ไม่พบผลการค้นหา
แม้รัฐบาลจะบอกคนไทยในต่างแดนว่า "ถ้าเป็นไปได้ อย่าเพิ่งกลับประเทศ" เพื่อป้องกันโรคโควิด-19 แต่คนไทยจำนวนมากมีเหตุจำเป็นต้องกลับบ้าน และพร้อมเข้าสู่กระบวนการกักตัว แต่รัฐต้องมีหลักที่ชัดเจน ไม่ใช่เปลี่ยนไปมา และอย่าทิ้งขว้างคนไทยให้ตกค้างอยู่นอกประเทศ

มาตรการป้องกันโควิด-19 ของรัฐบาลไทยและสำนักงานการบินพลเรือน (ก.พ.ท.) ว่าด้วยคำสั่งปิดน่านฟ้า ห้ามเที่ยวบินพาณิชย์ต่างๆ เข้าประเทศ ถูกขยายเวลาออกไปจนถึงวันที่ 30 เม.ย. และประกาศนี้เผยแพร่ออกมาในวันที่ 15 เม.ย. หรือเพียง 3 วันก่อนถึงกำหนดยกเลิกคำสั่งเดิมที่เคยวางไว้ในวันที่ 18 เม.ย.

แม้จะเป็นเรื่องที่เข้าใจได้ เพราะรัฐต้องประเมินสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 แบบวันต่อวัน ขณะเดียวกันก็ยังก่อให้เกิดผลกระทบต่อคนไทยในต่างแดนเป็นจำนวนมากที่ต้องเตรียมตัวเดินทางกลับประเทศรอบใหม่

ขณะที่ผู้ใช้สื่อสังคมออนไลน์ในไทยหลายรายแสดงความเห็นว่า คนไทยในต่างแดนไม่ควรกลับประเทศในตอนนี้ ทั้งยังระบุด้วยว่า ต้องคำนึงถึงความปลอดภัยของคนในประเทศไทย เพราะผู้ที่เดินทางกลับจากต่างประเทศอาจเป็นพาหะแพร่เชื้อ แต่หากคนไทยในต่างแดนไม่ได้กลับประเทศ ก็อาจได้รับอันตรายถึงชีวิต ทั้งจากโรคภัยไข้เจ็บและภัยคุกคามอื่นๆ ได้เช่นกัน

นอกจากนี้ หลักการสิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐานยังระบุว่า "พลเมืองต้องได้รับการคุ้มครองโดยรัฐ" การจะปฏิเสธหรือไม่อนุญาตให้พลเมืองกลับเข้าประเทศ ถือเป็นเรื่องที่ไม่ถูกต้อง ทั้งยังขัดต่อเนื้อหาในกฎหมายรัฐธรรมนูญด้วย

อุปสรรคสำคัญ - ใบรับรองแพทย์ 'Fit to Fly' ที่แพทย์ในสหรัฐฯ ถาม "จะเอาไปทำไม?"

คมสัน ศรีธนวิบุญชัย ผู้สื่อข่าวพิเศษวีโอเอไทยในสหรัฐอเมริกา เปิดเผยกับ 'วอยซ์ออนไลน์' ว่า คนไทยในสหรัฐอเมริกาต้องการเดินทางกลับประเทศด้วยเหตุผลที่หลากหลาย เช่น บางคนวีซ่าใกล้หมดอายุ จึงไม่อยากอยู่ต่อ เพราะอาจสร้างประวัติที่ไม่ดีไว้ในบันทึกของสหรัฐฯ ส่วนกลุ่มนักเรียนนักศึกษาที่มาเรียนต่อ ไม่ว่าจะเป็นคอร์สสั้นหรือคอร์สยาว ได้รับผลกระทบเพราะคอร์สต่างๆ ปิดตัวลงชั่วคราว เนื่องจากมาตรการล็อกดาวน์ในสถานการณ์โควิด-19 

นอกจากนี้ยังมีกลุ่มคนที่เดินทางไปทำงาน เช่น work and travel ก็โดนยกเลิกสัญญาไปเกือบจะแทบทั้งหมด คนไทยกลุ่มนี้ต้องการหลีกเลี่ยงค่าใช้จ่ายที่ค่อนข้างสูง โดยเฉพาะค่าที่พัก โดยเฉพาะตอนนี้่ที่สถานการณ์โควิด-19 ในประเทศสหรัฐฯ ถือว่ามีผู้ติดเชื้อมากเป็นอันดับ 1 ของโลก คนไทยเลยต้องการที่จะเดินทางกลับประเทศไทยโดยทันที แต่การห้ามเที่ยวบินพาณิชย์เดินทางเข้าประเทศไทย สร้างความลำบากให้กับคนที่ต้องการเดินทางกลับไม่ใช่น้อย และกรณีที่ทางการร้องขอเอกสาร Fit to Fly ที่ออกโดยแพทย์และมีเงื่อนไขว่าต้องออกไม่เกิน 72 ชั่วโมงก่อนการบินจริง ทำให้คนไทยเดินทางกลับประเทศได้ยากขึ้น

"ในทางปฏิบัติ คนไทยจะต้องไปเสียเงินประมาณ 75-100 ดอลลาร์สหรัฐฯ หรือประมาณ 4,500 บาทเพื่อขอเอกสารฉบับนี้ และในบางคน ไฟลต์มีการดีเลย์ ไฟลต์มีการเลื่อน จะต้องไปขอมากกว่าหนึ่งครั้ง บางคนขอมากถึงสามครั้ง ทำให้เสียเงินไปถึงหลักหมื่นเลยทีเดียว รวมถึงตอนนี้ สถานการณ์โควิด-19 ในประเทศสหรัฐฯ เรียกว่าค่อนข้างอยู่ในช่วงวิกฤต การจะไปหาคลินิกเล็กๆ ที่เปิดแล้วก็ให้เอกสารฉบับนี้ ไม่ใช่เรื่องง่าย รวมถึงถ้าจะเดินทางไปที่โรงพยาบาลเพื่อขอเอกสารก็ถือว่าสุ่มเสี่ยง เพราะตอนนี้แพทย์ที่โรงพยาบาลใหญ่ๆ ก็ค่อนข้างวุ่นวายในการรองรับผู้ป่วย รวมถึงคนไทยที่เดินทางเข้าไปก็อาจจะเสี่ยงติดเชื้อด้วย"

"คนไทยบางกลุ่มอยู่ในสหรัฐฯ อย่างไม่ถูกกฎหมาย ฉะนั้นการที่จะไปขอเอกสารจากทางโรงพยาบาลรัฐ ถือว่าเป็นเรื่องที่แทบจะเป็นไปไม่ได้ สุดท้าย คนไทยที่วีโอเอไทยไปพูดคุยด้วย บอกว่า การที่คนไทยจะไปขอเอกสารที่เรียกว่า Fit to Fly กับแพทย์ทางสหรัฐ คุณหมอไม่เข้าใจว่า จะเอาเอกสารนี้ไปทำไม เพราะว่าไม่ได้ระบุให้จะต้องตรวจวัดโควิด-19"

คนไทย (ยัง) ไม่ได้กลับบ้าน เพราะศาลปฏิเสธคำร้อง #คนไทยต้องได้กลับบ้าน

หลังจากมีประกาศขยายเวลาปิดน่านฟ้าได้ไม่นาน เว็บไซต์ iLaw (โครงการอินเทอร์เน็ตเพื่อกฎหมายประชาชน) เผยแพร่คำพิพากษาของศาลปกครองกลาง ซึ่ง 'ไม่รับฟ้อง' คดีที่นายอาทิตย์ สุริยะวงศ์กุล นักศึกษาไทยในไอร์แลนด์ ผู้รณรงค์แคมเปญ #คนไทยต้องได้กลับบ้าน ยื่นขอให้เพิกถอนประกาศของ สำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย (กพท.) ที่สั่งให้คนไทยต้องมีใบรับรองแพทย์ Fit to Fly และเอกสารรับรองจากสถานทูตก่อนบินเข้าประเทศ

iLaw สรุปคำพิพากษาของศาลปกครองไว้ดังนี้: 

ศาลปกครองไม่รับฟ้อง คดีที่ขอให้เพิกถอนประกาศ ก.พ.ท. ที่สั่งให้คนไทยต้องมีใบรับรองแพทย์ (Fit to Fly) และเอกสารจากสถานทูตก่อนบินเข้าประเทศ โดยศาลปกครองเห็นว่า เป็นประกาศที่เนื้อหาเหมือนข้อกำหนดตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ซึ่งพ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ตัดอำนาจของศาลปกครองไว้ ต่อมาเมื่อฟ้องต่อศาลแพ่ง ศาลแพ่งก็ยกฟ้องทันที โดยให้เหตุผลว่า เป็นข้อกำหนดที่อาศัยอำนาจ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้อง

พร้อมทั้งอ้างเพิ่มเติมว่า สถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 เป็นโรคที่ติดต่อได้ง่าย และเป็นอันตรายอย่างมากต่อชีวิตของผู้ได้รับเชื้อ ประกอบกับยังไม่มีวัคซีนป้องกันโรค ทั้งไม่มียารักษาโรคโดยตรง จึงมีผู้ติดเชื้อและเสียชีวิตจากโรคดังกล่าวเพิ่มขึ้นเป็นจำนวนมากทั่วโลก จนองค์การอนามัยโลกต้องประกาศให้การระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 เป็นการระบาดใหญ่ และขอให้ประเทศในกลุ่มอาเซียนบังคับใช้มาตรการที่เข้มงวดเด็ดขาดยิ่งขึ้น นายกรัฐมนตรีจึงได้ประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินในทุกเขตท้องที่ทั่วราชอาณาจักร และออกข้อกำหนดตามมาตรา 9 ของ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ มีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 26 มีนาคม 2563 มีลักษณะเดียวกับข้อ 4 และข้อ 5 ของประกาศสำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย ที่ถูกฟ้องในคดีนี้

ถึงแม้การฟ้องขอให้เพิกถอนกฎในข้อ 4 และข้อ 5 ตามประกาศสำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย จะอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครอง ตามมาตรา 9 วรรค1 (1) ประกอบมาตรา 72 วรรค1 (1) แห่งพ.ร.บ.จัดตั้งศาลปกครองฯ ก็ตาม แต่เมื่อพิจารณาแล้วข้อความตามประกาศดังกล่าวมีลักษณะเดียวกับข้อ 3 วรรค 1(6) และวรรค 2 ของข้อกำหนดที่ออกตามพ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ถ้าหากศาลรับไว้พิจารณาและต่อมามีคำพิพากษาให้เพิกถอน ย่อมเท่ากับเป็นการเพิกถอนข้อกำหนดที่ออกตามพ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ด้วยเช่นกัน ซึ่งศาลปกครองไม่มีอำนาจกระทำได้ เนื่องจาก มาตรา 16 แห่งพ.ร.ก.ฉุกเฉินฯได้บัญญัติไว้เป็นการเฉพาะแล้วว่า ข้อกำหนด ประกาศ คำสั่งหรือการกระทำใดตามพ.ร.ก.นี้ไม่อยู่ในอำนาจของศาลปกครอง 

รัฐปกป้องคนในประเทศ แต่ 'คนไทยนอกประเทศ' ก็เสี่ยงภัยเช่นกัน

ความเห็นของผู้ใช้สื่อสังคมออนไลน์ในไทยจำนวนหนึ่งมองว่า คำพิพากษาของศาลปกครองที่ไม่รับคำร้องของคนไทยในต่างแดน ว่าด้วยใบรับรองแพทย์และเอกสารรับรองจากสถานทูต มองว่า คนฟ้องเห็นแต่ความสะดวกของตนฝ่ายเดียว โดยให้เหตุผลว่า "แค่คนท้องจะขึ้นเครื่องเขายังต้องมี fit to fly เลย โรคแบบนี้ติดคนได้ อันตรายคนอื่น คนที่ฟ้องเคยคิดถึงคนอื่นมั้ยนะ" และบางความเห็นระบุว่า "ถ้าไม่ป่วยก็มาได้ ถ้าป่วยห้ามเข้าไว้ก่อนก็ถูกแล้วนิ หรือที่ฟ้องคือป่วยอยู่แต่อยากกลับ"

iLaw-comment-on-FitToFly.jpg

ส่วนบางความเห็นก็ระบุว่า "ไอ้ยังไม่เดินทางพอทนได้ แต่ไอ้ที่ติดอยู่ระหว่างทางนี้ซิ" และบางรายก็สะท้อนความยากลำบากในการใช้ชีวิตช่วงมาตรการล็อกดาวน์ จำกัดการเดินทางภายในประเทศไทยว่าได้รับความเดือดร้อนเช่นเดียวกัน

อย่างไรก็ตาม ความเห็นเกี่ยวกับเรื่องใบรับรองแพทย์ Fit to Fly นั้น ผู้ยื่นคำร้องต่อศาลปกครองได้ชี้แจงไว้แล้วว่า เอกสารนี้เป็นเพียงการรับรองว่า ผู้เดินทางมีสุขภาพเหมาะสมที่จะเดินทางทางอากาศ เช่น มีอายุครรภ์ไม่เกินกำหนด หรือหากเพิ่งได้รับการผ่าตัดต้องได้รับการพักฟื้นมาแล้วเพียงพอหรือไม่ แต่ "ใบรับรองดังกล่าวไม่ใช่มาตรการที่ใช้คัดกรองเชื้อไวรัสโคโรนาได้"

ทั้งนี้ การคัดกรองโรคติดต่อสามารถทำได้โดยมาตรการอื่นที่มีอยู่แล้ว เช่น การคัดกรองคนเข้าเมืองที่สนามบิน การอำนวยความสะดวกและสนับสนุนให้คนสามารถกำจัดบริเวณตัวเองอยู่ในบ้านได้ 14 วันหลังเดินทางเข้าประเทศ ซึ่งผู้ยื่นคำร้องและคนไทยในต่างประเทศอีกหลายรายสะท้อนความเห็นตรงกันว่าพร้อมเข้าสู่กระบวนการกักตัวตามที่รัฐกำหนด 

กรณีของคนไทยในสหรัฐฯ ซึ่งไปติดต่อที่สถานเอกอัครราชทูตไทย ณ กรุงวอชิงตัน จะได้รับเอกสารที่เป็นแบบสอบถาม ให้คนไทยต้องกรอกก่อนที่จะเดินทางกลับ ซึ่ง 'คมสัน' ผู้สื่อข่าววีโอเอไทย ระบุว่า "ในเอกสารฉบับนั้น ระบุว่าหลังจากวันที่ 18 เม.ย.นี้ ทางรัฐบาลไทยจะอนุญาตให้คนไทยเดินทางเข้าประเทศได้ 200 คนต่อวัน แต่ก็ไม่ได้ระบุนะครับว่าจะใช้หลักเกณฑ์อะไร นอกจากนี้ยังได้บอกว่าคนไทยที่เดินทางเข้าไปจะต้องกักตัว 14 วันตามแนวทางและสถานที่ที่ทางรัฐบาลกำหนดให้ รวมถึงบอกว่า "คนไทยจะต้องยินยอม" ที่จะต้องอยู่ห้องพักแบบคู่ด้วย"

ขณะที่เว็บไซต์ Aljazeera รายงานอ้างอิงคนไทย 3 รายในอังกฤษและเนเธอร์แลนด์ ซึ่งทั้งหมดตัดสินใจว่าจะยังไม่กลับประเทศ โดยเหตุผลหนึ่งเป็นเพราะไม่สามารถหาใบรับรองแพทย์ภายใน 72 ชั่วโมง แต่บางรายมองว่าไม่ใช่ทุกคนที่จะอยู่ในต่างประเทศต่อไปได้โดยไม่ลำบาก

นอกจากนี้ สิ่งสำคัญคือพลเมืองไทยมีสิทธิจะเดินทางกลับประเทศอยู่แล้ว แต่รัฐบาลกลับออกมาตรการที่ส่งผลกระทบต่อการเดินทางและไม่ใส่ใจต่อสวัสดิภาพของคนไทยในต่างแดน โดยอัลจาซีรารายงานเพิ่มเติมว่า หลายประเทศมีคดีก่อความรุนแรงต่อคนเชื้อสายเอเชีย เนื่องจากผู้ก่อเหตุมองว่า คนเอเชียเป็นต้นตอแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 โดยไม่ได้แยกแยะว่าคนที่มีหน้าตาคล้ายคนจีนนั้นมาจากประเทศใดในเอเชีย

คนไทยในต่างแดนย้ำว่า พร้อมที่จะเข้าสู่กระบวนการกักตัวหลังเดินทางเข้าประเทศ แต่ในภาวะวิกฤตเช่นนี้ รัฐมีหน้าที่รับผิดชอบที่จะดูแลความปลอดภัยและสวัสดิภาพของพลเมืองทั้งหมด ไม่ใช่สร้างเงื่อนไขให้เกิดความยากลำบากกว่าเดิมให้แก่ผู้ที่ได้รับผลกระทบอยู่แล้ว เพราะทุกคนล้วนตกอยู่ในสถานการณ์นี้ด้วยกัน จึงต้องช่วยเหลือดูแลกันและกัน แทนที่จะปล่อยให้คนบางคนต้องตกค้างและหาทางไปไม่ได้

ข่าวที่เกี่ยวข้อง: