ไม่พบผลการค้นหา
สื่อมวลชนของสหรัฐฯ เผชิญกับความท้าทายแรก หลังมีการเพิ่มข้อบังคับการนำเสนอข่าว กรณีไต่สวน 'โดนัลด์ ทรัมป์' หลัง ส.ส. ลดมติถอดถอนออกจากตำแหน่งประธานาธิบดี ขั้นตอนต่อไปคือรอมติ ส.ว.

การไต่สวนกรณีการยื่นถอดถอดนายโดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดีสหรัฐฯ ให้พ้นจากตำแหน่งผู้นำของประเทศได้เริ่มต้นขึ้นอีกครั้งในวันที่ 16 ม.ค. ตามเวลาของสหรัฐฯ โดยขั้นตอนนี้เป็นพิธีการสำคัญที่ทางวุฒิสภาของสหรัฐฯ หรือ สภาสูง ได้รับญัตติการขอถอดถอนประธานาธิบดีอย่างเป็นทางการ หลังจากที่สภาผู้แทนราษฎรสหรัฐฯ หรือ สภาล่าง ได้จัดอภิปรายครั้งประวัติศาสตร์ขอถอดถอนนายทรัมป์ให้พ้นจากตำแหน่ง ในคืนวันที่ 18 ธ.ค.ตามเวลาสหรัฐฯ การลงมติอย่างเป็นเอกฉันท์ให้มีการตั้งข้อหาเพื่อถอดถอนตัวผู้นำ ได้แก่ ข้อหาใช้อำนาจในทางมิชอบ และขัดขวางกระบวนการสอบสวนของสภาคองเกรส

AFP รายงานว่า หนึ่งเหตุการณ์สำคัญที่เกิดขึ้นในพิธีการรับญัตติการขอถอดถอนประธานาธิบดีในวันที่ 16 ม.ค. นั้น คือการที่สื่อมวลชนของสหรัฐฯ ได้รับรู้ว่าจะต้องเผชิญกับความยากลำบากอย่างไรบ้างในการนำเสนอข่าวสารสำคัญที่จะเกิดขึ้นระหว่างที่มีการไต่สวนจริง ซึ่งน่าจะเริ่มต้นขึ้นอย่างเร็วที่สุดในวันอังคารที่ 21 ม.ค. 2020 หลังจากที่มีการออกกฎข้อบังคับใหม่ เพื่อควบคุมสื่อโดยเฉพาะ

โดยเมื่อวันที่ 14 ม.ค. ที่ผ่านมา นายมิทช์ แม็คคอร์แนลล์ ประธานวุฒิสภาระบุว่าสภาสูงไม่มีเจตนาจะลงมติยกฟ้องการไต่สวนคดีนี้โดยที่ยังไม่ได้ฟังคำแถลงทั้งหมดเสียก่อน

AFP - ทรัมป์ ถอดถอน

กฎข้อบังคับใหม่ในการควบคุมสื่อมวลชนนี้ถูกบังคับใช้โดยนายไมเคิล สเต็นเจอร์ เจ้าหน้าที่ตำรวจศาลของสภาสูง ซึ่งเป็นคำสั่งโดยตรงลงมาจากนายมิทช์ แม็คคอนเนลล์ ประธานวุฒิสภาเสียงข้างมาก ให้มีการเพิ่มมาตรการรักษาความปลอดภัยอย่างเข้มงวด มีการใช้กำลังเจ้าหน้าที่ตำรวจ 10 นาย ประจำการโดยรอบพื้นที่พร้อมมีเจ้าหน้าที่ตำรวจพิเศษอีก 2 นายประจำการบริเวณทางเดินภายในอาคารที่เรียกว่า 'Ohio Clock Corridor' ด้านหน้าห้องประชุมของวุฒิสภา

ขณะที่บริเวณชั้นใต้ดินของอาคาร ซึ่งเป็นสถานที่ที่ผู้สื่อข่าวมักจะรอสัมภาษณ์วุฒิสมาชิก ก็มีการจัดกำลังเจ้าหน้าที่ตำรวจเพื่อคอยควบคุมการใช้กฎข้อบังคับใหม่ไม่ให้ผู้สื่อข่าวถามคำถาม และในทุกพื้นที่ของอาคารรัฐสภาแห่งนี้ผู้สื่อข่าวถูกกำชับไม่ให้หยุด เพื่อรอถามคำถามวุฒิสมาชิก และห้ามพูดคุยกับวุฒิสมาชิกทุกคนนอกเหนือจากเขตพื้นที่ที่มีการจัดเตรียมไว้ให้เท่านั้น

หากสมาชิกวุฒิสมาชิกคนใดถูกถามคำถามโดยผู้สื่อข่าวนอกเหนือจากพื้นที่ที่จัดเตรียมไว้ให้สำหรับนักข่าว วุฒิสมาชิกก็สามารถที่จะยื่น 'การ์ด' ที่รัฐสภาจัดเตรียมไว้ให้ ให้กับนักข่าวเพื่อหลีกเลี่ยงบทสนทนาที่จะเกิดขึ้น ซึ่งจะมีข้อความเขียนไว้ในการ์ดอย่างเช่น "กรุณาหลีกทางให้ด้วย" หรือ "คุณกำลังทำให้ผม/ดิฉันไม่สามารถทำงานได้" เป็นต้น


AFP - ทรัมป์ ถอดถอน

คณะกรรมการด้านสื่อที่ดูแลผู้สื่อข่าวประจำรัฐสภาได้พยายามยื่นเรื่องไปยังผู้ออกกฎข้อบังคับใหม่ที่มีความเข้มงวดขึ้นนี้ โดยมีการ ขอร้องให้ยกเลิกการบังคับใช้กฎดังกล่าวต่อสื่อมวลชน แต่การร้องขอนั้นไม่ประสบความสำเร็จ ทางสื่อมวลชนประจำรัฐสภาจึงได้หันมาพึ่งโลกออนไลน์เพื่อแชร์เรื่องราวต่างๆที่เกิดขึ้นและร้องทุกข์ผ่านโซเชียลมีเดียแทน ซึ่งล้วนแต่เป็นเรื่องราวที่ชี้ให้เห็นว่าจริงๆ แล้วบรรดา ส.ว. ต่างมีความเต็มใจที่จะให้สัมภาษณ์กับผู้สื่อข่าวอย่างเป็นมิตรภายในอาคารรัฐสภาแห่งนี้ แต่กลับโดนขัดขวางโดยเจ้าหน้าที่ตำรวจ

นายอเล็กซ์ ดอเฮอร์ตี ผู้สื่อข่าวจาก Miami Herald ทวีตว่าเขาถูกขัดขวางจากเจ้าหน้าที่ตำรวจขณะกำลังสัมภาษณ์ นายมาร์โก รูบิโอ วุฒิสมาชิกจากพรรครีพับลิกันในกรณีของการส่งความช่วยเหลือจากสหรัฐฯ ไปยังเปอร์โตริโก ส่วนเอ็มมา ดูเมน ผู้สื่อข่าวจาก McClatchy ก็ทวีตว่าเธอถูกสั่งให้ถอยหลังกลับเข้าไปในเขตผู้สื่อข่าวที่มีสายกั้นอยู่เพื่อสัมภาษณ์ ไมค์ บรอน ส.ว.จากพรรครีพับลิกันต่อ ซึ่ง ส.ว.บรอนก็เต็มใจที่จะพาเธอ 'เดินกลับเข้ากรง' ตามที่เจ้าหน้าที่ตำรวจสั่ง ก่อนจะพูดคุยกับเธอต่อ

ทั้งนี้ ในขั้นตอนของการยื่นมติจากสภาล่างสู่สภาสูง นางแนนซี เพโลซี ประธานสภาผู้แทนราษฎรได้แต่งตั้ง ส.ส. 7 คน นำโดย นายเจอโรลด์ แนดเลอร์ ประธานคณะกรรมาธิการด้านตุลาการของสภาผู้แทนราษฏรสหรัฐฯ และนายอดัม ชิฟฟ์ ประธานคณะกรรมาธิการด้านข่าวกรองของสภาผู้แทนราษฎรสหรัฐฯ เพื่อทำหน้าที่คณะผู้ดำเนินการของ ส.ส.ในการขอถอดถอนนายทรัมป์ออกจากตำแหน่ง ถือเป็นบทบาทที่คล้ายคลึงกับการปฏิบัติหน้าที่ของอัยการในการยื่นขอถอดถอนผู้นำสหรัฐฯ 

นี่คือการไต่สวนที่สำคัญมากต่อสหรัฐฯ เพราะ ส.ว.ทั้ง 100 คนจะมีอำนาจในการตัดสินว่านายทรัมป์จะอยู่ในตำแหน่งต่อไปจนครบวาระปลายปีนี้หรือไม่ หลังจากมติการถอดถอนประธานาธิบดีได้ผ่านสภาล่างขึ้นมาแล้ว และแม้ว่าหลายฝ่ายมองว่าบรรดาสมาชิกวุฒิสภาจะเดินหน้าสนับสนุนให้นายทรัมป์อยู่ในตำแหน่งต่อไป เพราะ ส.ว.เสียงข้างมากคือสมาชิกพรรคฝ่ายรัฐบาล 

อย่างไรก็ตาม การตัดสินใจครั้งนี้ของสภาสูงก็เป็นที่จับตาอย่างมากอยู่ดี เพราะ 2 คดีที่สภาล่างกล่าวหาผู้นำประเทศคือประเด็นใหญ่ อย่างการพยายามใช้งบประมาณทางการทหารล็อบบี้ผู้นำและรัฐบาลยูเครนเข้ามาแทรกแซงการสืบสวนอดีตรองประธานาธิบดี นายโจ ไบเดน ของสหรัฐฯ และลูกชาย กรณีผลประโยชน์ทับซ้อนทางธุรกิจพลังงานในยูเครน เพื่อประโยชน์ต่อการเลือกตั้งของนายทรัมป์เองในปีนี้ และข้อหาที่ 2 คือการที่นายทรัมป์ กระทำการขัดขวางการทำงานของสภาคองเกรสเพื่อไม่ให้ดำเนินขั้นตอนการถอดถอนตนเอง ซึ่งทั้งสองอย่างนี้คือการใช้อำนาจในทางมิชอบ


AFP - ทรัมป์ ถอดถอน

ทรัมป์จะปรากฎตัวในการไต่สวนเองหรือไม่? นี่คือสิ่งที่หลายคนอยากรู้ เว็บไซต์ VOX อธิบายไว้ว่านายทรัมป์เคยพูดเองว่า 'เขาจะลองคิดดูอย่างจริงจัง' ว่าจะเข้ารับการไต่สวนด้วยตัวเองหรือไม่ แต่คนส่วนใหญ่ในกรุงวอชิงตันคาดว่าการเข้ารับการไต่สวนเองน่าจะไม่เกิดขึ้น เพราะหลายครั้งที่ทรัมป์ยืนยันว่าเขาต้องการให้สัมภาษณ์เองในกรณีปมขัดแย้งใหญ่ๆ เช่นกรณีการเข้ามาแทรกแซงทางการเมืองสหรัฐฯ จากรัสเซีย สุดท้ายสิ่งที่เกิดขึ้นก็มีเพียงแค่การส่งคำตอบที่ถูกตรวจสอบทางกฎหมายมาแล้วเป็นอย่างดีไปให้กับ โรเบิร์ต มูลเลอร์ ที่ต้องการสัมภาษณ์เขาเท่านั้น

แน่นอนว่าทีมงานด้านกฎหมายของนายทรัมป์ก็คงจะไม่อยากให้เขาเข้ารับการไต่สวนด้วนตัวเองอย่างแน่นอน และอดีตประธานาธิบดี 2 คนที่เคยผ่านประสบการณ์เดียวกันนี้ก็ตัดสินใจไม่เข้ารับการไต่สวนด้วยตัวเอง แต่ให้ทีมงานด้านกฎหมายเป็นผู้ดำเนินการแทนทั้งหมด 

อย่างไรก็ตาม นี่คือ 'โดนัลด์ ทรัมป์' ผู้นำสหรัฐฯ ที่มีแนวทางไม่เหมือนใคร และประกาศชัดเจนอยู่ตลอดเวลาว่าเขาต้องการมีบทบาทสำคัญในการถ่ายทอดความคิดของตัวเอง และในสถานการณ์นี้ค่อนข้างเป็นที่แน่ชัดแล้วว่า สภาสูงน่าจะโหวตให้ทรัมป์ได้ทำหน้าที่ต่อจนครบวาระจากเสียงข้างมากของพรรครัฐบาลรีพับลิกัน ฉะนั้น การที่ทรัมป์จะเข้ารับการไต่สวนเองและแสดงออกถึงสิ่งที่เขาต้องการจะพูดต่อหน้าสมาชิกพรรคฝ่ายค้านเดโมแคตรตและประชาชนทุกคน ก็น่าจะไม่มีอะไรน่าเป็นห่วง และเป็นการตอกย้ำถึงชัยชนะของเขาที่อาจจะเกิดขึ้นจริงๆ อย่างไรก็ตามยังไม่มีอะไรแน่นอน

เมื่อมติการยื่นถอดถอนส่งขึ้นมาถึงสภาสูง หรือ วุฒิสภาแล้ว การไต่สวนก็จะเริ่มขึ้นและจะใช้เวลาทั้งสิ้นราว 2 สัปดาห์เต็มหลังจากนี้ โดยการสืบสวนคดีการถอดถอนบุคคลสำคัญเคยมีมาแล้วเพียง 19 ครั้งเท่านั้นในประวัติศาสตร์สหรัฐฯ เป็นการไต่สวนถอดถอนผู้พิพากษา 15 ครั้ง ไต่สวนถอดถอนสมาชิกวุฒิสภา 1 ครั้ง (ซึ่งวุฒิสภาตัดสินว่า สว. ไม่สามารถถูกถอดถอนได้) ไต่สวนถอดถอนรัฐมนตรี 1 ครั้ง และไต่สวนถอดถอนประธานาธิบดีเพียง 2 ครั้ง คือนายแอนดรู จอห์นสัน ในปี 1868 (ใช้เวลา 2 เดือน) และนายบิล คลินตัน ในปี 1999 (ใช้เวลา 1 เดือน) นั่นทำให้นายทรัมป์ คือประธานาธิบดีคนที่ 3 ของสหรัฐฯ ที่ต้องเผชิญกับการไต่สวนนี้

ข่าวที่เกี่ยวข้อง :