ไม่พบผลการค้นหา
วงเสวนาวิชาการ เปิดงานวิจัยปริญญาเอก ชี้สาเหตุที่ผู้นำไทยไม่ว่าจะเป็นทหารหรือพลเรือนต้องลงจากอำนาจหากขัด 'ฉันทามติของชนชั้นนำไทย' ยกเหตุ 'ธานินทร์ - เกรียงศักดิ์' เคยพ้นจากตำแหน่งมาแล้ว พร้อมย้ำ 'ประธานองคมนตรีและรัฐบุรุษ เก็บบทเรียนของสองผู้นำไทยไม่เดินตามรอย

เมื่อวันที่ 15 พ.ย. เวลา 13.30 น. ที่คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ ได้มีการจัดงานเสวนานักวิจัยรุ่นใหม่ รัฐศาสตร์หลากฉากทัศน์ ชวนถก ดุษฎีนิพนธ์ "ความเปลี่ยนแปลงของเครือข่ายชนชั้นนำไทย พ.ศ. 2495-2535 : ข้อเสนอใหม่ทางวิชาการ" นำเสนอโดย: ดร.อาสา คำภา จากสถาบันไทยคดีศึกษา ม.ธรรมศาสตร์ ร่วมอภิปรายโดย: ศ.ดร.เกษียร เตชะพีระ อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ ม.ธรรมศาสตร์ และดำเนินรายการโดย ผศ.ดร.ประจักษ์ ก้องกีรติ คณะรัฐศาสตร์ ม.ธรรมศาสตร์

ดร.อาสา ในฐานะผู้เขียนดุษฎีนิพนธ์เล่มนี้ กล่าวว่า วัตถุประสงค์การวิจัยครั้งนี้ เพื่อศึกษาการก่อรูปและความเปลี่ยนแปลงของเครือข่ายชนชั้นนำไทย พ.ศ. 2495-2535

ดร.อาสา กล่าวว่า การมองการเมืองในฐานะการต่อสู้ระหว่างเครือข่าย และเครือข่ายที่ประสบความสำเร็จที่สุดในทัศนะของนักวิชาการชาวอังกฤษ 'ดันแคน แมคคาร์โก' Duncan McCargo คือ "เครือข่ายสถาบันกษัตริย์" (Network Monarchy) ส่วนนักวิชาการชาวไทย ศ.นิธิ เอียวศรีวงศ์ เสนอคำว่า "สถาบันพระมหากษัตริย์เชิงเครือข่าย" และ ศ.เกษียร ใช้คำว่า "เครือข่ายในหลวง"

เสวนาความเปลี่ยนแปลงชนชั้นนำไทย

ดร.อาสา อธิบายว่า สถาบันเชิงเครือข่ายมีลักษณะของความเป็นกลุ่มก้อน เกิดขึ้นหลัง 2475 การก่อตัวของสถาบันเชิงเครือข่ายเกิดขึ้น ด้วยการประสานผลประโยชน์ และการประนีประนอมของกลุ่มต่างๆ อยู่เสมอ ระหว่างสถาบันกษัตริย์เชิงเครือข่าย กองทัพ ข้าราชการพลเรือน ชนชั้นนำทางธุรกิจ


ผู้นำไทยต้องลงจากอำนาจ ขัดฉันทามติของชนชั้นนำไทย

ดร.อาสา กล่าวถึงผลการวิจัยส่วนหนึ่งที่ชี้ให้เห็นถึงการที่ผู้นำต้องลงจากอำนาจ โดยสิ่งที่เรียกว่า ฉันทามติ (consensus) ของชนชั้นนำไทย 4 ข้อ ได้แก่

1.ความเห็นพ้องในจุดยืนที่พึงอยู่ตรงข้ามกับโลกคอมมิวนิสต์

2.สมาทานยอมรับแนวคิดการพัฒนาของโลกเสรีตะวันตก

3.การเป็นพันธมิตรกับสหรัฐอเมริกา

4.การแบ่งสรรและ "ไม่ควบรวมอำนาจ" ของผู้มีอำนาจคนใดคนหนึ่งหรือกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง ต่อปริมณฑลทางอำนาจของผู้อื่น กลุ่มอื่น หากว่ามีการแบ่งสรรกันลงตัวในระดับหนึ่งแล้ว

ดร.อาสา ชี้ว่า การละเมิดฉันทามติในข้อที่ 4 สำคัญมาก เพราะเป็นการอธิบายการลงจากอำนาจของผู้นำไทย

เขายกตัวอย่างของ รัฐบาลนายธานินทร์ กรัยวิเชียร ละเมิดฉันทามติ (consensus) การควบรวมอำนาจ และไม่แบ่งปันอำนาจ ไม่ว่าจะเป็นแผนการประชาธิปไตย 12 ปี ไม่ว่าจะเป็นฝ่ายซ้าย ฝ่ายขวา ถูกแช่แข็งหมด การใช้อำนาจแบบขวาจัดไปตรวจสอบเล่นงานข้าราชการ เมื่อนายธานินทร์เล่นเกมแบบนี้ ก็จะถูกปฏิเสธจากชนชั้นนำไทย

"สิ่งนี้นำมาสู่ข้อสรุปที่ว่า ไม่ว่าคุณจะเป็นทหาร ผู้นำรัฐบาลพลเรือนที่มาจากการเลือกตั้ง หรือแม้จะเป็นตัวแทนของสถาบันพระมหากษัตริย์เชิงเครือข่ายก็ตาม หากว่าคุณละเมิดฉันทามติการควบรวมอำนาจ หรือไม่แบ่งปันอำนาจมากพอ ชนชั้นนำไทยกลุ่มต่างๆ ก็พร้อมที่จะเอาคุณลงจากอำนาจ"


เสวนาความเปลี่ยนแปลงชนชั้นนำไทย

(ดร.อาสา คำภา ผู้วิจัย)

ดร.อาสา กล่าวต่อว่า ในตอนหนึ่งของงานวิจัยได้พูดถึง บทบาทของ พล.อ.กฤษณ์ สีวะรา ที่แม้ว่าจะเป็นนายทหารใหญ่ในช่วงหลังเหตุการณ์ 14 ต.ค. 2516 แต่ว่า พล.อ.กฤษณ์ มีแนวโน้มที่จะควบรวมอำนาจทั้งในทางกองทัพ และในทางการเมือง สร้างความไม่พอใจให้กับกลุ่มพลังฝ่ายขวามากมาย เป็นเหตุให้เกิดความรุนแรงอย่างหนึ่งใน 6 ต.ค. 2519 ด้วย

หรือกรณีของ พล.อ.เกรียงศักดิ์ ชมะนันทน์ อดีตนายกฯ ที่โค่นล้มรัฐบาลของนายธานินทร์เอง ท้ายที่สุด พล.อ.เกรียงศักดิ์ ก็ตกหลุมพรางการละเมิดฉันทามติการควบรวมอำนาจ จนถูกชนชั้นนำไทยกำจัดออก ผู้ที่เก็บบทเรียนความผิดพลาด และระมัดระวังที่จะไม่ทำตามรอย ก็คือ พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ อดีตนายกฯ และอดีตประธานองคมนตรีและรัฐบุรุษ

ด้านหนึ่ง พล.อ.เปรม ได้รับการสนับสนุนจากราชสำนัก แต่ด้านหนึ่ง พล.อ.เปรม ได้รับการหนุนหลังจากนายทหารกลุ่ม "ยังเติร์ก"

ดร.อาสา กล่าวว่า ตลกร้ายคือยังเติร์ก เป็นหัวหอกในการโค่นล้มรัฐบาลธานินทร์ และเอาเข้าจริงแล้วยังเติร์กก็คือกลุ่มที่กุมกำลัง และเปลี่ยนแปลงทางการเมืองที่สำคัญหลายเหตุการณ์ นับตั้งแต่ 14 ต.ค. 2516 เป็นต้นมา และเป็นผู้ล้มรัฐบาลธานินทร์ และชู พล.อ.เกรียงศักดิ์ มาเป็นนายกรัฐมนตรี เอา พล.อ.เกรียงศักดิ์ ลง และเอา พล.อ.เปรม ขึ้น เป็นผู้ตั้งและผู้ปลดนายกรัฐมนตรี

"ลึกๆ แล้ว ในความคิดของชนชั้นนำไทย ช่วงต้นทศวรรษ 2520 พวกเขามองว่ายังเติร์กเป็นพลังที่ค่อนข้างน่ากลัว ข่มขู่ คุกคาม จนเกินไป ไม่ค่อยเชื่อฟังใคร แม้แต่ พล.อ.เปรมเอง ก็ไม่แน่ใจว่าจะคุมยังเติร์กได้"

ดร.อาสา ยกเหตุการณ์ "เมษาฮาวาย" ความพยายามรัฐประหารระหว่างวันที่ 1-3 เม.ย. 2524 ซึ่งเป็นเหตุการณ์สำคัญ ที่ไม่เพียงแต่ทำให้ พล.อ.เปรมปลดแอกตัวเองจากพันธนาการของกลุ่มยังเติร์ก แต่ว่าการตัดสินพระทัยของรัชกาลที่ 9 ที่เสด็จไปโคราช แม้ว่าจะเป็นเรื่องที่สุ่มเสี่ยงอย่างมาก แต่การตัดสินพระทัยครั้งนั้นเป็นการชี้ขาดที่ทำให้ยังเติร์กพ่ายแพ้

อย่างไรก็ดี ดร.อาสา กล่าวว่า จุดพีคสุดของ “พระราชอำนาจนำ” อยู่ในช่วงหลังเหตุการณ์ ‘พฤษภา35’ เป็นปรากฏการณ์ของสังคมการเมืองไทย ที่พระราชดำริมีพลานุภาพในการให้สังคมและรัฐเดินตามโดยไม่ต้องบังคับ

เขายังยกตัวอย่างว่า "พระราชดำรัสในปี 2536 ในวันที่ 4 ธ.ค. 2536 รัชกาล 9 ดำริควรมีการสร้างเขื่อนแม่น้ำป่าสัก คณะรัฐมนตรีอนุมัติ สร้างเขื่อนป่าสัก เขื่อนขุนด่านปราการชล เกิดขึ้นจากพระราชอำนาจนำอย่างแท้จริง" ดร.อาสา กล่าว