ไม่พบผลการค้นหา
สัมผัสลมหายใจบนพื้นที่พิพาท ‘ดงมะไฟ’ หนองบัวลำภู เมื่อสัญญาณอนุญาตประทานบัตร ยังไม่มีทีท่าจะยุติ

เส้นทางคดเคี้ยวของถนนสี่เลนจากตัวเมืองจังหวัดอุดรธานี คล้ายถูกบีบลงเรื่อยๆ จนเหลือสองเลนบนทางขรุขระสู่ถนนลูกรัง ล้อมรอบด้วยป่าอ้อยที่ถูกผลัดเปลี่ยนจากฤดูทำนายามหมดฝน นำขบวนสื่อมวลชนหลายสำนัก ลงพื้นที่พิพาท 175 ไร่ เพื่อศึกษาปัญหาการทำเหมืองหิน ในเขตตำบลดงมะไฟ อำเภอสุวรรณคูหา จังหวัดหนองบัวลำภู ซึ่งผู้ประกอบการอยู่ในขั้นตอนการขอประทานบัตรอีก 10 ปี หรือถึงปี 2573

ที่แห่งนี้ผ่านการต่อสู้นานนับ 25 ปี ตั้งแต่พ.ศ. 2536 มีกลิ่นคาวเลือดของแกนนำนักต่อสู้ ไหลหยดบนผืนป่าที่พวกเขารวมตัวอนุรักษ์จารึกให้ลูกหลานได้ตระหนัก

เหมืองหินในรอยเลือด

แอมเนสตี้ ลงพื้นที่ถ้ำศรีธน
  • การย่อยสลายจากแรงระเบิด

ย้อนกลับไปเมื่อ พ.ศ. 2536 มีการสำรวจพื้นที่ 'ภูผาฮวก' หรือ 'ป่าชุมชนเขาใหญ่ ผาจันได' ซึ่งเป็นทิวเขาที่อุดมไปด้วยระบบนิเวศ ขณะเดียวกันได้มีผู้ประกอบการเข้ามายื่นความประสงค์ เพื่อขอสัมปทานดำเนินการทำเหมืองหินอุตสาหกรรมชนิดหินปูน มีการรวมตัวคัดค้านจากคนในชุมชน จนนำไปสู่ความรุนแรง มีชาวบ้านถูกยิงเสียชีวิต 2 ราย ในปี 2538 กลายเป็นโศกนาฏกรรมที่ชาวบ้านไม่มีวันลืม

ทว่าไม่ใช่เพียง 2 ศพ ในปี 2541 เหตุการณ์ซ้ำรอยอดีตก็กลับมาอีกครั้ง เมื่อกำนันทองม้วน คำแจ่ม แกนนำนักต่อสู้ และนายสม หอมพรมมา ถูกลอบยิงเสียชีวิต

แม้จะเกิดเหตุรุนแรง แต่ก็ยังไม่มีทีท่าว่าการรุกหน้าของทุนจะหยุดชะงัก พ.ศ.2543 อุตสาหกรรมหนองบัวลำภู อนุญาตประทานบัตรเหมืองหินแก่ผู้ประกอบการ เป็นเวลา 10 ปี ตั้งแต่เดือนกันยายน 2543-กันยายน 2553 ท่ามกลางการต่อต้านจากชาวบ้านที่รุมคัดค้านอย่างต่อเนื่อง บางรายก็ถูกดำเนินคดี มีการปะทะกันระหว่างมวลชนกับเจ้าหน้าที่ตำรวจ บาดเจ็บกันไปหลายราย 

ในด้านกฎหมาย 'ทองใบ ทองเปาว์' ถือเป็นนักกฎหมายคนแรก ที่ได้เข้ามาช่วยเหลืออบรมกฎหมายให้ชาวบ้านรับรู้ โดยไม่ตกหลุมพรางในการถูกดำเนินคดี ส่วนการฟ้องร้องพบการต่อสู้กันถึง 3 ศาล นับตั้งแต่ศาลปกครองนครราชสีมา ศาลปกครองขอนแก่น ศาลปกครองอุดรธานี

ล่าสุดปี 2561 ศาลปกครองได้มีคำพิพากษาเพิกถอนใบอนุญาตให้บริษัทเข้าทำประโยชน์ในพื้นที่ และเพิกถอนใบอนุญาตประทานบัตร ส่วนคู่กรณีคือ ‘ผู้ประกอบการ’ ได้มีการยื่นอุทธรณ์ ขณะที่การขนแร่นั้นยังเกิดขึ้นจนถึงในปัจจุบัน

ขณะที่การเสียชีวิตของ 4 ผู้นำในการต่อต้าน ความอยุติธรรมยังคงอบอวล ไม่ต่างจาก ละอองฝุ่นจากแรง "ระเบิดภูเขา" เนื่องจากฆาตกรยังคงลอยนวล 

ไม่มีวันทรยศแผ่นดินเกิด

แอมเนสตี้ ลงพื้นที่ถ้ำศรีธน
  • เอกชัย ศรีพุทธา

จากเหตุการณ์รวมตัวกว่า 400 คนคัดค้านการก่อสร้างเหมือง เมื่อปี 2544 มีผู้ต้องหา 12 คน โดยมี 2 คนถูกส่งเข้าสู่เขตแดนโลกหลังกำแพง นานนับ 6 เดือน

เอกชัย ศรีพุทธา พร้อมเพื่อนร่วมชะตากรรม ได้อาสาขอเดินเข้าสู่เรือนจำ ด้วยเห็นว่าอีก 10 คนที่เหลือล้วนเป็นผู้สูงอายุ

"ทุกวันนี้ผมภูมิใจด้วยซ้ำ ที่ได้ต่อสู้ให้ลูกหลานเห็นว่าไม่ทรยศแผ่นดินเกิด" ชายวัย 58 ปี กล่าวถึงอดีตด้วยความสั้นๆ แต่แสดงผ่านแววตาของนักสู้ที่ครั้งหนึ่งได้แสดงตน ว่าพวกเขานั้นมีสิทธิที่พึงกระทำและไม่ยอมรับต่อข้อครหาใดๆ

"คนมันเท่ากัน แต่ทำไมมันไม่เท่ากัน"

นั่นคือสิ่งที่เขาเพรียกหา ผลักดันให้มีแรงต่อสู้ เมื่อป่าเขามันฟื้นฟูกลับมาไม่ได้แล้ว ก็หวังเพียงว่า เดือนมีนาคม 2563 ที่จะถึงนี้การอนุญาตประทานบัตร ‘เหมืองแร่’ จะถูกตีตกจากคณะกรรมการพิจารณา และเขาได้ย้ำอีกครั้งว่าไม่เคยต่อต้านความเจริญ แต่ความเจริญนั้นไม่ควรมารุกล้ำทำลายทรัพยากรท้องถิ่น

เสียงหวอเตือนถึงคราวระเบิด

แอมเนสตี้ ลงพื้นที่ถ้ำศรีธน

16.00 น. เป็นอันรู้กันของชาวบ้านที่อยู่ริมเหมือง ต้องถอยห่างจากรัศมี เพราะแรงระเบิดภูเขาที่ไม่สามารถประเมินได้

"พวกเราเตือนแล้ว หากเกิดอะไรขึ้นเราไม่รับผิดชอบ" คือเสียงเตือนจากเจ้าหน้าที่เหมือง ที่ถูกบอกเล่าผ่านเจ้าของที่นา ที่ต้องรับผิดเศษหินในแต่ละวันโดยไม่เต็มใจนัก เพราะเจ้าของเหมืองไม่ขอรับผิดกับสิ่งที่เกิดขึ้น กลายเป็นอีกหนึ่งหน้าที่ในแต่ละวัน แถมนาไร่ที่เสียหายไปต่อหน้า บางรายถึงขั้นทิ้งผืนดินแปลงทรัพย์ ปล่อยร้างไปเพราะระบบนิเวศมันพังเสียแล้ว

ด้วยภาระของครอบครัว ที่ยังคงเป็นเงื่อนไขให้มีชีวิตต่อ แต่การต่อสู้ด้วยชีวิตก็มิอาจประมาทได้

"ไม่ใช่ไม่กลัว บางทีผมก็นอนไม่หลับ" ผู้ใหญ่สมควร หนึ่งในนักต่อสู้ไม่อาจปฏิเสธได้ว่า ตัวเขาเองก็วิตกเช่นกัน ที่อาจเป็นศพต่อไป แต่ครั้นจะถอยกลับก็คงทำไม่ได้ เพราะการต่อสู้ครั้งนี้ไม่ใช่เพียงเพื่อตัวเขา แต่ลูกหลานที่เติบโตจากเยาว์วัยต้องมีผืนดินทำกิน 

เสียงที่หายไป

แอมเนสตี้ ลงพื้นที่ถ้ำศรีธน
  • สุนีย์ ไชยรส

สุนีย์ ไชยรส ผู้อำนวยการศูนย์ส่งเสริมความเสมอภาคและความเป็นธรรม วิทยาลัยนวัตกรรมสังคม มหาวิทยาลัยรังสิต ได้ฉายภาพเชื่อมร้อยปัญหาในพื้นที่ พร้อมเสนอให้มีการทำประชาวิจารณ์ ด้วยการให้ข้อมูลที่มีข้อเท็จจากทั้งสองฝ่าย ด้วยยึดหลักการของรัฐธรรมนูญ ให้สิทธิให้เสียงเพื่อสลายความขัดแย้งที่เกิดขึ้น เพราะสิ่งที่สะสมมาตลอดกว่า 20 ปี ได้คร่าชีวิตคน และยังไม่มีท่าทีว่าจะจบ สุนีย์ จึงเห็นว่าทางออกหนึ่งที่จะยุติคือ การยกเลิกการประกาศแหล่งหิน และทบทวนใหม่ทั้งหมดทั่วประเทศ เพราะทุกจุดเริ่มต้น มันต้องแก้ที่ต้นเหตุ

อีกหนึ่งกลไกที่มีส่วนสำคัญ ในการจัดทำข้อมูลคือเสียงจากสภา อบต.ดงมะไฟ นายลำ กองปาน หนึ่งในสมาชิกได้ยืนยันว่า อบต.ดงมะไฟนั้น ไม่เคยคิดแก้ปัญหาอย่างจริงจัง ทั้งยังหมกเม็ดเรื่องการพิจารณาการขออนุญาต โดยส่วนตัวของเขานั้นแม้จะเป็นเสียงข้างน้อยในสภา แต่ได้ท้วงติงมาโดยตลอด รวมถึงการยื่นเรื่องไปที่ประธานสภาอบต. ทบทวนกระบวนการ เนื่องจากเชื่อว่ามีที่มาไม่โปร่งใส โดยเฉพาะข้อครหาในเรื่องเอกสารเท็จ อย่างไรก็ตามยังไร้คำตอบจากประธานสภาฯ

นายลำ เล่าว่าที่ประชุมได้อ้างว่าไม่จำเป็นต้องเอาประชาคม ใช้เพียงเสียงของสภา อบต.ก็เพียงพอแล้ว จึงกลายเป็นภาพสะท้อนการตัดสิทธิของชาวบ้าน จนนำไปสู่การลุกฮือประท้วงหลายครั้ง ยิ่งสุ่มเสี่ยงที่จะมีการต่ออายุเร็วเท่าไหร่ การเคลื่อนไหวของชาวบ้านก็จะกลับมาอีกครั้ง กลายเป็นความขัดแย้งภายในชุมชน

ยังไม่มีการอนุมัติ คำยืนยันจากปากนายอำเภอ

"ณ เวลานี้ยืนยันว่ายังไม่มีการอนุมัติประทานบัตรอีกรอบ" นายจรูญ วิริยะสังวร นายอำเภอสุวรรณคูหา ตัวแทนจากฝ่ายภาครัฐ ได้กล่าววาจาต่อหน้าชาวบ้านนับร้อย

นี่อาจเป็นสัญญาณเชิงบวกไม่มากก็น้อย เมื่อสิ่งที่พวกเขากังวลยังไม่เกิดขึ้น โดยนายอำเภอเห็นตรงกันว่า ความขัดแย้งต้องมีทางออกร่วม หลังต่างฝ่ายมองกันคนละมิติ และทางจังหวัดเองก็ไม่ได้นิ่งนอนใจ มีการตั้งคณะกรรมการตรวจสอบผลกระทบ โดยให้พื้นที่กับทุกฝ่ายเพราะทุกความเห็นถือเป็นประโยชน์ในการพินิจของกรรมการ

พิชิตศักดิ์ แก่นนาคำ
ผู้สื่อข่าว Voice Online
91Article
1Video
0Blog