ไม่พบผลการค้นหา
'วอยซ์ ออนไลน์' รวบรวม 10 ที่สุดแห่งปี 2562 ในรอบ 1 ปีของสภาผู้แทนราษฎรที่มาจากการเลือกตั้งครั้งแรกรอบ 5 ปี

หลังการเลือกตั้งในรอบครึ่งทศวรรษ สภาผู้แทนราษฎรกลับมาเป็นกลไกสำคัญของระบอบประชาธิปไตยในประเทศไทยอีกครั้ง หลังผ่านพ้นการทำหน้าที่ไป 6 เดือน 'วอยซ์ ออนไลน์' ขอรวบรวมทั้งบุคคลและเหตุการณ์ "ที่สุด" ที่เกิดขึ้นดังนี้ 

ชวน หลีกภัย

1.เก๋าที่สุด - ชวน หลีกภัย ประธานสภาผู้แทนราษฎร 

โชว์เขี้ยวลากดินตั้งแต่เปิดประชุมสภาผู้แทนราษฎรครั้งแรก ยึดเก้าอี้ประมุขฝ่ายนิติบัญญัติไปต่อหน้าต่อตาจากพรรคพลังประชารัฐแกนนำจัดตั้งรัฐบาล คุมเกมในสภาได้อยู่หมัด แทบไม่เกิดภาพ ส.ส.ไม่เคารพประธานสภาฯ คนนี้ให้เห็น ขณะเดียวกัน ประธานชวน ยังมีระยะห่างจากรัฐบาล ในฐานะอดีตนายกรัฐมนตรี เคย ขอ ส.ส. อย่านำไปเปรียบเทียบกับพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา  

สมศักดิ์ สุชาติ สามมิตร ณัฏฐพล พลังประชารัฐ

2.อกหักที่สุด - สุชาติ ตันเจริญ รองประธานสภาผู้แทนราษฎรคนที่ 1 

ปล่อยข่าวสะพัดก่อนเคาะประธานสภาผู้แทนราษฎรว่า "พ่อมดดำ" มาวินชัวร์แน่ในเก้าอี้ประมุขนิติบัญญัติของกลุ่ม "สามมิตร" มีเสียงของพรรคพลังประชารัฐหนุนหลังเพียบ แต่ต้องแต่งตัวรอเก้อหลังเจอยี่ห้อพรรคประชาธิปัตย์ พรรคที่มีเสียงในสภา 53 เสียง โชว์บทเขี้ยวลากดินต่อรองขั้นเทพ เดินเกมกำลังภายในผลักดัน "นายหัวชวน" เจ้าของฉายาใบมีดโกนขึ้นสนิมที่สื่อรัฐสภาเพิ่งมอบให้ล่าสุดเข้าวินประมุขฝ่ายนิติบัญญัติแทน ทำให้ 'สุชาติ ตันเจริญ' ต้องหยุดอยู่เพียงเก้าอี้ตัวเดิมคือ รองประธานสภาฯ คนที่ 1 เป็นครั้งที่สอง 

ธนาธร ปิยบุตร อนาคตใหม่ ยกมือ ยุติการปฏิบัติหน้าที่

3.สั้นที่สุด - ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคอนาคตใหม่  

สั้นที่สุด คือ เวลาที่อยู่ในห้องประชุมสภาผู้แทนราษฎร เพียง 1 วัน กับอีกถ้อยคำเพียง 3 ประโยค ในวันเปิดประชุมสภาฯ เพื่อเลือกประธานสภาฯ ก็ทำให้คนไทยทั้งประเทศจดจำผู้นำแห่งพรรคอนาคตใหม่ ไม่มีวันลืม นี่คือความหวังในวันข้างหน้า แสดงท่าทียกระดับสภาอันทรงเกียรติ ด้วยการขอตัวลาสภาฯ ด้วยการโค้งคำนับเป็นครั้งสุดท้ายในการทำหน้าที่ ส.ส. หลังถูกศาลรัฐธรรมนูญสั่งหยุดปฏิบัติหน้าที่จากการถือหุ้นสื่อ บริษัท วี - ลัค มีเดีย จำกัด เรียกเสียงปรบมือจาก ส.ส.ซีกฝ่ายค้านลั่นห้องประชุมสภาฯ ชั่วคราว ทีโอที จน 'ชัย ชิดชอบ' ประธานในที่ประชุมชั่วคราว ต้องออกเสียงปรามว่า "ที่นี่ไม่ใช่โรงละคร"

ส.ว.ทหาร-บทเฉพาะกาล-รัฐสภา  วุฒิสภา

4.ฝืนที่สุด - ที่ประชุมร่วมกันของรัฐสภา (ส.ส. - ส.ว.) เทเสียงโหวต 'ประยุทธ์' คว้านายกฯ 500 เสียง 

เรียกว่า "ตู่จะเอาให้ได้" สารพัดลูกเล่นตุกติกก่อน-หลังเลือกตั้ง ดึงดันคิดคะแนนแจกพรรคเล็กเบี้ยหัวแตกสุดท้ายก็ได้แค่เสียงในสภาผู้แทนราษฎรแบบปริ่มน้ำ 250 เสียง แต่ "รัฐธรรมนูญดีไซน์มาเพื่อเรา" บริวารลากตั้ง ส.ว. ฉายา 'สภาทหารเกณฑ์' ก็เทให้อีก 250 เสียง รวมเป็น 500 เสียง ผลักดันให้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นนายกรัฐมนตรีอีกสมัย แม้พรรคพลังประชารัฐจะเป็นพรรคที่มีเสียงในสภาฯ เป็นอันดับ 2 แต่สามารถกวาดต้อนเสียงจากพรรคร่วมรัฐบาลได้ถึง 19 พรรค แถมพ่วงด้วยสมญานาม "นายกฯ 500" จนสิ้นสุดศักราชปี 2562

9พรรคเล็ก

5.ส้มหล่นที่สุด - 10 พรรคจิ๋ว 

บรรดาพรรคการเมืองที่นั่งเดียวในสภาได้เป็น ส.ส.ปัดเศษ จากผลพวงการคำนวณสูตรพิสดาร ขณะที่ ส.ส. พรรคอื่นต้องมีเสียงยืนพื้น 7.1 หมื่น ต่อ ส.ส. 1 คน แต่ 10 พรรคจิ๋ว คะแนนต่ำเพียง 3 หมื่นต้นๆ ก็ได้เป็นผู้แทนเข้าสภาฯ มานั่งต่อรองก่อนยกมือช่วยกันตั้งรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นผลสำเร็จ ขณะที่ ส.ส.พรรคเล็ก บางพรรคที่ประกาศเป็นพรรคฝ่ายค้านอิสระ ก็ทำหน้าที่เพียงยื่นญัตติตรวจสอบรัฐบาล โชว์ลีลาอภิปรายท้วงติงรัฐบาลให้สมบทบาท แต่ท้ายที่สุดก็ยกเลิกมติถอนตัวรัฐบาลกลับมาร่วมรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ เมื่อเจออิทธิฤทธิ์เมนู หูฉลามในเลี้ยงพรรคร่วมรัฐบาลในช่วงปลายปี 2562 ปิดท้ายด้วยการที่ พล.อ.ประยุทธ์ จับหัวหน้าพรรคเล็กพรรคหนึ่งล็อกคอโชว์สื่อ ทีเดียวอยู่หมัดเปลี่ยนใจกลับมาร่วมเรือแป๊ะ รัฐบาลเสียงปริ่มน้ำทันที

ประยุทธ์ สภา งบประมาณ emplate.jpg

6.เลี่ยงที่สุด - นายกฯ เมินแจงถวายสัตย์ฯ ไม่ครบ 

ฝ่ายค้านเดินเกมเต็มสูบเปิดอภิปรายทั่วไปดึง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรมว.กลาโหม เข้ามาชี้แจงกลางรัฐสภา ในเวทีอภิปรายทั่วไป ตามมาตรา 152 ของรัฐธรรมนูญ กรณี พล.อ.ประยุทธ์นำ ครม. ถวายสัตย์ฯ ไม่ครบถ้วน ตลอดการชี้แจง 28 นาทีของ พล.อ.ประยุทธ์ ไม่มีถ้อยคำที่เกี่ยวข้องกับการถวายสัตย์ฯ แม้แต่คำเดียว แต่เลือกที่จะชี้แจงประเด็นรัฐธรรมนูญ และตัวเลขเศรษฐกิจแทน

ปิยบุตร สภา อนาคตใหม่

7.คมที่สุด - ปิยบุตร แสงกนกกุล ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคอนาคตใหม่

"ออกรัฐธรรมนูญชั่วคราว ออกประกาศ ออกคำสั่ง คสช.ให้มันมีผลเป็นกฎหมาย ท่านยังทำอะไรต่อมิอะไรอีกหลายๆอย่างที่ไม่แยแสรัฐธรรมนูญ"

คือ วาทศิลป์ที่ 'ปิยบุตร' อภิปรายในสภาฯ ในญัตติเปิดอภิปรายทั่วไป กรณี ครม.ถวายสัตย์ฯไม่ครบถ้วน กระตุกจิตสำนึก นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรีฝ่ายกฎหมายให้รีบออกจากเรือแป๊ะและกลับมาอยู่บนเรือแห่งหลักการความยุติธรรม ยุติการช่วยเหลือทางข้อกฎหมาย พร้อมทั้งฝากถ้อยคำนิยามในพฤติกรรมของรัฐบาลสืบทอดอำนาจ คสช. ว่าเป็น "โรคไม่แยแสรัฐธรรมนูญ" เพราะไม่ปฏิบัติตามแม้กระทั่งกฎหมายสูงสุดที่ร่างกันขึ้นมาเอง คอยเรียกร้องให้คนอื่นทำตามกฎหมาย ทั้งที่ คสช. เข้าสู่อำนาจด้วยวิถีทางฉีกรัฐธรรมนูญ ออกประกาศ คำสั่ง คสช.

ประชุมสภา-ม.44-กวินนาถ

8.สวนที่สุด กวินนาถ ตาคีย์ ส.ส.ชลบุรี  

'กวินนาถ ตาคีย์' ส.ส.ชลบุรี ถือเป็น ส.ส.ลำดับต้นที่โหวตสวนพรรคที่ตัวเองสังกัดมากกว่า ส.ส.คนอื่นที่ถูกสื่อเปรียบว่าเป็น ส.ส.งูเห่า โดย 'กวินนาถ' เคยโหวตสวนมติพรรคอนาคตใหม่ถึง 5 ครั้ง จนที่สุดก็ถูกพรรคอนาคตใหม่ขับพ้นพรรค พร้อมเพื่อน ส.ส.อีก 3 คน 

นี่คือสถิติที่ 'กวินนาถ' เคยโหวตสวนพรรคอนาคตใหม่

- เห็นด้วยกับ พ.ร.ก.โอนอัตรากำลังพลและงบประมาณบางส่วนของกองทัพบก กองทัพไทย กระทรวงกลาโหม ไปเป็นของหน่วยบัญชาการถวายความปลอดภัยรักษาพระองค์ ซึ่งเป็นส่วนราชการในพระองค์ พ.ศ.2562

-รับหลักการร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2563

-ไม่เห็นด้วยให้นําญัตติเรื่อง “ขอให้สภาผู้แทนราษฎร ตั้ง กมธ.วิสามัญศึกษาหลักเกณฑ์และวิธีการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2560 ขึ้นมาพิจารณา ต่อ พ.ร.ก.แก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติส่งเสริมการพัฒนาและคุ้มครองสถาบันครอบครัว พ.ศ.2562

-งดออกเสียง พ.ร.ก.แก้ไขเพิ่มเติม พ.ร.บ.ส่งเสริมการพัฒนาและคุ้มครองสถาบันครอบครัว พ.ศ. 2562 พ.ศ. 2562 

- แสดงตนเป็นองค์ประชุมในญัตติด่วน เรื่องให้สภาผู้แทนราษฎรตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญ (กมธ.) วิสามัญเพื่อศึกษาผลกระทบจากการกระทำ ประกาศ และคำสั่งของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ และการใช้อำนาจของหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ตามมาตรา 44 แต่ออกเสียงเห็นด้วยกับญัตติดังกล่าว

มาตรการที่ พรรคอนาคตใหม่งัดขึ้นมาใช้ถือเป็นการเชือดไก่ให้ลิงดู สำหรับผู้แทนที่คิดขายตัวจะได้มีบทเรียน หากใครคิดทรยศหักหลังประชาชน ทำตัวแบบการเมืองเก่า ก็ต้องเจอไม้แข็ง

เสรีพิศุทธ์ สภา

9.ดุดันที่สุด - พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ เตมียเวส  

เป็นใครอื่นไม่ได้นอกจาก วีรบุรุษนาแก สับแหลกพวกกบฏฉีกรัฐธรรมนูญตั้งแต่ก่อนเลือกตั้ง หลังเลือกตั้งก็ไม่เปลี่ยนแปลงสไตล์ของการใช้วาทะที่ดุเดือด จนทำให้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และ รมว.กลาโหม ถึงขั้นตบะแตกกลางสภาฯ ขณะแถลงนโยบายรัฐบาลต่อรัฐสภา โดย พล.อ.ประยุทธ์ ถึงขั้นประกาศตัดพี่ตัดน้องกลางสภา ไม่เพียงแค่นี้ ผู้นำจากพรรคเสรีรวมไทยยังเดินหน้าตรวจสอบอย่างไม่เกรงใจรุ่นน้องที่เป็นถึงอดีตผู้นำรัฐประหาร ไม่ว่าจะใหญ่มาจากไหน เดินหน้าเรียก พล.อ.ประยุทธ์ มาชี้แจงในกรรมาธิการให้ได้ในประเด็นถวายสัตย์ฯ ไม่ครบถ้วน จนพรรคพลังประชารัฐต้องส่ง ส.ส.ในสังกัด ทั้ง สิระ เจนจาคะ ส.ส.กทม. น.ส.ปารีณา ไกรคุปต์ ส.ส.ราชบุรี และไพบูลย์ นิติตะวัน ส.ส.บัญชีรายชื่อ มาคอยสกัด พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์

ประชุมสภา-ม.44

10.ผวาที่สุด - ล้มตั้ง กมธ.วิสามัญสอบ ม.44

หนีไม่พ้นอาการของซีกรัฐบาลที่เคยชินจากครั้งยึดอำนาจมีสภาตรายางคอยหนุนหลังไม่เคยได้รับการตรวจสอบ แต่เมื่อหนีไม่พ้นการเลือกตั้ง ก็ย่อมเป็นธรรมดาที่จะต้องเจอกับการตรวจสอบของฝ่ายค้าน ถึงขั้นที่ ส.ส.รัฐบาลแพ้โหวตฝ่ายค้านกลางสภาฯในญัตติด่วน เรื่องให้สภาผู้แทนราษฎรตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญ (กมธ.) วิสามัญเพื่อศึกษาผลกระทบจากการกระทำ ประกาศ และคำสั่งของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ และการใช้อำนาจของหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ตามมาตรา 44 แต่ ส.ส.ซีกรัฐบาลขอล้างผลโหวตใหม่ด้วยการงัดข้อบังคับการประชุุมสภาฯ ขึ้นขอให้นับคะแนนใหม่ จนถึงขั้นฝ่ายค้านรับไม่ได้กับบรรทัดฐานดังกล่าวต้องวอล์กเอาต์ เป็นเหตุให้องค์ประชุมล่มถึง 2 ครั้ง ท้ายที่สุดรัฐบาลก็ชนะโหวตโดยไม่มีฝ่ายค้านอยู่ในห้องประชุม ทำให้ กมธ.วิสามัญชุดดังกล่าวไม่สามารถจัดตั้งได้ตามความต้องการของรัฐบาล

ข่าวที่เกี่ยวข้อง