ไม่พบผลการค้นหา
บอร์ดอีอีซี ชงสัญญาร่วมทุน รฟท.-กลุ่มร่วมค้า ซีพี ลงทุนรถไฟเชื่อม 3 สนามบินเข้า ครม. 28 พ.ค. คาดลงนามสัญญากลางเดือน มิ.ย. พร้อมแจ้งความคืบหน้าพัฒนาท่าเรืออุตสาหกรรมมาบตาพุดระยะที่ 3 เร่งเครื่อง 5 โครงการหลักอีอีซีเซ็นสัญญาก่อนเริ่มรัฐบาลใหม่

นายคณิศ แสงสุพรรณ เลขาธิการ คณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (กพอ.) เปิดเผยหลังการประชุมคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (กพอ.) ครั้งที่ 5/2562 ซึ่งมี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธาน โดยการประชุมครั้งนี้ กพอ. รับทราบความคืบหน้าโครงการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานในเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) โดยมีรายละเอียด ดังนี้

1. โครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน

การรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) และ สำนักงานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (สกพอ.) ในฐานะหน่วยงานหลักร่วมกันรับผิดชอบโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน ได้ดำเนินการส่งร่างสัญญาทั้งหมด พร้อมเอกสารแนบท้ายวาระครบถ้วน ให้กับ กพอ. พิจารณาร่วมกันอีกครั้ง

ก่อนให้ รฟท. ลงนามสัญญากับเอกชนที่ได้รับคัดเลือก โดย สกพอ. ได้มีหนังสือขอความเห็นจาก กพอ. เมื่อวันที่ 22 พ.ค. 2562 และในวันที่ 24 พ.ค. 2562 กพอ. ได้ตอบกลับโดยไม่ได้มีการเปลี่ยนแปลงในสาระสำคัญของร่างสัญญาดังกล่าว ซึ่งขั้นตอนต่อไปจะเสนอให้คณะรัฐมนตรีพิจารณาให้ความเห็นชอบการร่วมลงทุน 

โดยคาดว่า รฟท.จะสามารถลงนามและได้เอกชนร่วมทุนประมาณเดือน มิถุนายน 2562

ทั้งนี้ รถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน (ดอนเมือง สุวรรณภูมิ อู่ตะเภา) มูลค่าลงทุน 182,524 ล้านบาท รฟท. จะเสนอที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เห็นชอบสัญญาการร่วมลงทุนระหว่าง รฟท. และกลุ่มซีพี ในวันพรุ่งนี้ (28 พ.ค.) และคาดว่าจะสามารถลงนามสัญญาในวันที่ 15 มิ.ย. ตามแผน 

"มั่นใจว่า การก่อสร้างจะเสร็จสิ้นภายใน 4 ปี" นายคณิศ กล่าว

นอกจากนี้ กพอ. ยังสั่งการให้ตั้งคณะอนุกรรมการการอุทธรณ์ เพื่อพิจารณาการอุทธรณ์ของเอกชนผู้ประมูล 2 โครงการ คือ สนามบินอู่ตะเภากับท่าเรือแหลมฉบัง เฟส 2 จากนั้นจะนำกลับมาเสนอที่ประชุม กพอ. อีกครั้งในเดือน มิ.ย. นี้

2.กพอ. ได้รับทราบการจัดตั้งสถาบันส่งเสริมการวิเคราะห์และบริหารข้อมูลขนาดใหญ่ภาครัฐ หรือ Government Big Data Institute (GBDi) โดยอาศัยกลไกการวิเคราะห์ สังเคราะห์ที่เรียกว่า Big Data Analytics ซึ่งจะสร้างให้เกิดประโยชน์ข้อมูลอย่างเป็นรูปธรรม เพิ่มศักยภาพการจัดเก็บ เชื่อมโยงและแลกเปลี่ยนอย่างเป็นระบบและใช้ในเชิงวิเคราะห์ โดยทีมงานสถาบันฯ ได้เริ่มพัฒนากรอบแนวทางด้านข้อมูล เพื่อการจัดสรรทรัพยากรด้านบริการสุขภาพให้เหมาะสมตรงกับความต้องการ การวิเคราะห์ข้อมูลเพื่อตอบโจทย์ให้ตรงจุด เพื่อยกระดับการบริการสาธารณสุขในเขตพื้นที่ EEC 

ส่วนกรอบดำเนินการระยะสั้น จะเน้นเรื่องการนำข้อมูลสุขภาพที่มีอยู่แล้ว เช่น ข้อมูลการเบิกจ่ายประกันสุขภาพจาก สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) สำนักงานการสารสนเทศบริการสุขภาพ (สกส.) และกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ข้อมูลประวัติผู้ป่วย ของสถานบริการที่มีความพร้อม และข้อมูลประชากร ตำแหน่งที่ตั้งโรงงานจากสำนักงานสถิติแห่งชาติมาวิเคราะห์และจัดทำระบบนำร่อง เพื่อใช้ประโยชน์ข้อมูลเบื้องต้น โดยเน้นปัญหาการจัดสรรทรัพยากรสุขภาพ และความเสี่ยงการเป็นโรค เป็นต้น และเพื่อให้เกิดรูปธรรมในการดำเนินงาน คาดว่าในช่วงเดือนมิถุนายนนี้ ทางสถาบันฯ จะนำผลวิเคราะห์การกระจายตัวของข้อมูล ปรึกษากับกระทรวงสาธารณสุข และ สปสช. 

กนอ. ต่อรองเอกชน ได้ผลตอบแทนเข้ารัฐเพิ่ม

นางสาวสมจิณณ์ พิลึก ผู้ว่าการ การนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย หรือ กนอ. กล่าวว่า จากการที่ กนอ. เจรจากับภาคเอกชนสามารถได้ข้อยุติผลตอบแทนทางการเงินและทางเศรษฐศาสตร์ของการลงทุน หรือ FIRR โครงการถมทะเลท่าเรือมาบตาพุด ระยะที่ 3 ช่วงที่ 1 โดยเอกชนยอมลดดอกเบี้ยกู้เงินมาถมทะเล พื้นที่ 1,000 ไร่ จากร้อยละ 4.8 เหลือร้อยละ 4.38 ส่งผลให้ กนอ. ได้ผลตอบแทนเพิ่มขึ้นจากเดิม ร้อยละ 9.14 เป็นร้อยละ 9.21 คิดเป็นเงินที่รัฐจะได้รับเพิ่มจากเดิม 6,606 ล้านบาท เป็น 6,721.23 ล้านบาท  

ขณะที่ เอกชนเดิมได้รับ FIRR ที่ร้อยละ 10.75 ลดลงเหลือร้อยละ 10.73 มูลค่าลดลงเหลือ 14,298.50 ล้านบาท จากเดิมได้รับ 14,371 ล้านบาท และกนอ. จากเดิมที่ต้องจ่ายเงินให้เอกชนปีละ 720 ล้านบาท ลดลงเหลือ 710 ล้านบาทต่อปี ในช่วง 30 ปีของโครงการ รวมเป็นเงิน 21,300 ล้านบาท จากเดิมภาคเอกชนเสนอให้ กนอ.ต้องจ่ายภายใน 30 ปี รวม 45,480 ล้านบาท 

หลังจากนี้ กนอ. จะต้องนำผลการพิจารณาดังกล่าวไปรับฟังความเห็นจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น สำนักงบประมาณ กระทรวงการคลัง สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ให้เรียบร้อยก่อนนำเสนอ ครม.

ทั้งนี้ คาดว่า จะสามารถนำเสนอ ครม. พิจารณาให้ความเห็นชอบภายใน 4 มิ.ย. นี้ จากนั้น คณะกรรมการจะส่งร่างสัญญาไปยังสำนักงานอัยการสูงสุดพิจารณาร่างสัญญา และนำเสนอ กพอ. เห็นชอบผลการคัดเลือกและร่างสัญญาภายในวันที่ 22 มิ.ย. และเตรียมเสนอ ครม. พิจารณาเห็นชอบผลการคัดเลือกภายใน 9 ก.ค. โดยคาดว่า จะสามารถลงนามสัญญาณร่วมลงทุนระหว่าง กนอ. -กลุ่มกิจการร่วมค้ากัลฟ์ และ พีทีที แทงค์ ภายในเดือน ก.ค. นี้

สำหรับการพัฒนาโครงการท่าเรืออุตสาหกรรมมาบตาพุดระยะที่ 3 ช่วงที่ 1 อยู่ในเขตนิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด ต.มาบตาพุด อ.เมืองระยอง จ.ระยอง บนพื้นที่ประมาณ 1,000 ไร่ มูลค่าการลงทุนรวม 55,400 ล้านบาท แบ่งเป็นการพัฒนา 2 ช่วง ประกอบด้วย

ช่วงที่ 1 การลงทุนพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน โดยภาคเอกชนที่ผ่านมาการคัดเลือกจะสามารถเข้าพัฒนาได้ภายหลังจากลงนามในสัญญาร่วมลงทุน (PPP) ซึ่งการร่วมลงทุนครั้งนี้ ภาคเอกชนจะได้สิทธิ์ในการพัฒนาพื้นที่ท่าเรือประมาณ 200 ไร่ รวมมูลค่าการลงทุน ประมาณ 47,900 ล้านบาท แบ่งเป็น กนอ. ร่วมลงทุนเป็นมูลค่าปัจจุบันสุทธิไม่เกิน 12,900 ล้านบาท ภาคเอกชน 35,000 ล้านบาท อาทิ การขุดลอก การถมทะเลพื้นที่ 1,000 ไร่ การก่อสรางเขื่อนกันคลื่น การก่อสร้างสาธารณูปโภคพื้นฐาน การติดตั้งอุปกรณ์ควบคุมการเดินเรือ ท่าเทียบเรือบริการ ท่าเรือก๊าซรองรับปริมาณการขนถ่ายก๊าซได้ 10 ล้านตันต่อปี ซึ่งคาดว่าจะเปิดให้บริการภายในปี 2568 

ช่วงที่ 2 การลงทุนพัฒนาก่อสร้างในส่วนของท่าเรือ ซึ่ง กนอ. จะออก TOR ประกาศเชิญชวนภาคเอกชนที่สนใจเข้าร่วมพัฒนาโดยเอกชน เป็นผู้ลงทุนพัฒนาท่าเรือเทียบท่าเรือสินค้าเหลวรองรับปริมาณขนถ่ายสินค้าเหลว 4 ล้านตันต่อปี คาดว่าจะเริ่มก่อสร้างปี 2566 และ เปิดให้บริการภายในปี 2568 ซึ่งจะใช้เงินลงทุนประมาณ 4,300 ล้านบาท งานก่อสร้างพื้นที่หลังท่าจำนวน 150 ไร่ เงินลงทุน 3,200 ล้านบาท และคาดว่า จะสามารถรองรับการขนถ่ายก๊าซธรรมชาติและสินค้าเหลวได้เพิ่มอีก 14 ล้านตันต่อปี ในอีก 30 ปีข้างหน้า 

อย่างไรก็ตาม ทั้ง 2 โครงการเป็นส่วนหนึ่งของโครงการลงทุนภายใต้โครงการเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) ตามที่สำนักงานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (บอร์ด EEC) เสนอ รวม 5 โครงการ ได้แก่ โครงการศูนย์ซ่อมบำรุงอากาศยานอู่ตะเภา, โครงการสนามบินอู่ตะเภาและเมืองการบินภาคตะวันออก, โครงการพัฒนาท่าเรือแหลมฉบัง ระยะที่ 3, โครงการพัฒนาท่าเรืออุตสาหกรรมมาบตาพุด ระยะที่ 3 และ โครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อมต่อ 3 สนามบิน (ดอนเมือง-สุวรรรภูมิ-อู่ตะเภา)

ทั้ง 5 โครงการ มีมูลค่าการลงทนุทั้งสิ้น 6.5 แสนล้านบาท

ข่าวที่เกี่ยวข้อง :