ไม่พบผลการค้นหา
อันที่จริง การขยายอิทธิพลของจีนที่ปรากฏในรูปของการส่งผู้ร้ายข้ามแดนนี้ มิได้แค่เพียงเกิดกับฮ่องกงที่อยู่ในฐานะเขตบริหารพิเศษของจีนเท่านั้น แต่ยังเกิดกับประเทศอื่นๆ ด้วย

ตั้งแต่วันที่ 9 มิถุนายน เป็นต้นมา ทั่วโลกต่างจับตาเหตุการณ์ที่ชาวฮ่องกงชุมนุมประท้วงเพื่อคัดค้านการที่สภานิติบัญญัติของฮ่องกงจะออกกฎหมายส่งผู้ร้ายข้ามแดนระหว่างฮ่องกงกับจีน การชุมนุมประท้วงลุกลามอย่างรวดเร็ว จากจำนวนผู้ชุมนุมไม่กี่ร้อยคนในวันแรกเพิ่มเป็นหลายแสนคนในเวลาเพียงวันเดียว และมีผู้ชุมนุมหลายหมื่นคนล้อมอาคารสภานิติบัญญัติของฮ่องกง นำไปสู่การที่ทางการฮ่องกงต้องประกาศว่าจะชะลอการนำร่างกฎหมายส่งผู้ร้ายข้ามแดนเข้าสู่การพิจารณาของสภานิติบัญญัติ ถึงกระนั้นก็มีเหตุกระทบกระทั่งระหว่างผู้ชุมนุมกับตำรวจในวันที่ 12 มิถุนายน ตำรวจใช้แก๊สน้ำตาและใช้กระสุนยางเพื่อสลายการชุมนุม ทำให้มีผู้บาดเจ็บจำนวนมาก

แม้ว่าในวันที่ 12 มิถุนายน โฆษกของรัฐบาลจีนจะออกมายืนยันว่าทางการจีนจะไม่ส่งกองกำลังติดอาวุธเข้าไปในฮ่องกงเพื่อสลายการชุมนุม แต่ยิ่งทำให้ทั่วโลกรู้สึกว่านั่นไม่ใช่การให้ความสบายใจหรือลดความตึงเครียดของสถานการณ์ แต่มันเป็นการข่มขู่

นักวิเคราะห์ส่วนหนึ่งมองว่า กฎหมายฉบับนี้เกิดเพราะทางการฮ่องกงต้องการให้เกิด ไม่ได้เกิดจากความต้องการของรัฐบาลจีน กล่าวคือ เป็นผลจากคดีพิศวาสฆาตกรรมสะเทือนขวัญที่เกิดขึ้นในเดือนกุมภาพันธ์ โดยชายหนุ่มชาวฮ่องกงสังหารคนรักสาวขณะที่ทั้งคู่ไปท่องเที่ยวด้วยกันในไต้หวัน ทางการไต้หวันร้องขอให้ทางการฮ่องกงส่งตัวชายผู้เป็นฆาตกรไปดำเนินคดีในไต้หวัน แต่ทางการฮ่องกงปฏิเสธ เนื่องจากฮ่องกงกับไต้หวันไม่มีข้อตกลงระหว่างกันเรื่องการส่งผู้ร้ายข้ามแดน จึงนำไปสู่การเสนอกฎหมายส่งผู้ร้ายข้ามแดนฉบับใหม่ แต่มีการใส่เนื้อหาว่าฮ่องกงสามารถส่งผู้ร้ายข้ามแดนไปยังประเทศต่างๆ ที่ไม่มีข้อตกลงเรื่องการส่งผู้ร้ายข้ามแดนระหว่างกัน ซึ่งหมายรวมถึงการส่งผู้ร้ายข้ามแดนไปจีนด้วย จึงทำให้ประชาชนชาวฮ่องกงไม่พอใจ และกล่าวโทษจีนราวกับเป็นจำเลยของเรื่องนี้

ประท้วงกฎหมายส่งผู้ร้ายข้ามแดน ฮ่องกง 09062019

ในขณะที่นักวิเคราะห์ส่วนมาก บรรดานักสิทธิมนุษยชนจำนวนมาก รวมทั้งประชาชนส่วนใหญ่ของฮ่องกง เชื่อมั่นว่ารัฐบาลจีนคือผู้ที่อยู่เบื้องหลังการผลักดันให้มีการเสนอกฎหมายฉบับนี้ เพราะทางการจีนหาช่องทางปิดปากบรรดาชาวฮ่องกงที่ต่อต้านหรือวิจารณ์ทางการจีนมาโดยตลอด กฎหมายฉบับนี้จะเปิดช่องให้ทางการจีนขอให้ฮ่องกงส่งผู้ต่อต้านหรือวิจารณ์ทางการจีนไปดำเนินคดีโดยศาลที่จีน ซึ่งขึ้นชื่อเรื่องความไม่ยุติธรรม และความไม่แยแสต่อสิทธิมนุษยชนของนักโทษ

ความกังวลของคนส่วนใหญ่นั้น มีหลักฐานสนับสนุนที่หนักแน่น ไม่ใช่การกลัวไปอย่างเลื่อนลอย เนื่องจากเป็นที่ทราบกันดีว่าผู้แทนในสภานิติบัญญัติของฮ่องกงและหัวหน้าคณะผู้บริหารฮ่องกงล้วนเป็นบุคคลที่ภักดีต่อรัฐบาลจีนและอยู่ในอาณัติของรัฐบาลจีนทั้งสิ้น แม้ว่าตามกฎหมายแล้ว ฮ่องกงจะเป็นเขตบริการพิเศษของจีนที่ต้องมีอิสระในการบริหารกิจการภายในของฮ่องกงให้เป็นไปตามครรลองของฮ่องกง ตามนโยบาย “หนึ่งประเทศ สองระบบ” ที่จีนเคยประกาศไว้เมื่อครั้งที่อังกฤษคืนดินแดนฮ่องกงให้แก่จีนในปี ค.ศ.1997 เพื่อรักษาทั้งความเจริญรุ่งเรืองทางเศรษฐกิจและเสรีภาพในชีวิตอย่างที่ฮ่องกงเคยมีภายใต้การปกครองของอังกฤษ แต่ในความเป็นจริงปรากฏว่าจีนค่อยๆ เพิ่มอิทธิพลแทรกแซงกิจการภายในของฮ่องกงมาโดยตลอด

ประชาชนฮ่องกงต่อต้านอิทธิพลของจีนเป็นระยะๆ ล่าสุด คือ การชุมนุมครั้งใหญ่ที่ใช้ร่มเป็นสัญลักษณ์ หรือ “ม็อบร่ม” เมื่อ ค.ศ.2014 เพื่อเรียกร้องให้ชาวฮ่องกงมีสิทธิในการเลือกตั้งหัวหน้าคณะผู้บริหารฮ่องกง หรือ ผู้ว่าการฮ่องกง แต่การเรียกร้องครั้งนั้นก็ไม่อาจต้านทานอิทธิพลของจีนได้ เพราะในที่สุดจีนก็จัดการเลือกคณะกรรมการการเลือกตั้ง โดยอนุญาตให้ชาวฮ่องกงเพียงร้อยละ 6 จากประชาชนทั้งหมดของฮ่องกง ได้มีสิทธิออกเสียงเลือกตัวแทนจากสายอาชีพจำนวน 1,200 คน ที่ต้องได้รับการรับรองจากทางการจีน เพื่อทำหน้าที่เป็นคณะกรรมการการเลือกตั้งหัวหน้าคณะผู้บริหารฮ่องกง

อันที่จริง การขยายอิทธิพลของจีนที่ปรากฏในรูปของการส่งผู้ร้ายข้ามแดนนี้ มิได้แค่เพียงเกิดกับฮ่องกงที่อยู่ในฐานะเขตบริหารพิเศษของจีนเท่านั้น แต่ยังเกิดกับประเทศอื่นๆ ด้วย

ฮ่องกงประท้วง.jpg

จีนกลายเป็นประเทศที่มีอิทธิพลสูงทางเศรษฐกิจ มาตั้งแต่ทศวรรษที่ 2000 ทั้งนี้ เมื่อถึงปี ค.ศ.2012 ที่สีจิ้นผิงก้าวขึ้นเป็นประธานาธิบดีของจีน จีนก็กลายเป็นมหาอำนาจทางเศรษฐกิจของโลกไปเรียบร้อยแล้ว สีจิ้นผิงประกาศนโยบาย “ความฝันของจีน” ว่าต้องการทำให้จีนเป็นชาติที่ร่ำรวย และยังต้องการให้จีนเป็นมหาอำนาจในเวทีโลกด้วย จีนขยายอิทธิพลทางเศรษฐกิจออกไปอย่างกว้างขวางสู่ทุกทวีป

ในขณะเดียวกันก็ขยายอิทธิพลทางการเมืองระหว่างประเทศไปด้วย พร้อมๆ กับการจัดการเสี้ยนหนามของรัฐบาลจีน กล่าวคือ จีนใช้อิทธิพลทางเศรษฐกิจที่ตนมีเหนือประเทศต่างๆ ทั้งกดดันและเกลี้ยกล่อมให้ประเทศต่างๆ เหล่านั้นทำข้อตกลงเรื่องการส่งผู้ร้ายข้ามแดนกับจีน โดยเป้าหมายที่จีนต้องการก็คือ การส่งตัวนักโทษคดีการเมืองและคดีความมั่นคงกลับไปลงโทษในจีน ซึ่งหลายกรณีจีนอธิบายว่าเป็นคดีคอร์รัปชัน แต่ตัวนักโทษอธิบายว่าเขาเพียงแต่ทำตัวเป็นปฏิปักษ์กับรัฐบาลจึงถูกยัดข้อหา และหลายกรณีจีนอธิบายว่าเป็นคดีก่อการร้าย แต่ตัวนักโทษอธิบายว่าเขาถูกข่มเหงละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างรุนแรงจึงต้องหนีออกนอกประเทศ 

ปัจจุบัน จีนมีข้อตกลงส่งผู้ร้ายข้ามแดนกับ 40 ประเทศ ทั่วโลก มีประเทศพัฒนาแล้วและเป็นประชาธิปไตย เพียง 3 ประเทศเท่านั้น ที่มีข้อตกลงส่งผู้ร้ายข้ามแดนกับจีน ได้แก่ ออสเตรเลีย สเปน และ ฝรั่งเศส นอกนั้นล้วนเป็นพันธมิตรเก่าแก่ของจีนที่ต้องพึ่งอิทธิพลทางเศรษฐกิจของจีนอย่างมาก และมักมีชื่อเสียงอื้อฉาวด้านการละเมิดสิทธิมนุษยชน

สื่อจีนเผยภาพอุยกูร์
  • ภาพจาก CCTV แสดงให้เห็นกระบวนการนำตัวชาวอุยกูร์จากไทยไปยังจีน

กรณีการส่งผู้ร้ายข้ามแดนกลับสู่จีนที่เป็นที่วิพากษ์วิจารณ์อย่างหนักไปทั่วโลก ได้แก่ การส่งชนกลุ่มน้อยชาวอุยกูร์ที่ลักลอบหนีออกจากประเทศจีนมายังประเทศไทยกลับคืนสู่จีนใน ค.ศ.2015 โดยมีภาพหลุดออกสู่สาธารณชน เป็นภาพที่ชนกลุ่มน้อยอุยกูร์จำนวน 109 คน ถูกคลุมหัวและใส่กุญแจมือโดยมีเจ้าหน้าที่จีนพร้อมอาวุธนั่งประกบบนเครื่องบิน

จีนยังคงพยายามทั้งกดดันและเกลี้ยกล่อมให้ประเทศต่างๆ ทำข้อตกลงเรื่องการส่งผู้ร้ายข้ามแดนกับจีน ทั้งนี้ ยิ่งชาติต่างๆ ต้องพึ่งจีนด้านเศรษฐกิจมากยิ่งขึ้น ก็ยิ่งจำต้องยอมจีนในสักวัน เป็นเสมือนฝันร้ายสำหรับชาวจีนผู้รักเสรีภาพและสิทธิมนุษยชน ที่สุดท้ายก็เหลือแผ่นดินอื่นที่เขาจะลี้ภัยไปอยู่ได้อย่างปลอดภัยน้อยลงทุกที