ไม่พบผลการค้นหา
ประธานรัฐสภา ปาฐกถาพิเศษวันธรรมศาสตร์สามัคคี เผยไม่คาดคิดจะได้เป็นประธานรัฐสภา หลังตัวจริงยอมรับหลีกทางให้ ย้ำภารกิจผลักดันรัฐสภาให้เป็นที่ยอมรับมีมาตรฐาน ซัดคนละเมิด รธน. ต้นเหตุยึดอำนาจ 2 ครั้งหลัง

เมื่อวันที่ 5 พ.ย. ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ได้จัดงาน "ธรรมศาสตร์สามัคคี" ประจำปี 2563 เพื่อรำลึกถึงเหตุการณ์ 5 พ.ย.2494 ในการทวงคืนมหาวิทยาลัยจากรัฐบาลทหาร โดยนายชวน หลีกภัย ประธานรัฐสภาปาฐกถาพิเศษ ซึ่งมีคณาจารย์ ศิษย์เก่ามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และประชาชนเข้าร่วมเป็นจำนวนมาก โดยนายชวน หลีกภัย ประธานรัฐสภา กล่าวถึงความหวังสภาผู้แทนราษฎร ภายใต้รัฐธรรมนูญ 2560 ตอนหนึ่งว่า บรรดารัฐธรรมนูญทั้ง 20 ฉบับ ตนมีชีวิตตั้งแต่เกิดถึงปัจจุบันอยู่ในรัฐธรรมนูญมาแล้ว 18 ฉบับตั้งแต่ฉบับที่ 3 และตอนที่เข้ามาเรียนที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ในยุคจอมพลถนอม กิตติขจร ทหารคุมมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ แต่เสรีภาพในมหาวิทยาลัยมีมากพอสมควร และเป็นตลาดวิชาภายใต้คำขวัญรวมกันเราอยู่ แยกอยู่เราตาย ส่วนตัวเป็นนักการเมืองมาแล้ว 50 ปี ส.ส. 16 สมัย 

นายชวน ระบุว่า หากรัฐธรรมนูญใดที่ออกมาหลังจากการยึดอำนาจ จะมีบทเฉพาะกาลตอนหนึ่งที่เขียนไว้ในลักษณะให้ผู้ที่กำหนดรัฐธรรมนูญฉบับนั้นได้เป็นนายกฯต่อ เช่น จอมพลถนอม กิตติขจร ได้เป็นนายกฯมีเสียงส.ส.สนับสนุนจำนวนหนึ่ง แต่มีเสียงส.ว.สนับสนุนจำนวนมาก เช่นเดียวกับสมัย พล.อ.เกรียงศักดิ์ ชมะนันทน์ จึงไม่น่าแปลกใจว่าทำไมรัฐธรรมนูญบางฉบับเริ่มต้นไม่ค่อยใวยเช่น รัฐธรรมนูญปี 2521ที่ใช้มาถึงปี 2534 ส่วนรัฐธรรมนูญปี 2560 จะมีอายุนานเท่าไรไม่มีทางรู้

เผยไม่คาดคิดเป็นประธานรัฐสภา แต่ตัวจริงหลีกทางให้เหตุยอมรับ

นายชวน ระบุว่า เมื่อครั้งที่มีการร่างรัฐธรรมนูญพ.ศ.2560 นายสุพจน์ ไข่มุกด์ รองประธานกรรมการร่างรัฐธรรมนูญได้เชิญตนไปพบเป็นการส่วนตัวเพื่อขอความคิดเห็น และได้บอกท่านไปว่า ปัญหาที่เกิดขึ้นที่ผ่านมาไม่ใช่ความผิดของรัฐธรรมนูญ แต่เป็นเรื่องของตัวบุคคลที่ละเมิดรัฐธรรมนูญและไม่ยึดหลักนิติธรรม ปัญหาการใช้รัฐธรรมนูญ และการปฏิบัติตามรัฐธรรมนูญต้องพิจารณาไปควบคู่กัน พูดง่ายๆ คือ ปราชญ์โบราณที่คิดว่าบ้านเมืองจะปกครองได้ดีต้องปกครองด้วยราชาแห่งปราชญ์ กำหนดคุณสมบัติไว้สูงมาก ซึ่งในชีวิตจริงมันหายาก เพราะการปกครองที่เหมาะสมและเป็นประโยชน์จริงๆจะต้องปกครองด้วยหลักนิติธรรม ถ้าผู้ปฏิบัติตามกฎหมายไม่ออกนอกหลักนิติธรรม จะไม่เกิดเหตุการณ์ปี 2549 และ 2557

นายชวน กล่าวอีกว่า ส่วนตัวไม่คิดว่าจะมาเป็นประธานสภาฯ แต่ในเมื่อเป็นช่วงสุดท้ายที่พรรคประชาธิปัตย์ได้เสียงไม่มาก ซึ่งโดยปกติแล้วเขาไม่ให้ตำแหน่งประธานสภาฯ เพราะประธานจะอยู่ที่พรรคใหญ่ที่สุด แต่เที่ยวนี้สำหรับนายชวนเขายกเว้นให้ และไม่คิดโควตา ถ้าคิดโควตา แล้วไปแย่งเพื่อนสมาชิกในพรรค ส่วนตัวก็คงจะไม่เป็นประธานสภาฯ เพราะเป็นการเอาเปรียบเพื่อน และในที่สุดคนที่จะเป็นประธานจริงๆ ยอมรับว่าถ้าเป็นตนเขาจะยอมรับ จึงตัดสินใจบอกว่าทำให้งานร่วมกันให้สภาให้เป็นมาตรฐานเป็นที่ยอมรับ

"ที่สำคัญสภาฯต้องเป็นตัวอย่างของการเคารพกฎหมายและได้บอกสมาชิกสภาเสมอว่าต้องวางมาตรฐานของสภาให้เป็นที่ยอมรับให้ได้ และยังบอกกับนายกฯเสมอว่าต้องมาสภาและมาตอบกระทู้ เว้นแต่ท่านจะมีเหตุผล หรือถ้าคณะกรรมาธิการเรียกให้มาชี้แจง ก็ขอให้ท่านให้ความร่วมมือ และขอร้องไปยังคณะกรรมาธิการให้เข้าใจว่าคนมาชี้แจงไม่ได้เป็นจำเลยหรือเป็นผู้ต้องหา ต้องมีความพอดีถึงจะทำให้อยู่ด้วยกันได้ ซึ่งก็ได้รับความร่วมมือดีพอสมควร

ชวน หลีกภัย

ย้ำไม่รับ รธน.ปี 60 หนุนแก้ รธน. แต่อย่าล้มให้หมด

นายชวน กล่าวอีกว่า รัฐธรรมนูญ 2560 นายมีชัย ฤชุพันธุ์ ประธานคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ ประกาศว่าเป็นรัฐธรรมนูญฉบับแก้คอร์รัปชัน แต่จริงๆมันไม่ใช่ แม้รัฐธรรมนูญกำหนดโครงสร้างและเงื่อนไข แต่หากผู้ปฏิบัติละเมิด และไม่ปฏิบัติ ผลที่อยากให้เกิดขึ้นมันก็จะไม่เกิด รัฐธรรมนูญของไทยรับมาจากต่างประเทศมาก แต่เจ้าของเมื่อมาเห็นก็บอกว่าปัจจุบันไม่ได้ใช้แล้ว ส่วนของเราที่มีพรรครัฐบาล 15-16 พรรค และฝ่ายค้าน 7 พรรค ไม่ได้เป็นปรากฎการณ์ที่ได้เห็นมากนัก

"ผมเป็นหนึ่งในคนที่ไม่รับร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ ถ้าจะมีการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญก็เป็นสิ่งที่ควรจะทำ แต่สิ่งแรกที่ควรจะทำ คือ อย่าเพิ่งไปหักด้ามพร้าด้วยเข่า ล้มให้หมดพังให้หมด มันไม่เป็นประโยชน์อย่างยิ่ง เราต้องมาคุยกันว่าประชาธิปไตยในความปรารถนาของเราคืออะไร เราควรจะมีสภากี่สภา มีวุฒิสภาไหม วุฒิสภาควรมีบทบาทอะไร ควรมาจากระบบแต่งตั้งหรือเลือกตั้งอย่างไร เพราะหน้าที่แต่ละคนไม่เหมือนกัน" นายชวน กล่าว