ไม่พบผลการค้นหา
'ปิยบุตร' ชี้คนหนุ่มสาวคือคนที่มีพลังที่สุดในการเริ่มต่อต้านอำนาจที่ไม่ชอบ ร่วมปฏิเสธอำนาจสู่การปลดปล่อย-เปลี่ยนแปลงสังคมไทย

ที่งานฟิวเจอร์เฟส 2020 จัดขึ้นโดยพรรคอนาคตใหม่ นายปิยบุตร แสงกนกกุล เลขาธิการพรรคอนาคตใหม่ ขึ้นกล่าวในช่วง Leader Talk ในหัวข้อ “อำนาจและการเชื่อฟัง” โดยระบุว่า เรื่องที่ตนจะมาพูดไม่ได้เกี่ยวกับศิลปวัฒนธรรมโดยตรง แต่เกี่ยวกับเรื่องกลไกการทำงานของอำนาจและการเชื่อฟังอำนาจนั้น ซึ่งท่านจะเห็นได้เองว่ามันเกี่ยวข้องกับศิลปวัฒนธรรมอย่างไร ตนขอเริ่มต้นจากสามกรณีตัวอย่าง

กรณีที่หนึ่ง สมมุติว่ามีข้าราชการจากกรมสรรพากร ทำคำสั่งบอกให้คุณไปจ่ายภาษีเพิ่มคนหนึ่งมาบอกให้เราจ่ายภาษีเพิ่ม ในขณะเดียวกัน มีพระมีนักบวชประกาศเรี่ยไรช่วยกันทำบุญให้วัดหน่อย อีกแบบหนึ่ง คนกลุ่มหนึ่งตั้งกันขึ้นมาแล้วเดินไปรีดไถร้านหาบเร่แผงลอย ทั้งหมดเหมือนกันคือการเอาเงินของเราไปให้อีกคนหนึ่ง ต่างกันตรงที่กรมสรรพากรทำตามกฎหมายเพราะเขามีอำนาจตามกฎหมาย แต่อีกสองอันไม่ได้ตั้งอยู่บนฐานกฎหมาย แต่อยู่บนฐานของความเชื่อทางศาสนา กับการยอมจ่ายมาเฟียเพราะความกลัว ทั้งสามอันคือการจ่ายเงิน ยอมจ่ายหมดเหมือนกัน แต่ด้วยคำอธิบายที่แตกต่างกัน

กรณีที่สอง ตอนปี 56 มีการชุมนุมใหญ่ของ กปปส. อยู่ดีๆคุณสุเทพก็ประกาศว่าตอนนี้ยึดอำนาจไว้หมดแล้วขอเรียกให้ข้าราชการมารายงานตัว มีข้าราชการจำนวนมากมานั่งฟัง แต่ไม่มีใครมารายงานตัวจริงๆ แต่ 22 พฤษภาคม 57 อยู่ดีๆคณะรัฐประหารยึดอำนาจ เรียกข้าราชการรายงานตัว คราวนี้ข้าราชการไปกันทุกคน

กรณีที่สาม คนเก้าคนขึ้นมานั่งคุยกันตรงนี้ ปรึกษาหารือว่าเรายุบพรรคมันดีกว่า ทำแบบนี้ยุบไม่ได้ แต่คนเก้าคนเดียวกัน ถ้าใส่ชุดครุยขึ้นนั่งบนบัลลังก์ แปะป้ายว่าศาลรัฐธรรมนูญ สามารถอ่านคำวินิจฉัยยุบพรรคยุบได้

ทั้งสามกรณีที่ตนพูดไปทั้งหมด มันคือปรากฏการณ์เรื่องอำนาจ แต่อำนาจทำงานต้องตั้งอยู่บนพื้นฐานของอะไรบางอย่าง อำนาจจะทำงานได้ต้องมีการเชื่อฟังก่อน ปรากฏการณ์เรื่องการใช้อำนาจกับคนเชื่อฟังตั้งอยู่บนพื้นฐานอะไรนักปรัชญาชาวเยอรมันชื่อแมกส์ เวเบอร์เคยอธิบายว่าอำนาจทำงานบนสามพื้นฐานต่างกันคือ ในบางยุคบางสมัยตั้งอยู่บนจารีตประเพณี บางยุคบางสมัยตั้งอยู่บนบารมี มาถึงยุคสมัยใหม่ตั้งอยู่บนเหตุผล ต้องตั้งอยู่บนกฎหมาย

นายปิยบุตร ระบุว่า พล.อ.ประยุทธ์ตั้งตนเป็นใหญ่เขียนประกาศขึ้นมาฉบับหนึ่งห้ามชุมนุม ถ้าไม่มีใครไปจับคนชุมนุมทุกคนก็จะชุมนุมอีก เจ้าหน้าที่ของรัฐก็ต้องเข้าไปช่วย จึงจำเป็นต้องมีเจ้าหน้าที่ไปจับ คำสั่งการห้ามชุมนุมถึงมีผล บางครั้งเจ้าหน้าที่เหล่านั้นใช้ชีวิตอยู่รอบตัวเราเป็นปกติ บางทีเวลาไม่สวมเครื่องแลลยังเชียร์เราเลย แต่พอใส่เครื่องแบบแล้วต้องมาตามจับเรา แสดงให้เห็นว่าเมื่อไรที่คนที่เป็นคนเหมือนเรา เมื่อไรที่ไปเป็นกลไกรัฐ เจ้าหน้าที่รัฐ คุณพร้อมปฏิบัติตามคำสั่ง ทั้งนี้ ทำไมมีคนจำนวนมากที่รู้ว่าอะไรถูกอะไรผิด แต่ยอมเข้าไปรับใช้อำนาจเผด็จการ แน่นอนผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจและอำนาจวาสนาเป็นการประเมินที่ง่ายที่สุด แต่มีเหตุผลอีกประเภทหนึ่งที่อธิบายยาก คือการไปเป็นเครื่องมือรับใช้เผด็จการโดยไม่รู้ตัว เหมือนหุ่นยนต์ สั่งให้ทำอะไรทำหมด ทั้งๆที่ในชีวิตปกติเป็นคนดีมาก

นายปิยบุต ระบุว่า ณ วันนี้ ประเทศไทยสังคมไทย เราบอกกันว่าเป็นสังคมอำนาจนิยม สังคมแบบนี้จะหมดไปได้ต้องเริ่มจากการไม่เชื่อฟังอำนาจ ถ้าเราเชื่อฟังอำนาจเหมือนเดิมอำนาจก็ยังทำงานได้ แต่ถ้าเราลองเริ่มต้นทดลองไม่เชื่อฟังอำนาจ ท้าทายอำนาจที่เป็นอยู่ ออกแบบความคิดสร้างสรรค์ใหม่ๆ เชื่อว่าสิ่งที่ดีกว่านี้เกิดได้ ไม่เชื่อว่าอำนาจที่เป็นอยู่ต้องเชื่อฟัง ถ้าเราเริ่มทดสอบตั้งคำถาม เราก็จะเริ่มหันไปให้เสรีภาพในการไม่เชื่อฟังอำนาจ นั่นคือการใช้เสรีภาพที่สมบูรณ์ที่สุด นี่คือการใช้เสรีภาพในการไม่เชื่อฟัง เพื่อนำไปสู่การเปลี่ยนแปลง เพื่อนำไปสู่สิ่งที่ดีกว่า

“การใช้เสรีภาพแบบนี้เสี่ยงภัย แต่จะนำไปสู่การปลดปล่อยและเปลี่ยนแปลง ผมเชื่อว่าเยาวชนคนคนหนุ่มสาวเป็นวัยที่มีพลังกับเรื่องเหล่านี้มากที่สุด สำคัญที่สุดตรงนี้คือต้องเริ่มตั้งหลักทดลองทดสอบดู ว่าการทำงานของอำนาจทำกันอย่างไร สิ่งที่เป็นอยู่ถูกต้องจริงไหม ต้องเริ่มตั้งคำถาม สิ่งที่ดีกว่าเป็นอย่างไร แล้วคิดหาทางออกร่วมกัน เพื่อปลดปล่อยสังคมไทย เปลี่ยนแปลงสังคมไทยไปสู่สิ่งที่ดีกว่า” นายปิยบุตรกล่าว

ข่าวที่เกี่ยวข้อง