ไม่พบผลการค้นหา
ชาวโลกเพิ่งเฉลิมฉลองอวยพรส่งความสุขปีใหม่ ค.ศ. 2020 กันไปเพียงสิบวัน แต่ปรากฏว่ามีเหตุการณ์วิกฤตเกิดขึ้นหลายเรื่อง

วิกฤตที่หนึ่ง คือ วิกฤตไฟป่าออสเตรเลีย ซึ่งเริ่มเผาผลาญพื้นที่ป่าของออสเตรเลียมาตั้งแต่กลางปี 2019 ซึ่งขณะนั้นยังไม่มีใครคาดคิดว่าจะเป็นเรื่องใหญ่ จนกระทั่งถึงเดือนพฤศจิกายน 2019 ไฟป่ารุนแรงผลาญทำลายพื้นที่เขตอนุรักษ์ทำให้โคอาล่าอย่างน้อย 300 ตัวถูกไฟคลอกตาย และโคอาล่าที่รอดชีวิตก็อยู่ในสภาพบาดเจ็บร้ายแรงจากแผลไฟไหม้ เมื่อภาพข่าวอันน่าสงสารของโคอาล่าที่แสนน่ารักเผยแพร่ออกไป ได้กลายเป็นภาพที่สะเทือนใจผู้คนทั่วโลก ทำให้โลกสนใจสถานการณ์ไฟป่าในออสเตรเลีย แต่กระนั้นก็ยังไม่ความหวังว่าทางการออสเตรเลียจะสามารถควบคุมไฟได้ก่อนปีใหม่ 

ไฟป่าออสเตรเลีย -AFP

อย่างไรก็ดี ปรากฏว่าสถานการณ์ไฟป่าหลังปีใหม่ 2020 กลับยิ่งทวีความรุนแรงขึ้นหลายเท่าจนไม่อาจควบคุมได้ กินพื้นที่เกือบ 5 หมื่นตารางกิโลเมตร ซึ่งหมายความว่ามีพื้นที่ไฟป่ากว้างกว่าประเทศเบลเยี่ยมเกินสองเท่า กินพื้นที่เกือบหมดทั้งประเทศออสเตรเลีย มีจุดลุกไหม้มากกว่าร้อยจุด และลามเข้าใกล้ตัวเมืองจนต้องอพยพประชาชนไปอยู่ตามชายหาด ท้องฟ้าเหนือกรุงแคนเบอราเมืองหลวงของออสเตรเลียกลายเป็นสีแดงอมส้ม ทางการออสเตรเลียประเมินว่ามีสัตว์ป่าเสียชีวิตเพราะไฟป่ามากกว่า 5 ล้านตัว และมีสัตว์หลายชนิดที่พบเพียงในประเทศออสเตรเลียที่เดียงในโลก ดังนั้นไฟป่าครั้งนี้จึงก่อให้เกิดการสูญพันธุ์ครั้งใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์ออสเตรเลีย เปลี่ยนแปลงระบบนิเวศน์ไปตลอดกาลอย่างไม่มีทางฟื้นกลับไปเหมือนเดิมได้อีก 

สาเหตุของไฟป่าเกิดจากความเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศของโลกที่ทำให้เกิดคลื่นความร้อนและความแห้งแล้งจัดที่สุดในรอบ 60 ปี โจมตีออสเตรเลีย นอกจากนี้ยังมีคลื่นความร้อนจากปรากฏการณ์อุณหภูมิของมหาสมุทรอินเดียเสียสมดุลที่เรียกว่า Indian Ocean Dipole หรือ IOD ทำให้ผิวน้ำทะเลของมหาสมุทรอินเดียมีอุณหภูมิแตกต่างกันมากระหว่างฟากตะวันตกกับฟากตะวันออก 

วิกฤตไฟป่าออสเตรเลียครั้งนี้ จึงทำให้ทั่วโลกตระหนักถึงความน่าสะพรึงกลัวผลของความเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศของโลก ที่เกิดจากการทำลายของมนุษย์ ประเทศต่างๆ ต่างหันไปหาทางวางแผนรับมือผลกระทบจากวิกฤตด้านสิ่งแวดล้อม

วิกฤตที่สอง คือ วิกฤตภัยแล้งในภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง ทั้งนี้ แม่น้ำโขงซึ่งเป็นแม่น้ำนานาชาติหล่อเลี้ยงประชาชน 6 ประเทศ มีระดับน้ำที่ลดต่ำจนถึงขั้นแห้งขอดจนเห็นสันดอนทรายเป็นระยะทางหลายกิโลเมตร ระดับน้ำที่จุดร่องน้ำลึกเหลือเพียง 1.6 เมตร ยิ่งเมื่อจีนกักน้ำเหนือเขื่อนในจีนเอาไว้ไม่ปล่อยน้ำลงมา สถานการณ์ยิ่งเลวร้ายลงไปเรื่อยๆ ส่งผลกระทบทั้งการเดินเรือและการประมง รวมทั้งระบบนิเวศน์ก็ถูกทำลาย ส่วนในเวียดนามซึ่งเป็นบริเวณสามเหลี่ยมปากแม่น้ำโขงประสบปัญหาน้ำเค็มจากทะเลเข้าทำลายพื้นที่เพาะปลูกเพราะแม่น้ำโขงไม่มีปริมาณน้ำจืดมากพอที่จะผลักดันน้ำเค็มจากทะเล 

แม่น้ำโขง.jpg

เมื่อมองเข้ามาที่ประเทศไทย พบว่าแม่น้ำยมซึ่งเป็นต้นน้ำสายหนึ่งของแม่น้ำเจ้าพระยา ประสบปัญหาภัยแล้งหนักจนแห้งขอดเห็นพื้นดิน ทำให้ปริมาณน้ำในแม่น้ำเจ้าพระยามีน้อยลงมากจนไม่สามารถผลักดันน้ำทะเลที่หนุนเข้าสู่แม่น้ำ ทำให้น้ำดิบในการผลิตน้ำประปามีความเค็มและทำให้น้ำประปาเค็มถึงระดับที่อาจเป็นอันตรายต่อสุขภาพถ้านำไปดื่ม นอกจากนี้ ยังมีการประกาศให้ชาวนางดทำนาปรังและเพาะปลูกพืชที่ต้องใช้น้ำมากตลอดฤดูแล้งนี้ เพื่อประหยัดน้ำในเขื่อนแต่ละแห่งที่เหลืออยู่น้อยนิด 

ปัญหาภัยแล้งที่ภูมิภาคนี้ประสบ เป็นผลส่วนหนึ่งมาจากความเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศของโลก สาเหตุเดียวกับที่ก่อให้เกิดวิกฤตไฟป่าในออสเตรเลีย แต่ประเทศในภูมิภาคนี้ยังไม่มีแผนรับมือวิกฤตภัยแล้งที่มีประสิทธิภาพ และยังขาดวิสัยทัศน์ที่จะเตรียมรับมือผลกระทบจากความเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศของโลก

วิกฤตที่สาม วิกฤตโรคระบาดอุบัติใหม่ในเอเชีย คือการพบโรคชนิดใหม่ที่เกิดจากเชื้อไวรัสประหลาดที่ไม่มีใครเคยรู้จักมาก่อน ซึ่งมีต้นทางจากเมืองอู่ฮั่น ประเทศจีน มีลักษณะคล้ายไวรัสซาร์ส หรือ โรคระบบทางเดินหายในเฉียบพลันร้ายแรง ที่เคยระบาดหนักในเอเชียเมื่อปี 2002 และ 2003 ซึ่งทำให้มีผู้เสียชีวิตในหลายประเทศจำนวนมากกว่า 700 ราย 

ไวรัส.jpg

ล่าสุดทางการจีนพิสูจน์แล้วพบว่าเชื้อโรคนี้คือเชื้อไวรัสโคโรน่าสายพันธุ์ใหม่ ทำให้ผู้ติดเชื้อมีอาการปอดอักเสบเฉียบพลันและอาจเสียชีวิตได้ในเวลาไม่กี่วัน 

การปรากฏของโรคระบาดอุบัติใหม่นี้ ทำให้หลายประเทศในแถบเอเชียประกาศใช้มาตรการฉุกเฉินตรวจสอบคัดกรองผู้โดยสารที่เดินทางจากเมืองอู่ฮั่นไปยังสนามบินของประเทศตน

ต้องจับตาดูต่อไปว่า การระบาดของไวรัสชนิดใหม่นี้จะสามารถควบคุมได้เพียงใด 

วิกฤตที่สี่ วิกฤตความขัดแย้งระหว่างสหรัฐฯ กับอิหร่าน ซึ่งยืดเยื้อเรื้อรังมาอย่างยาวนานแต่ไม่มีการปะทะกันด้วยอาวุธอย่างจริงจัง จนกระทั่งช่วงเช้าวันที่ 3 มกราคม ตามเวลาท้องถิ่นของอิรัก พลตรีคาเซ็ม สุเลมานี วัย 62 ปี ผู้บัญชาการหน่วยรบพิเศษคุดส์สังกัดกองกำลังพิทักษ์การปฏิวัติอิหร่าน ได้ถูกสังหารด้วยโดรนยิงจรวดถล่มหลายลูก ตามคำสั่งของประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ แห่งสหรัฐฯ ขณะที่พลตรีสุเลมานีอยู่ในสนามบินกรุงแบกแดดของอิรัก ทั้งนี้ เนื่องจากสหรัฐฯ มองว่านายพลสุเลมานีและอิหร่านเป็นผู้อยู่เบื้องหลังการสนับสนุนฝ่ายรัฐบาลให้สังหารฝ่ายต่อต้านและประชาชนอย่างเหี้ยมโหดสงครามกลางเมืองที่ซีเซีย สนับสนุนความขัดแย้งและกลุ่มต่อต้านในอิรัก รวมทั้งสนับสนุนกลุ่มก่อการร้ายไอเอส เป็นเหตุให้ทหารสหรัฐฯ เสียชีวิตเป็นจำนวนมากในช่วงหลายปีที่ผ่านมา นายพลสุเลมานีผู้นี้เป็นนักยุทธศาสตร์คนสำคัญที่สุดของอิหร่าน ถือเป็นมือขวาด้านความมั่นคงของ อยาตอลเลาห์ อาลี อาลี คาเมเนอี ผู้นำสูงสุดของอิหร่าน

AFP ธงสหรัฐฯ อิหร่าน ประท้วง Protest US Flag Iran

อิหร่านแสดงความไม่พอใจด้วยการชักธงสีเลือดบนยอดมัสยิดศักดิ์สิทธิ์จามคารานเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ เพื่อประกาศว่าความตายของพลตรีสุเลมานีถือเป็นความแค้นของชาติ และจะต้องได้รับการแก้แค้น เป็นการที่อิหร่านประกาศสงครามกับสหรัฐฯ อย่างเป็นทางการ ประชาชนชาวอิหร่านเข้าร่วมพิธีชักธงสีเลือดนับแสนคน ต่างตะโกนว่า “อเมริกันจงตาย” และเป็นครั้งแรกที่อยาตอลเลาห์ อาลี อาลี คาเมเนอี ผู้นำสูงสุดของอิหร่าน ร่ำไห้ออกทีวีว่าเขารู้สึกเหมือนเป็นการสูญเสียลูกชาย และของให้ประชาชนอิหร่านร่วมเศร้าโศกและล้างแค้น 

กระทรวงการต่างประเทศของสหรัฐฯ สั่งให้เจ้าหน้าที่การทูตทั้งหมดของสหรัฐฯ และพลเมืองที่ถือสัญชาติสหรัฐฯ ออกจากอิรักในทันที ในขณะที่รัฐสภาสหรัฐฯต่อว่าประธานาธิบดีทรัมป์ที่ไม่ทำการหารือต่อรัฐสภาก่อนโจมตีอิหร่าน 

ส่วนประธานาธิบดีทรัมป์ ตอบโต้ว่าถ้าอิหร่านแก้แค้น เขาจะสั่งยิงถล่มเป้าหมาย 52 จุด ทั้งสถานที่สำคัญของรัฐบาลและสถานที่สำคัญทางประวัติศาสตร์และอายธรรมของอิหร่าน ซึ่งปรากฏว่าทั่วโลกต่างวิจารณ์การประการเช่นนี้ของประธานาธิบดีทรัมป์ ว่าการประกาศโจมตีสถานที่สำคัญทางประวัติศาสตร์และอายธรรมเข้าข่ายเป็นอาชญากรสงครามตามกฎหมายระหว่างประเทศ

วันที่ 8 มกราคม อิหร่านได้ยิงขีปนาวุธพิสัยใกล้จำนวน 16 ลูก โจมตีฐานทัพของสหรัฐฯ 2 แห่ง ในอิรัก แม้ว่าจะไม่มีทหารสหรัฐฯ เสียชีวิต เพราะมีการกระจายกำลังและมีระบบเตือนภับล่วงหน้าที่มีประสิทธิภาพ 

แต่การที่อิหร่านเปิดฉากแก้แค้นนี้สร้างความตึงเครียดและตื่นตระหนกให้กับนานาประเทศทั่วโลกว่าอาจกลายเป็นสงครามครั้งใหญ่ หลายประเทศประกาศให้พลเมืองของตนเดินทางออกจากอิรัก อิหร่าน และอิสราเอล ในทันที ราคาน้ำมันและราคาทองคำในตลาดโลกพุ่งสูง สวนทางกับบรรดาตลาดหุ้นทั่วโลกที่ตกยับเยิน ซ้ำเติมเศรษฐกิจโลกที่แย่อยู่แล้วจากผลของสงครามการค้าระหว่างสหรัฐฯกับจีนในปีก่อนให้ยิ่งแย่ลงไปอีก และย่อมส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจภายในประเทศของหลายประเทศอย่างแน่นอน โดยเฉพาะประเทศที่มีรัฐบาลฉลาดน้อยไม่มีแผนเศรษฐกิจที่ฉลาดย่อมจะย่ำแย่มาก

นอกจากนี้ บรรดาผู้นำและโฆษกรัฐบาลของหลายประเทศที่เป็นพันธมิตรใกล้ชิดของสหรัฐฯ มาตลอด นอกจากนายดอน ปรมัตถ์วินัย รัฐมนตรีต่างประเทศของไทย ต่างรีบประกาศออกสื่อว่าไม่ทราบมาก่อนเลยว่าสหรัฐฯ จะสังหารพลตรีสุเลมานีแห่งอิหร่าน เพื่อ “กัน” ประเทศตัวเองออกจากการเป็นเป้าหมายการแก้แค้นของอิหร่านนั่นเอง 

วิกฤตเหล่านี้ สะท้อนว่า ปี 2020 นี้ สถานการณ์โลกรุ่มร้อนเอาเรื่อง ไม่ใช่ปีที่สุขสันต์ราบรื่นเหมือนยืนอยู่กลางทุ่งลาเวนเดอร์แต่อย่างใด