไปคิดอ่าน ไม่ต้องไปทำอะไร แจกเงินชาวบ้าน

  • วิธีการของฝ่ายค้าน คือ จะคอยเสนอแนะในสภา

 เราเสนอแนะไปบ่อยครั้ง แต่เราไม่รู้ว่า ท่านอาจจะกำลังแก้ไขอยู่ก็ได้ แต่เรายังไม่เห็นมีอะไรที่ว่า มันจะบ่งชี้ว่า กำลังจะดำเนินงาน แต่ว่าเป็นที่เข้าใจกัน เราเป็นฝ่ายค้านเขาก็นึกว่าเราเป็นศัตรู ผมไม่อยากให้เขานึกว่าเราเป็นศัตรู อยากให้เราเป็นมิตรคู่คิด เมื่อเรามีอะไร เราบอก อยากจะให้เขาได้เข้าใจ ดำเนินการตามสัดส่วนความคิดของเราน้อยๆ เนี่ย นิดๆ หน่อย เนี่ย เอาไปใช้บ้าง 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง