ไม่พบผลการค้นหา
นายกฯ คนใหม่ของมาเลเซีย 'มูห์ยิดดิน ยัสซิน' เข้าทำงานหลังเจอชุมนุมต่อต้าน-ถูกวิจารณ์ว่าเป็น 'คนทรยศ' เพราะรับตำแหน่งหลังเจรจากับอดีตพรรครัฐบาลที่พัวพันคดีทุจริต สวนทางนโยบายหาเสียงที่เคยระบุว่า "จะปฏิรูปการเมือง"

มูห์ยิดดิน ยัสซิน อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยของมาเลเซีย วัย 72 ปี เข้าทำงานอย่างเป็นทางการวันแรกในฐานะ 'นายกรัฐมนตรีมาเลเซียคนที่ 8' เมื่อวันที่ 2 มี.ค.2563 โดยเป็นความคืบหน้าล่าสุดของการเมืองมาเลเซีย นับตั้งแต่เกิดรอยร้าวภายใน 'แนวร่วมแห่งความหวัง' หรือ 'ปากาตัน ฮารัปปัน' (PH) พันธมิตรทางการเมืองที่ชนะการเลือกตั้งเมื่อปี 2561 จึงดูเหมือนว่ามาเลเซียกำลังจะกลับเข้าสู่วังวนความขัดแย้งทางการเมืองอีกครั้ง ก่อนหน้านี้ มูห์ยิดดินเป็นประธานพรรค 'เบอร์ซาตู' ซึ่งเขาร่วมก่อตั้งกับ 'มหาเธร์ โมฮัมหมัด' อดีตนายกรัฐมนตรี ขณะที่ชนวนเหตุตึงเครียดทางการเมืองมาเลเซียระลอกใหม่เกิดขึ้นเมื่อมหาเธร์ถูกกดดันจากพรรค PKR ของ 'อันวาร์ อิบราฮิม' ผู้นำแนวร่วม PH เพื่อให้ตอบคำถามว่าเมื่อไหร่จึงจะส่งต่ออำนาจบริหารประเทศและตำแหน่งนายกฯ ให้แก่อันวาร์ตามที่เคยให้คำมั่นสัญญากันเอาไว้ระหว่างหาเสียงเลือกตั้งครั้งที่ผ่านมา

ก่อนหน้านี้มหาเธร์เคยบอกว่าตนเองอาจจะอยู่ในตำแหน่งราว 2 ปี จึงจะหลีกทางให้อันวาร์ขึ้นเป็นผู้นำ เพื่อผลักดันเรื่องการแก้ไขรัฐธรรมนูญและปฏิรูปการเมืองต่อไป แต่หลังจากนั้นไม่นานก็ออกมาบอกว่าเขาอาจจะอยู่ในตำแหน่งนานกว่าที่คิด คือ ประมาณ 3 ปี

อย่างไรก็ตาม หลังมีการเจรจากันอย่างเคร่งเครียดล่าสุดเมื่อวันที่ 22-23 ก.พ.ที่ผ่านมา ระหว่างพรรคร่วมรัฐบาลที่เป็นพันธมิตรทางการเมืองของ PH มหาเธร์ก็ได้ประกาศลาออกจากตำแหน่งเมื่อวันที่ 24 ก.พ. ทำให้สื่อบางสำนักวิจารณ์ว่านี่เป็นการรัฐประหารตัวเองเพื่อต่อเวลาทางการเมือง


ไม่ได้ทรยศ แต่ทำเพื่อ "ยุติความขัดแย้งทางการเมืองที่ยืดเยื้อ"

เมื่อมหาเธร์ประกาศลาออกจากตำแหน่งนายกฯ มูห์ยิดดินก็ประกาศถอนตัวจากแนวร่วมแห่งความหวัง (PH) และหันไปเจรจาร่วมมือกับพรรคอัมโน (UMNO) ที่เคยเป็นขั้วตรงข้าม และพรรคปาส (PAS) ซึ่งเป็นพรรคที่มีแนวคิดสนับสนุนอิสลามนิยม หลังจากนั้นจึงประกาศว่าเขามีเสียงสนับสนุนจากพรรคการเมืองที่มี ส.ส.รวมกัน 112 เสียง เกินกึ่งหนึ่งของ ส.ส.ในสภาทั้งหมด 222 คน และมีการเคลื่อนไหวจากคนกลุ่มนี้เพื่อเสนอชื่อเขารับตำแหน่งนายกฯ แทนมหาเธร์

AFP-Muhyiddin Yassin-มูห์ยิดดิน ยัสซิน-นายกรัฐมนตรีมาเลเซียคนใหม่ที่มาแทนมหาเธร์ แถลงข่าวพร้อมครอบครัว 29 ก.พ.2563.jpg
  • มูห์ยิดดิน ยัสซิน แถลงข่าวพร้อมครอบครัว ก่อนรับตำแหน่งนายกฯ มาเลเซียคนที่ 8

หลังจากนั้น สมเด็จพระราชาธิบดีฯ ทรงประกาศแต่งตั้งให้มูห์ยิดดินเป็นนายกฯ คนใหม่ แต่เขากลับถูกประณามจากทั้งมหาเธร์และสมาชิก PH ว่าเป็น 'ผู้ทรยศ' ไปร่วมมือกับพรรคอัมโนที่เคยผนึกกำลังโค่นล้มมาก่อน

มูห์ยิดดินประกาศในวันที่เข้าดำรงตำแหน่งนายกฯ อย่างเป็นทางการว่า เขาไม่ใช่ผู้ทรยศ และ ไม่ได้อยากจะเป็นนายกฯ แต่ต้องการนำพาประเทศไปให้พ้นความขัดแย้งทางการเมืองที่ยืดเยื้อมานาน แต่ประชาชนจำนวนมากที่เคยลงคะแนนให้กับ PH ออกมาชุมนุมประท้วงต่อต้านมูห์ยิดดิน เพราะไม่พอใจที่เขาไม่รักษาคำพูดว่าจะปราบปรามการทุจริตซึ่งเคยให้ไว้เมื่อตอนหาเสียง แต่กลับไปเข้าร่วมกับพรรคอัมโนที่เคยมีข่าวอื้อฉาวเรื่องการทุจริตเสียเอง

ทั้งนี้ รัฐบาลพรรคอัมโนและแนวร่วมแห่งชาติ (BN) ที่เคยปกครองประเทศมานาน 60 ปี 'พ่ายแพ้' ในการเลือกตั้งเมื่อปี 2561 หลังประชาชนจำนวนมากออกมาชุมนุมเรียกร้องการปราบปรามทุจริตและปฏิรูปทางการเมือง ซึ่งพรรค PKR ของอันวาร์ และพรรคเบอร์ซาตูของมหาเธร์ รวมถึงพรรคการเมืองอื่นๆ อย่าง DAP, Amanah ประกาศละวางความไม่ลงรอยกัน หันมาร่วมมือในนาม 'แนวร่วมแห่งความหวัง' เพื่อโค่นพรรคอัมโน และชูนโยบายปฏิรูปการเมืองและรัฐธรรมนูญ จนกระทั่งสามารถคว้าชัยชนะ จัดตั้งรัฐบาลผสมได้สำเร็จ

หลังจากนั้น อดีตนายกฯ นาจิบ ราซัก และเจ้าหน้าที่รัฐบาลระดับสูงหลายรายที่เป็นสมาชิกพรรคอัมโน รวมถึงมหาเศรษฐี-ข้าราชการ-นักธุรกิจ ต่างถูกจับกุม ตั้งข้อหา และถูกไต่สวนในข้อหาทุจริตเงินกองทุน 1MDB การที่มูห์ยิดดินกลับไปสานสัมพันธ์ทางการเมืองกับสมาชิกพรรคอัมโนอีกครั้งในตอนนี้ จึงถูกมองว่าเป็น 'การทรยศ' ต่อเสียงประชาชนที่เคยออกมาลงคะแนนให้แนวร่วม PH อย่างไม่น่าให้อภัย

ด้วยเหตุนี้ มูห์ยิดดินจึงได้ประกาศผ่านสื่อว่าเขาจะเลือกคนที่มีประวัติสะอาดและมีความสามารถมารับตำแหน่งในคณะรัฐมนตรีชุดใหม่ และจะยุติความขัดแย้งทางการเมืองที่ยืดเยื้อมานาน


รอยร้าวใน 'แนวร่วมแห่งความหวัง'

ไม่ใช่เพียงแค่มูห์ยิดดินที่ถูกกล่าวหาว่าทรยศ แต่สมาชิกพรรค PKR ของอันวาร์ 11 คน ซึ่งรวมถึง 'อัซมิน อาลี' รองหัวหน้าพรรค PKR ก็ถูกขับออกจากพรรค และถูกประณามว่าเป็นผู้ทรยศเช่นกัน หลังจากทั้ง 11 คนถูกเปิดโปงว่าไปเจรจากันแบบลับๆ กับสมาชิกพรรคฝ่ายค้านที่โรงแรมเชอราตันเมื่อวันที่ 23 ก.พ. โดยสื่อมาเลเซียคาดว่านั่นคือการหยั่งเสียงว่าใครบ้างที่จะสนับสนุนมูห์ยิดดินเป็นนายกฯ แทนมหาเธร์

AFP-ภาพอดีต มูห์ยิดดิน ยัสซิน (ซ้าย) อันวาร์ อิบราฮิม (กลาง) มหาเธร์ โมฮัมหมัด (ขวา) มาเลเซีย.jpg
  • มูห์ยิดดิน ยัสซิน (ซ้าย) อันวาร์ อิบราฮิม (กลาง) มหาเธร์ โมฮัมหมัด (ขวา) ถ่ายภาพร่วมกันเมื่อปี 2561

'การพูดคุยแบบปิดลับที่โรงแรมเชอราตัน' เป็นเรื่องอื้อฉาวสวนมติพรรค PKR ทำให้ที่ประชุมมีการลงมติขับสมาชิกทั้ง 11 คนออกไป แต่ก็ส่งผลกระทบให้พรรค PKR มีเสียงในสภาลดลง ทั้งยังไม่อาจระบุได้ว่าจะมีสมาชิกพรรคอื่นๆ ที่เป็นพันธมิตร PH เปลี่ยนใจไปเข้าร่วมกับพรรคเบอร์ซาตูฝั่งที่สนับสนุนมูห์ยิดดินอีกหรือไม่ ด้วยเหตุนี้ ประชาชนผู้สนับสนุนพรรค PKR จำนวนหนึ่งที่ไม่พอใจการแตกขั้ว จึงได้รวมตัวกันโห่ไล่อัซมินและพวก บริเวณหน้าที่ทำการพรรคที่เปตาลิงจายาเมื่อวันที่ 1 มี.ค. พร้อมตะโกนคำว่า 'ทรยศ' ใส่หน้า


ส่อเค้า 'การเมืองปั่นป่วน' ไม่จบง่ายๆ

แม้ว่ามูห์ยิดดินจะเข้าพิธีปฏิญาณตนและเข้ารับตำแหน่งนายกฯ เป็นที่เรียบร้อยแล้ว แต่กำหนดประชุมสภาที่จะเริ่มขึ้นในวันที่ 9 มี.ค. มีเรื่องที่ต้องจับตามอง เพราะมหาเธร์ประกาศผ่านสื่อว่าเขายังเป็นผู้ที่มีเสียงสนับสนุนข้างมากจากสมาชิกพรรคเบอร์ซาตูและพรรคอื่นๆ ทั้งยังกล่าวหาว่ามูห์ยิดดิน 'กล่าวเท็จ' ขณะเข้าเฝ้าสมเด็จพระราชาธิบดีฯ โดยอ้างว่าตนเองเป็นผู้ที่ได้รับเสียงสนับสนุนข้างมาก และเขาอาจยื่นญัติติอภิปรายไม่ไว้วางใจมูห์ยิดดินในสภา เพราะการเข้ารับตำแหน่งของเขาไม่ชอบด้วยกฎหมาย แต่เกิดจากการพูดคุยลับหลังพรรคร่วมรัฐบาล ส่วนความเคลื่อนไหวในสื่อสังคมออนไลน์มาเลเซียที่ชัดเจน คือ ผู้ใช้ทวิตเตอร์ต่างพากันวิพากษ์วิจารณ์มูห์ยิดดิน พร้อมติดแฮชแท็ก #NotMyPM ซึ่งเป็นการปฏิเสธว่า มูห์ยิดดินไม่ใช่นายกรัฐมนตรีที่พวกเขายอมรับ และแฮชแท็กดังกล่าวติดเทรนด์ทวิตเตอร์ในมาเลเซียอยู่พักใหญ่ๆ

AFP-ชาวมาเลเซียประท้วงต้านนายกฯ ใหม่ มูห์ยิดดิน ยัสซิน ที่ได้รับแต่งตั้งมาแทนมหาเธร์ เมื่อ 1 มี.ค.2563.jpg
  • ผู้ชุมนุมต่อต้านมูห์ยิดดินเป็นนายกฯ เมื่อวันที่ 1 มี.ค. ชูป้ายประณามว่าเขาเป็น 'ผู้ทรยศ'

มูห์ยิดดินจึงออกมาแถลง ขอให้ประชาชนไว้วางใจในประสบการณ์ทางการเมืองอันยาวนานกว่า 40 ปีของตนเอง และขอให้เชื่อมั่นว่าเขาจะทุ่มเททั้งร่างกายและจิตวิญญาณเพื่อนำมาเลเซียไปสู่ความยิ่งใหญ่

ด้วยเหตุนี้ นักวิเคราะห์จากสื่อต่างประเทศรายงานว่า ความขัดแย้งทางการเมืองมาเลเซียจะยังไม่จบง่ายๆ แน่นอนและอาจจะนำไปสู่ความปั่นป่วนทางการเมือง รวมถึงเป็นชนวนเหตุแห่งการชุมนุมประท้วงใหญ่เหมือนที่เคยเกิดขึ้นมาก่อนแล้วในสมัยของอดีตรัฐบาลนาจิบ ราซัก

ที่มา: The Guardian/ Malay Mail/ The New York Times/ Reuters/ Straits Times

ข่าวที่เกี่ยวข้อง: