ไม่พบผลการค้นหา
กลายเป็น ‘ดาบสองคม’ หลัง ผบ.เหล่าทัพ-ปลัดกลาโหม เคยประกาศคืนเงินและไม่รับเงินเดือน ส.ว. โดยเป็นความตั้งใจร่วมกันของ ผบ.เหล่าทัพ ไม่ต้องการรับเงินเดือน 2 ทาง

ซึ่งได้รับการยืนยันว่า ไม่เกี่ยวข้องกับเรื่องการเมืองแต่อย่างใด หลังมีการมองว่า ผบ.เหล่าทัพ เป็น ส.ว. ตามที่รัฐธรรมนูญ 2560 ยุค คสช. บัญญัติไว้โดยตำแหน่ง และการไม่รับเงินเดือนเช่นนี้ เป็นการ ‘เอาใจออกห่าง’ จาก ‘บิ๊กตู่’ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯ และรมว.กลาโหม หรือไม่ เพราะในช่วงเดือน มี.ค. ก่อนมีการใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน นั้น รัฐบาลมีอาการ ‘เป๋’ ไม่น้อยกับการแก้ปัญหาการแพร่ระบาดโควิด-19

ล่าสุด iLaw มีการออกมาเปิดเผยสถิติการลงมติของ ส.ว. โดย 5 ผบ.เหล่าทัพ-ปลัดกระทรวงกลาโหม มีชื่อติดอันดับต้นๆ ส.ว. ที่ขาดลงมติมากที่สุดจากทั้งหมด 145 ครั้ง ได้แก่ ‘บิ๊กลือ’ พล.ร.อ.ลือชัย รุดดิษฐ์ ผบ.ทร. ขาด 144 ครั้ง

‘บิ๊กแดง’พล.อ.อภิรัชต์ คงสมพงษ์ ผบ.ทบ. ขาด 143 ครั้ง

สำหรับ ‘บิ๊กต่าย’ พล.อ.อ.ชัยพฤกษ์ ดิษยะศริน อดีต ผบ.ทอ. ที่เกษียณฯ ก.ย. 2562 ส่งไม้ต่อยัง ‘บิ๊กนัต’พล.อ.อ.มานัต วงษ์วาทย์ ผบ.ทอ. เป็น ส.ว. แทน โดยทั้ง 2 คน รวมกันขาด 143 ครั้ง ‘บิ๊กกบ’พล.อ.พรพิพัฒน์ เบญญศรี ผบ.ทหารสูงสุด ขาด 136 ครั้ง

‘บิ๊กณัฐ’ พล.อ.ณัฐ อินทรเจริญ ปลัดกระทรวงกลาโหม ขาด 135 ครั้ง ‘บิ๊กแป๊ะ’พล.ต.อ.จักรทิพย์ ชัยจินดา ผบ.ตร. ขาด 99 ครั้ง

อภิรัชต์ ลือชัย กองทัพ ทหาร ผู้นำเหล่าทัพ งบประมาณ สภา 8AF-4B9C-86CA-D68CCB9B580E.jpeg

ซึ่ง ผบ.เหล่าทัพ ก็ไม่ได้ออกมาชี้แจงในกรณีนี้ มีเพียง ‘เสธ.ต้อง’ พล.ท.คงชีพ ตันตระวาณิชย์ โฆษกกระทรวงกลาโหม ออกมาชี้แจงแทน โดยเชื่อกันว่าได้รับ ‘ไฟเขียว’ ให้เป็นตัวแทนในการชี้แจงแทน ว่า ผบ.เหล่าทัพ เข้าร่วมประชุมให้ข้อคิดเห็นที่เป็นประโยชน์ทุกครั้ง หากไม่อยู่ในห้องประชุม ก็ติดตามถ่ายทอดการประชุมตลอด

“หากมีเหตุจำเป็น หรือมีราชการสำคัญได้มีการลาประชุมอย่างถูกต้อง ไม่ได้ขาดประชุมหรือละเลยหน้าที่แต่อย่างใด สำหรับการลงมตินั้นเป็นการใช้สิทธิตามบทบาท โดยการพิจารณาไม่ใช้สิทธิก็เพื่อไม่ให้ขัดหลักการประชาธิปไตย ในฐานะข้าราชการที่ปฏิบัติหน้าที่นิติบัญญัติ สอดคล้องกับที่ทุกคนได้สละสิทธิการรับเงินเดือนส.ว.ก่อนหน้านี้แล้ว” พล.ท.คงชีพ กล่าว

ทั้งนี้ ผบ.เหล่าทัพ-ปลัดกลาโหม ถือเป็น 6 ตำแหน่งที่เป็น ‘ข้าราชการประจำ’ ที่มาเป็น ส.ว. และดำรงตำแหน่งตามที่รัฐธรรมนูญ 2560 บัญญัติไว้ ปฏิเสธไม่ได้ว่า ผบ.เหล่าทัพ มีภารกิจจำนวนมาก จึงทำให้ขาดการมาลงมติ เพราะในบางวันมีการลงมติหลายครั้ง จึงทำให้จำนวนการขาดลงมติมีจำนวนมากตามไปด้วย จึงเกิดคำถามว่าจะให้ ผบ.เหล่าทัพ พ้นจากการเป็น ส.ว. โดยตำแหน่งได้อย่างไร ซึ่งจะต้องนำมาสู่การแก้ไขรัฐธรรมนูญนั่นเอง

ซึ่งโฆษกกระทรวงกลาโหม เล็งเห็นถึงจุดนี้ จึงชี้แจงว่าเป็นการใช้สิทธิ ‘ไม่ลงมติ’ แทน แต่ ผบ.เหล่าทัพ ก็ยากจะปฏิเสธความรับผิดชอบ เพราะเป็นตำแหน่งที่สวมหมวกอีกใบอยู่

อย่างไรก็ตามในสัปดาห์ที่แล้ว พล.อ.อภิรัชต์ ได้พบกับสื่อในรอบ 2-3 เดือน ขณะลงมาวิ่งออกกำลังกายสนามหญ้าหน้า บก.ทบ. หลังเก็บตัวทำงานในตำแหน่ง ผบ.ทบ. และ ผบ.ฉก.ทม.รอ.904 ท่ามกลางความเคลื่อนไหวของพรรคก้าวไกลและคณะก้าวหน้าที่ออกมา ‘ทวงสัญญา’ จาก พล.อ.อภิรัชต์ ในการ ‘ปฏิรูปกองทัพ’ ว่าเป็นเพียง ‘ปาหี่ซื้อเวลา’ เท่านั้น 

นับจากหลังเหตุการณ์โศกนาฏกรรมที่ จ.นครราชสีมา ที่ พล.อ.อภิรัชต์ แถลงข่าวหลั่งน้ำตา พร้อมประกาศล้างบาง ‘หม้อข้าวทหาร-ขุมทรัพย์ ทบ.’ หรือสวัสดิการเชิงพาณิชย์ พร้อมจัดระเบียบ ‘บ้านพักทหาร’ โดย พล.อ.อภิรัชต์ ย้ำถึงความคืบหน้าที่มีอยู่ตลอด

“ทำอะไรไปมาก แต่ไม่จำเป็นต้องไปพูด สถานการณ์โควิด-19 ไม่มีผลต้องทำให้ชะลอการดำเนินการ เรื่องสวัสดิการเปลี่ยนไปมาก ได้ดำเนินการไปตามที่ประกาศไว้ มีการปรับทุกอย่างในเรื่องกิจการภายใน รวมถึงที่ทำข้อตกลงที่ได้ทำไว้กับกรมธนารักษ์ทุกอย่างเดินหน้า และในช่วงที่โควิด-19 ยิ่งดีเพราะจะทำให้ยิ่งต้องปรับตัวหลายอย่าง ทำได้เข้าเป้า แต่มีบางเรื่องไม่อยากแตะมาก” พล.อ.อภิรัชต์ กล่าว

อภิรัชต์ คงสมพงษ์ ntitled.jpgธนาธร รัฐประหาร ก้าวหน้า อภิรัชต์ กองทัพ -4460-9CCA-B9F429F6EF66.jpeg

จนล่าสุดฝั่ง ‘คณะก้าวหน้า’ ได้ปฏิบัติการเข้าถ้ำเสือ ตรวจสอบสวัสดิการเชิงพาณิชย์ของ ทบ. อีกครั้ง ผ่านเฟซบุ๊กในหัวข้อ "6 ปีรัฐประหาร 90 วัน ปฏิรูปกองทัพ ได้เวลาทวงสัญญาประชาชน" โดย ‘ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ’ ได้เผยถึงใบเสร็จหลังไปใช้บริการตีกอล์ฟที่สวนสนประดิพัทธ์ จ.ประจวบคีรีขันธ์

โดย ‘ธนาธร’ ระบุว่า ได้นำใบเสร็จรับเงิน ใบกำกับภาษีอย่างย่อมาดู พบว่ายัง ไม่มีการให้มือเอกชนที่เป็นมืออาชีพมาบริหาร เมื่อตรวจสอบหมายเลขผู้เสียภาษี พบว่ายังเป็นของ ทบ. อยู่ ตามที่เคยมีรายงานว่าให้โรงแรมดุสิตธานี เข้าบริหารภายในวันที่ 1 เม.ย. 2563 

ซึ่งการให้เอกชนเข้ามาจัดการนั้น มีระเบียบราชการ 2 ส่วน คือของสำนักนายกรัฐมนตรี กับระเบียบกระทรวงการคลัง โดยถ้าใช้ระเบียบกระทรวงการคลังต้องเปิดให้มีการประมูล ส่วนระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรี ทำกันเองได้ ไม่ต้องเปิดประมูล 

ซึ่งคณะก้าวหน้าเสนอให้เปิดประมูลให้เป็นสาธารณะ โดยใช้ระเบียบกระทรวงการคลัง ว่าด้วยการจัดหาประโยชน์ในที่ราชพัสดุ ให้มีการเปิดประมูล โดยประเมินตัวเลขการลงทุนไม่ต่ำกว่า 300-400 ล้านบาท

พร้อมทั้งตรวจสอบสโมสรฟุตบอล อาร์มี ยูไนเต็ด ที่มี พล.อ.อภิรัชต์ เป็นประธานสโมสรฯ ตามที่มีข่าวว่าได้ทำการ ‘ยุบสโมสร’ ไปแล้ว แต่ตรวจสอบยังพบว่ามีการตั้งเอกชน เข้าดำเนินการอยู่

โดย ‘ธนาธร’ ขยายความอ้างข่าวที่ ‘บิ๊กแก้ว’พล.อ.เฉลิมพล ศรีสวัสดิ์ เสนาธิการทหาร ในฐานะรองประธานและผู้อำนวยการสโมสรอาร์มียูไนเต็ด ระบุว่า ทบ. มี 2 ทีมฟุตบอล คือ ‘อาร์มี ยูไนเต็ด’ ซึ่งอยู่ลีก 2 และอีกทีมคือ ‘กองทัพบกเอฟซี’ ในการดูแลกรมสวัสดิการ ทบ. ซึ่งอยู่ลีก 4 และมีความเป็นไปได้ว่าในการหาทางออกคือเอา ‘กองทัพบก เอฟซี’ เปลี่ยนใหม่เป็น ‘อาร์มี ยูไนเต็ด’ จะทำให้ตำนานทีมตั้งแต่ปี 2459 ไม่สูญหาย และจะใช้ทหารเป็นนักเตะ โค้ชเป็นคนไทย 

แต่ปัญหา คือ สถานะยังกำกวม เพราะทีมอยู่ในการดูแลของกรมสวัสดิการ ทบ. แต่บริษัทเป็นเอกชน มีผู้ถือหุ้น ซึ่งส่วนใหญ่เป็นผู้ใหญ่ในกองทัพ จึงเกิดคำถามถึงความสัมพันธ์ระหว่าง บริษัท อาร์มี ฟุตบอล จำกัด กับ กรมสวัสดิการ ทบ. รวมทั้งทรัพยากรต่างๆที่ลงทุนและรายได้กำไรที่ได้รับตกไปส่วนใด เพราะ ‘ธนาธร’ มองว่ามีความทับซ้อนกัน และการสร้างทีมฟุตบอลลงแข่งลีกอาชีพเป็นพันธกิจกองทัพหรือไม่

อภิรัชต์ ลุมพินี สนามมวย led.png

อีกกรณีคือ ‘สนามมวยลุมพินี’ ที่รายนามกรรมการพบว่า พล.อ.อภิรัชต์ เป็น ประธานอำนวยการสนามฯ ยังไม่พบมีเอกชนเข้ามาบริหาร รวมถึงกรรมการคนอื่นๆก็เป็น ‘นายทหารชั้นผู้ใหญ่’ ทั้งหมด

จากนั้นได้แวะปั๊มน้ำมันข้างสนามมวย คือ ‘สถานบริการน้ำมันเชื้อเพลิงเพื่อสวัสดิการ 17 รามอินทรา’ หรือ บ้านเลขที่ 17 ของ ศูนย์รักษาความปลอดภัย (ศรภ.) บก.กองทัพไทย เมื่อได้ใบเสร็จรับเงิน-ใบกำกับภาษีอย่างย่อ พบว่าเลขผู้เสียภาษีเป็นของ คณะบุคคล สวัสดิการภายใน ศรภ.โดย พล.อ.อภิชิต กานตรัตน์ ซึ่ง พล.อ.อภิชิต เคยเป็นหนึ่งในผู้ถือหุ้นบริษัท เอวิเอ แซทคอม จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทที่ขาย GT200 ให้กับ ทบ. ด้วย

ทั้งหมดนี้เป็นสิ่งที่ ‘คณะก้าวหน้า’ และ ‘พรรคก้าวไกล’ ไล่ตรวจสอบกองทัพ โดยเฉพาะ ทบ. ที่มี พล.อ.อภิรัชต์ เป็น ผบ.ทบ. เรียกได้ว่าเป็น ‘ไม้เบื่อไม้เมา’ กันมาตลอด

แม้ว่า ‘ธนาธร-ปิยบุตร’ จะเคยเข้าพบ พล.อ.อภิรัชต์ แบบ ‘ว.5’ เมื่อต้นเดือน ก.ย.62 ก่อนจะมาถูกเปิดเผยมีการพบกันหลังยุบพรรคอนาคตใหม่ ปลายก.พ.63 

ซึ่งผ่านมากว่า 6 เดือน เรียกได้ว่ามี ‘สัญญาลูกผู้ชาย’ ระหว่างกัน การคุยในวันนั้น

ว่ากันว่าคุยกันด้วยบรรยากาศที่ดี แม้สุดท้ายจบลงด้วยการตั้งเวทีของ ‘แผ่นดินของเราฯ’ คู่ขนานกันก็ตาม

ปิยบุตร ธนาธร 2.jpg

อย่างไรก็ตามในการพูดคุยมีกันพูดถึง ‘การปฏิรูปกองทัพ’ ด้วย ซึ่ง พล.อ.อภิรัชต์ ก็มองถึงแนวทางการปฏิรูปที่ ‘ธนาธร-ปิยบุตร’ เสนอนั้น เป็นโมเดลของต่างประเทศ ซึ่ง พล.อ.อภิรัชต์ ก็ได้พูดถึงแนวทางการปฏิรูปของตัวเองด้วย 

หากย้อนกลับไป ‘ธนาธร’ ได้พูดถึง ‘เงินนอกงบประมาณ’ ของ กระทรวงกลาโหม ตั้งแต่ปลายเดือน พ.ย. 2562 เป็นที่น่าสนใจว่า ในการเฟซบุ๊กไลฟ์ทวงสัญญา 90 วัน ปฏิรูป ทบ. ได้กล่าวถึงตัวตน พล.อ.อภิรัชต์ ด้วย

“คุณอภิรัชต์ เป็นคนที่แคร์เรื่องเกียรติยศ ความสง่างาม ของกองทัพมาก ถ้าเราปฏิรูปกองทัพ ให้เป็นมืออาชีพจริงๆ มันจะเป็นที่น่าภูมิใจของทุกฝ่าย” นายธนาธร กล่าว

จึงต้องจับตา พล.อ.อภิรัชต์ ต่อไป ในฐานะ ผบ.ทบ. ที่ไม่ต้องเกรงใจใครนักในเวลานี้ เพราะสามารถคุม ทบ. ได้เบ็ดเสร็จ หมดยุค ‘บูรพาพยัคฆ์-วงศ์เทวัญ’

อีกทั้ง พล.อ.อภิรัชต์ เป็นนายทหาร ที่จบหลักสูตรจากสหรัฐฯมาหลายหลักสูตร รวมทั้งเป็นนายทหารที่ได้ชื่อว่าเป็นนายทหาร ‘อเมริกันสไตล์’ ใช้ภาษาอังกฤษได้คล่องแคล่ว

โดยเบื้องหลังแล้ว พล.อ.อภิรัชต์ ก็มองเห็นภาพกองทัพในสังคมโลกไม่น้อย แต่สิ่งสำคัญกว่า ‘แนวคิด-ทัศนคติ’ ก็คือ ‘ผลงาน’ ที่ออกมา เพราะเหลืออีกเพียง 4 เดือน ในตำแหน่ง ผบ.ทบ. จะเป็นบทพิสูจน์ ของ พล.อ.อภิรัชต์ ว่าจะบันทึกประวัติศาสตร์ตัวเองอย่างไร รวมทั้งอนาคตของ พล.อ.อภิรัชต์ ที่เชื่อกันว่า พล.อ.อภิรัชต์ ยังมีภารกิจรออยู่

เวลาคือบทพิสูจน์ และ คำตอบ !!

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ปริศนา ลายพราง
164Article
0Video
39Blog