ไม่พบผลการค้นหา
ในขณะที่การประชุมสภากำลังกลายเป็นที่จดจ้องสนใจของคนไทยทุกคน ไม่ว่าจะเป็น ส.ส.คนไหนไม่มาทำหน้าที่ตัวแทนประชุมบ้าง วาระการประชุมเรื่องอะไร ไปจนถึงใครจะอภิปรายประเด็นไหนในสภา แต่ในอีกส่วนหนึ่งกลับกลายเป็นข่าวออกมาว่า วันนี้ ส.ส. หญิงแต่งตัวอย่างไรมาสภา

'ตั๊น-จิตภัสร์' ชุดสวยสง่ายกเป็น 'ดาวสภา' 'เอ๋ ปารีณา' ใช้เวลาทำผมร่วม 7 ชั่วโมง ซึ่งเป็นทรงเดียวกันกับ 'ช่อ พรรณิการ์' ฯลฯ จะเรียกว่านี่เป็นการเลือกปฏิบัติทางเพศก็ว่าได้ที่มอง ส.ส.หญิงเป็นเพียงไม้ประดับ นำเสนอเพียงแต่ข่าวในด้านที่ไม่ใช่สาระสำคัญของเหตุการณ์

เหมือนเมื่อครั้งในการประชุมสภาครั้งก่อนที่เรื่องเสื้อผ้าชุดเดียว จะกลายเป็นประเด็นใหญ่ของสังคมได้ถึงเพียงนี้ กับประเด็นชุดแบรนด์ POEM ของช่อ พรรณิการ์ วานิช นั้นเหมาะสมหรือไม่เหมาะสมในการเป็นชุดไว้ทุกข์ เริ่มจากวิวาทะของแพทย์หญิง คุณหญิง พรทิพย์ โรจนสุนันท์ รวมไปดึงดาวสภาที่โด่งดังที่สุดในตอนนี้ ปารีณา ไกรคุปต์

หลังจากเกิดการถกเถียงในสังคมโซเชียลมีเดียมากๆ เข้า หมอพรทิพย์ถูกตอกกลับเรื่องสีผมของตัวเอง คุณช่อออกมาบอกว่าถามเจ้าหน้าที่สภาแล้ว ส่วนคุณปารีณาโชว์เอกสารของสภาให้เห็นเลยมีการกำหนดการแต่งกายไว้ว่า “ชุดดำ” ลามไปถึงการที่ดีไซเนอร์แบรนด์ POEM คุณฌอน-ชวนล ไคสิริ ออกมาให้สัมภาษณ์ว่าไม่ได้เป็นสปอนเซอร์ให้คุณช่อ ไม่รู้จักกันเป็นส่วนตัวมาก่อน แต่ยืนยันว่าชุดนั้นใส่ไว้ทุกข์ได้ โดยหากมองเรื่องนี้ในภาษากฎหมายสามารถมองได้ว่าเราจะยึดตามตัวบทกฎหมาย โดยดูที่ข้อความที่กฎหมายเขียนไว้เป็นสำคัญ ซึ่งก็คือ “ชุดดำ” (แน่นอนว่าขาว-ดำ ย่อมผิด) หรือตีความตามเจตนารมณ์ของกฎหมายที่ว่ามีวัตถุประสงค์เพื่อ “ไว้ทุกข์” ซึ่งแน่นอนว่า ชุดเฉดขาว-ดำนั้นสวมใส่เพื่อการไว้ทุกข์ได้ นี่ยังไม่รวมการมองด้วยสายตาเฟมินิสต์อีกว่านักการเมืองชายในสภาสวมสูทขาวดำมากมาย เหตุใดชุดขาว-ดำของคุณช่อถึงกลายมาเป็นประเด็นในการถกเถียงของสังคม

จนกลายเป็นว่าหนึ่งในข้อวิพากษ์วิจารณ์ประเด็นนี้เดินทางไปสู่บทสรุปที่ว่านี่เป็นการถกเถียงในประเด็นที่ไร้สาระ เป็นเรื่องผู้หญิงๆ (ตีกัน)

อุ๊ย…คุณขา เรื่องการแต่งกายของผู้หญิงไม่ได้เป็นเรื่องไร้สาระนะคะ ฝรั่งเขามีหนังสือเขียนออกมาเป็นเล่มๆ เชียว โดยเฉพาะเล่ม “Power Dressing : First Ladies, Women Politicians & Fashion” โดย Robb Young ที่ชี้ให้เห็นว่าการแต่งกายของผู้หญิงในสนามการเมืองไม่ใช่แค่เรื่อง “แฟชั่น” แต่มันเป็นเรื่อง “การเมือง” การเลือกที่จะใส่อะไร ไม่ใส่อะไร เลือกที่จะทำให้ผู้คนจดจำตัวเองในแบบไหน เป็นไปเพื่อการใด การสร้างเอกลักษณ์ ตัวตน ของผู้หญิงในสนามการเมืองผ่านการแต่งกายมันคือการต่อสู้ทางการเมืองในรูปแบบหนึ่ง ทั้งในแง่ของพื้นที่ที่เป็นของผู้ชาย และในแง่การช่วงชิงพื้นที่ในระดับมวลชน

จำชุดสูทสีน้ำเงินของ มาร์กาเรต แทตเชอร์ ในวันที่เข้ารับตำแหน่งนายกรัฐมนตรีอังกฤษได้ไหมคะ ทั้งการเลือกสีน้ำเงินอันมาจากหนึ่งในสีของธงชาติสหราชอาณาจักร การเลือกใส่ชุดสูทกระโปรง ท่ามกลางนักการเมืองและนักการทหารผู้ชายที่สวมสูทสีเข้มทั้งสภา จนกลายมาเป็นสไตล์ที่เรียกว่า “แทตเชอร์สไตล์” และหากใครได้ดูภาพยนตร์เรื่อง “Iron Lady” ก็จะพบว่าเบื้องหลังชุดสูทกระโปรงสีน้ำเงินที่เธอใส่ติดต่อกันมาตั้งแต่หาเสียงเลือกตั้งจนถึงวันรับตำแหน่งนายกรัฐมนตรี รวมไปถึงทรงผมตั้งกระบังเป็นลอนสวยที่ไม่เคยเปลี่ยนเลยของเธอนั้น ล้วนมาจากการสร้าง การเลือก การจงใจ ผ่านกระบวนการคิดมาแล้วให้เป็นอย่างนั้นเพื่อจุดประสงค์ในทางการเมืองทั้งสิ้น จนกลายเป็นว่านี่คือโมเดลในการแต่งกายของผู้หญิงในสนามการเมืองทั่วโลกที่หันมาหยิบชุดสีรอยัลบลูในการนำเสนอตัวเองในฐานะผู้หญิงที่ทำงานการเมือง ทั้งรองนายกรัฐมนตรีหญิงของประเทศจีน หลิวเอี๋ยนตง อดีตผู้ว่าการรัฐมิชิแกน เจนนิเฟอร์ แกรนโฮล์ม อดีตนายกรัฐมนตรีนิวซีแลนด์ เจนนี่ ชิปลีย์ อดีตผู้ว่าการเซนต์ปีเตอร์เบิร์ก วาเลนติน่า มัตวิเยนโก หรือผู้แทนสภาฯ เอเลเนอร์ โฮล์มส นอร์ตัน ก่อนที่เคลื่อนย้ายไปสู่สีอื่นๆ ทั้งชุดสีแดงของอดีตประธานาธิบดีไอร์แลนด์ มารี แมคอาลีส สีเหลืองของอดีตประธานาธิบดีหญิงคนแรกของไอซ์แลนด์ วิกดิส ฟินน์โบกาโดต์เทียร์ หรือชุดสีชมพูของอดีตประธานาธิบดีหญิงฟิลิปปินส์ กลอเรีย อาร์โรโย

000_DV2200956.jpg
  • ชุดสูทสีรอยัลบลูอันเป็นตำนานของอดีตนายกรัฐมนตรีอังกฤษ

หรือแม้แต่การแต่งกายของ ฮิลลารี คลินตัน เมื่อครั้งที่เป็นเฟิสต์เลดี้ กับเมื่อครั้งที่ทำงานการเมืองก็แตกต่างกัน จากชุดสูทกระโปรงสีสดที่มีความหรูหราด้วยจิวเวลรี่สู่ชุดสูทกางเกงสีน้ำเงิน (เธอมักใส่สีน้ำเงิน แดง ขาว —สีของธงชาติอเมริกา) ที่มีความเรียบง่ายกว่านั้น (แต่ของ Ralph Lauren แบรนด์อเมริกันระดับโลกนะคะ)

063_1078781830.jpg

หรือแม้แต่นักการเมือง/ผู้นำประเทศหญิงของประเทศโลกที่สาม ด้อยพัฒนาหรือกำลังพัฒนาที่มักแต่งกายในชุดพื้นเมือง แน่นอนว่ามองเผินๆ มันคือการเคารพและต้องการนำเสนอวัฒนธรรมผ่านทางเครื่องแต่งกาย แต่อีกนัยหนึ่งมันคือการยักย้ายอำนาจในเรื่องของการทหาร เศรษฐกิจ (ที่อาจจะมีน้อยในการต่อรองในเวทีโลก) มาสู่อำนาจของวัฒนธรรม ความเอ็กซอติก ที่ประเทศมหาอำนาจทางเศรษฐกิจการเมืองอาจจะไม่มีหรือไม่เลือกต่อสู้ในประเด็นนี้ ตัวอย่างง่ายๆ คือการแต่งกายของอองซานซูจีแห่งเมียนมา เสื้อและผ้าซิ่นแบบพม่าพร้อมดอกไม้ทัดผม เพราะนั่นคือ “อำนาจ” ของสัญลักษณ์หรือภาพตัวแทนของเธอ

หรือที่เห็นชัดเจนและเป็นปัจจุบันที่สุดก็คือแบรนด์เครื่องแต่งกายของ มิเชล โอบามา ในขณะที่เธอเป็นเฟิสต์เลดี้ของสหรัฐอเมริกา ไม่ว่าจะเป็น Isabel Toledo (คิวบา), Narciso Rodriguez (คิวบา แอฟริกัน สเปน) , Naeem Khan (อินเดีย), Roksanda Ilincic (เซอร์เบีย), Jason Wu (ไต้หวัน), Rachel Roy (อินเดีย), Duro Olowu (ไนจีเรีย), Tracy Reese (แอฟริกัน-อเมริกัน), Azzedine Alaia (ตูนิเซีย), Thakoon (ไทย) จะเห็นว่าบรรดาดีไซเนอร์ที่เธอเลือกส่วนมาก นอกจากจะไม่ใช่ซูเปอร์แบรนด์แล้ว ดีไซเนอร์ยังเป็นคนเชื้อชาติอื่นๆ ที่ไม่ใช่อเมริกัน (แต่ส่วนมากเป็น 'อเมริกันบอร์น' ที่พ่อแม่อพยพมาจากที่อื่น) เกินครึ่งเป็นดีไซเนอร์เชื้อชาติแอฟริกัน-อเมริกัน ก็เพื่อที่จะขับเน้นความเป็นเฟิสต์เลดี้ผิวสีแอฟริกัน-อเมริกันคนแรกของสหรัฐอเมริกา สร้างความโดดเด่น เป็นของตัวเอง เชื่อมโยงกับอัตลักษณ์ทางชาติพันธุ์แต่ยังผสมผสานความเป็นโมเดิร์นและแฟชั่น ไม่ซ้ำทางกับ 'แจ๊กกี้ โอ' อดีตเฟิสต์เลดี้ที่ขึ้นชื่อว่าแต่งตัวดีจนเป็นตำนานอีกด้วย จะว่าไปแล้วการสร้างภาพลักษณ์เอ็กโซติกแบบนี้ก็เป็นการ ‘Discriminate’ ความเป็นอเมริกันผิวขาวของคนอเมริกันทั่วไปเช่นกัน (อ้างอิงจาก ประชาไท )    

000_Mvd1210118.jpg

เอาล่ะ...ทีนี้มาดูผู้หญิงไทยกันบ้าง เริ่มจาก คุณช่อ-พรรณิการ์ วานิช กับชุดสูทกางเกงสีเหลือบไล่จากสีดำในช่วงล่างไปสู่สีขาวในช่วงบน จากแบรนด์ POEM ทั้งการเลือกชุดสูทกางเกง (ซึ่งในปัจจุบันเป็นเรื่องปกติ) การเลือกที่จะตีความ “ชุดไว้ทุกข์” แทนที่จะยึดตามตัวอักษรของประกาศที่บอกว่า “ชุดดำ” รวมไปถึงชุดที่เรียกว่า ขาว-ดำ แบบที่เธอสวมใส่ก็ไม่ใช่เสื้อเชิ้ตขาว สูทดำตามขนบทั่วไปหรือในแบบที่ ส.ส.ชายสวมใส่ แต่เป็นดำเหลือบไล่เฉดไปยังขาว ทั้งหมดนั้นแสดงให้เห็นถึงการปฏิเสธกรอบหรือขนบ การต่อสู้ภายใต้กรอบหรือขนบที่กำหนดไว้ การปฏิเสธแนวคิดแบบอนุรักษ์นิยม ทั้งในภาพผู้หญิงซึ่งเป็นตัวแทนเจ้าหน้าที่รัฐที่เรามักจะมีภาพแทนว่าสวมสูทเชยเฉิ่มกับกระโปรงยาวระดับหัวเข่ารองเท้าคัทชูทั้งหมดในโทนสีดำหรือหรือสีเข้ม แต่เธอเลือกที่จะสวมใส่ชุดสูทกางเกงมีดีไซน์ ในขณะเดียวกันก็พร้อมที่จะปะทะกับกรอบหรือขนบตามบริบทที่วางเอาไว้ ดังจะเห็นได้จากทั้งการเลือกตีความคำว่าชุดไว้ทุกข์แทนที่จะใส่ชุดสีดำตามประกาศ หรือแม้กระทั่งคำว่าชุดขาวดำของเธอก็ไม่ใช่ขาวดำธรรมดาตามขนบทั่วไปอย่างที่ได้กล่าวไว้ข้างต้น

พรรณิการ์ วานิช

ไม่ว่าจะด้วยความตั้งใจหรือไม่ตั้งใจก็ตามคุณช่อทำให้เราเห็นภาพของเธอเป็นเช่นนั้น ทั้งจากการกระทำไปจนถึงจากเสื้อผ้าที่เธอเลือกสวมใส่ในครั้งนี้

เพราะในขณะเดียวกัน คุณศรีนวล บุญลือ ส.ส. เขต 8 จังหวัดเชียงใหม่จากพรรคเดียวกัน มาในชุดสูทสีดำ ซึ่งหากมองภายใต้คอนเซปต์เดียวกันกับฮิลารี คลินตัน หรือแม้แต่อังเกล่า แมร์เคิล นายกรัฐมนตรีเยอรมนี ผู้ปรากฏกายในชุดสูทกางเกงเสมอ ก็จะเห็นว่าภาพตัวแทนของคุณศรีนวล คือลักษณะนักการเมืองหญิงที่ต้องการก้าวมาสู่ความเป็นผู้หญิงจริงจัง ซีเรียส และทำงานจริง

ศรีนวล บุญลือ

ซึ่งหากย้อนไปยังที่มาของแนวความคิดของผู้หญิงใส่สูท อันเป็นผลมาจากความพยายามสร้างภาพลักษณ์ให้เท่าเทียมกันกับผู้ชายในสนามการเมืองอันเป็นสนามของผู้ชายแต่เดิม ซึ่งเป็นแนวคิดของเฟมินิสต์ยุคแรกๆ ที่มองการต่อสู้ระหว่างหญิงและชายเป็นแบบขั้วตรงข้าม ก่อนที่จะมีผู้หญิงอย่างมาร์กาเรต แทตเชอร์ ที่บอกว่าฉันจะต่อสู้ในสนามการเมืองของผู้ชายด้วยอัตลักษณ์แบบผู้หญิงนี่แหละ ด้วยการสวมใส่ชุดสูทกระโปรง เชิ้ตผูกโบว์ และหมวกอันมีความเป็นผู้หญิงเต็มเปี่ยม เป็นการสู้กับผู้ชายโดยไม่จำเป็นต้องเป็นหรือทำตัวเหมือนในแบบผู้ชาย แต่สู้ด้วยความเป็นผู้หญิงนั่นเอง เพราะฉะนั้นหากมองเทียบเคียงกับแนวคิดดังกล่าว ชุดสูทกางเกงสีดำทั้งตัวแบบเรียบง่ายของคุณศรีนวลก็มาพร้อมคำประกาศตัวในการเป็นเวิร์กกิ้งวูแมนที่พร้อมทำงานอย่างเต็มที่เทียบเท่าผู้ชายในสนามการทำงานที่ครั้งหนึ่งเคยเป็นของผู้ชายทั้งหมดนั่นเอง เรียกว่า ส.ส.หญิงไม่ได้เป็นเพียงไม้ประดับอย่างที่ใครๆ เขาว่ากันนั่นเอง (การเลือกใส่ชุดสูทกางเกงของคุณช่อเองก็มาพร้อมกับแนวความคิดนี้เช่นเดียวกัน)

สิ่งที่น่าสนใจสำหรับฉันคือเสื้อผ้าของผู้หญิงอีกสองคนนั่นก็คือคุณตั๊น จิตภัสร์ กฤดากร และมาดามเดียร์ วทันยา วงษ์โอภาสี

มาดูกันที่คุณตั๊น จิตภัสร์ ก่อน ซึ่งต้องบอกว่าชุดเธอสวยเป๊ะมากกก...กับชุดกระโปรงเข้ารูปสีดำที่มีดีเทลเรียบง่ายแต่เก๋จัดทั้งแขนยาวเลยศอก กระโปรงทรงสอบ และเปิดไหล่ ผ่าตรงหน้าอกเป็นรูปตัววี บอกเลยว่าคัตติ้งเนี้ยบมากกก...และดูเหมือนว่าชุดของเธอนั้นไม่เหมือนใครเลย

จิตภัสร์

ความน่าสนใจของชุดของคุณตั๊น จิตภัสร์ ไม่ได้มีเพียงความเรียบหรูของดีไซน์และคัตติ้งเท่านั้น แต่มันยังอยู่ที่การเลือกสวมใส่ชุดเพื่อนำเสนอภาพลักษณ์ของตัวเองของเธออีกด้วย หากเทียบเคียงชุดของคุณตั๊นกับผู้หญิงในสนามการเมืองต่างๆ ในหนังสือ “Power Dressing : First Ladies, Women Politicians & Fashion” โดย Robb Young หรือไม่ต้องเปิดหนังสือดูก็ได้ จะพบว่าชุดของคุณตั๊น (ซึ่งเป็นซิลูเอตต์ชุดสไตล์ยุค 60s) มีความเป็นชุดในแบบ “สุภาพสตรีหมายเลขหนึ่ง” มากกว่าจะเป็นชุดของนักการเมืองหญิง ลองนึกถึงชุดของแจ็กกี้ โอ, คาร์ล่า บรูนี หรือแม้กระทั่งมิเชล โอบามา ดูสิ มองเผินๆ ฉันว่าคุณตั๊นกำลังจะไปงานอะไรสักอย่างที่มีทั้งความเป็นทางการ ดูเป็นงานออกแขกงานบ้านงานเมือง และมีความหรูหราอยู่หน่อย มากกว่าจะไปประชุมสภา อันนี้ไม่ได้แดกดันนะคะ ชุดเธอสวยจริงๆ

อภิสิทธิ์ลาออก ณัฏฐพล จิตภัสร์

และเมื่อพิจารณาจากรายละเอียดเล็กๆ น้อยๆ อื่นๆ ในการแต่งกายของคุณตั๊น ก็จะเห็นว่ามีการประดับเหรียญตราไว้ที่หน้าอก (ของคุณช่อและคุณศรีนวลเป็นเข้มกลัดพรรค) ซึ่งวัฒนธรรมการประดับเหรียญตราแน่นอนว่ามาทั้งจากวัฒนธรรมของทหารในการแสดงยศหรือเครื่องแทนการประกอบคุณงามความดีต่อประเทศชาติ หรือในชนชั้นสูงก็หมายถึงลำดับชั้นทางสังคมเช่นเดียวกัน ประกอบกับต่างหูมุกที่เธอสวม ซึ่งแน่นอนว่ามุกนั้นมีนัยแห่งความหมายของเครื่องประดับของคนชั้นสูง ทั้งตามเทพปกรณัม ที่กล่าวไว้ว่า ไข่มุกเป็นเครื่องประดับชิ้นโปรดของเทพีจูโน พระชายาและพระขนิษฐาของเทพซูส หรือไข่มุกถือเป็นเครื่องประดับที่พระนางซูสีไทเฮาโปรดปรานอย่างที่สุด หรือไม่ต้องย้อนไปไกล ดูจากภาพยนตร์เรื่อง Hidden Figures ก็แล้วกัน ในฉากที่แคทเธอรีน จอห์นสัน ตะโกนว่า “พระเจ้ายังรู้เลยว่าพวกคุณจ่ายค่าจ้างคนผิวสีในจำนวนเงินที่ไม่พอจะซื้อสร้อยมุกธรรมดาๆ สักเส้นด้วยซ้ำ”

ตั๊น จิตภัสร์

ภาพเสนอของนักการเมืองหญิงผ่านการแต่งกายของคุณตั๊นนั้น จึงดูเหมือนว่าจะถูกขับเน้นให้ไปผูกติดกับสถาบันหรือสังคมชั้นสูงมากกว่าการเป็นนักการเมืองหญิงในแบบคนอื่นๆ ไม่ว่าจะด้วยซิลูเอตต์ของชุด การประดับเหรียญตรา หรือต่างหูมุกอันนั้น และจะได้ด้วยความตั้งใจหรือไม่ตั้งใจก็ตาม มันช่างกลมกลืนเป็นเนื้อเป็นหนังเดียวกันกับสิ่งที่เธอเป็นเสมอมา

คนที่น่าสนใจที่สุดสำหรับดิฉันก็คือมาดามเดียร์ วทันยา วงษ์โอภาสี เธอแต่งตัวด้วยเสื้อเชิ้ตตัวโคร่งคอปกตั้งสีดำคาดทับด้วยเข็มขัดสีดำ กระโปรงทรงสอบยาวเลยเข่าสีเทา และเลือกที่จะถือกระเป๋าคลัตช์ใบใหญ่แทนที่จะเป็นกระเป๋าสะพายหรือกระเป๋าถือ ความน่าสนใจของชุดของมาดามเดียร์ คือการพลางทุกอย่างให้ดูเป็น “กลาง” หรือไม่มีอะไรพิเศษมากที่สุด หากเราพิจารณาพื้นฐานทางด้านเศรษฐกิจและสังคมของมาดามเดียร์จะพบว่า เธอสามารถสวมใส่อะไรก็ได้ในแบบที่ดูออกว่าว่านี่แบรนด์อะไร หรือแพงแค่ไหน เธอเลือกเสื้อเชิ้ตสีดำคอปกตั้งในสไตล์ Carolina Herrera (แต่ไม่รู้ว่าเธอใส่แบรนด์อะไรนะคะ) ที่มีซิกเนเจอร์เป็นเสื้อเชิ้ตคอปกตั้งอันแสดงให้เห็นถึงความโก้หรู งามสง่าและพลังอำนาจของผู้หญิง แมตช์กับกระโปรงทรงสอบสีเทาเรียบง่าย และคาดเข็มขัดสีดำทับชายเสื้อ ซึ่งมันเป็นสไตล์ยุค 40s ที่ได้แรงบันดาลใจมาจากเครื่องแบบทหารหญิง

เดียร์ วทันยา

การพรางของเธอตามที่บอกก็คือในชุดนี้เธอเลือกที่จะไม่ทำให้มันดูเรียบร้อยเป็นทางการไป ดังเช่นชุดสูทประโปรงหรือชุดยูนิฟอร์มทางการต่างๆ ทั้งการเลือกเป็นเชิ้ตตัวโคร่ง และปล่อยชายออกมาข้างนอกรัดด้วยเข็มขัด เพื่อที่จะบอกว่าเธอไม่ได้ดูโบร่ำโบราณคอนเซอร์เวทีฟ ในขณะเดียวกันก็ไม่ได้เลือกที่จะดูเปรี้ยวหรือหรูหราไปมากกว่านี้จนทำให้รู้สึกว่าเธอแหกกฎ ออกนอกกรอบหรือท้าทายขนบอะไรอยู่ เธอใส่ต่างหูเพชรเม็ดเล็กแสดงความเป็นเฟมินีนมากกว่าจะเลือกแสดถึงความหรูหราในแบบโจ่งแจ้งด้วยด้วยชิ้นที่ใหญ่หรือดูโดดเด่นไปกว่านี้ อีกทั้งยังบาลานซ์ความเป็นเฟมินีนนั้นด้วยเสื้อเชิ้ตและนาฬิกาข้อมือ ที่ดูให้ความรู้สึกว่าเป็น “บิสซิเนสวูแมน” มากกว่าจะเป็นผู้หญิงแต่งตัวสวยเก๋ใส่กำไลข้อมือ ไม่เพียงแค่นั้นการเลือกที่จะถือกระเป๋าคลัตช์ใบโต ซึ่งสะท้อนให้เห็นความเป็นบิสซิเนสวูแมนหรือเวิร์กกิ้งวูแมนมากกว่ากระเป๋าสะพายหรือกระเป๋าถือ (ดูคล้ายกับการถือแฟ้มทำงาน)

ลุคของมาดามเดียร์ทำให้นึกถึงนักการเมืองหญิงอย่าง ราชิดา ดาติ อดีตรัฐมนตรีกระทรวงยุติธรรมของฝรั่งเศส ซึ่งเธอพูดถึงการแต่งตัวว่า ทั้งการสวมใส่อะไรที่ดูหรูหรา หรือแม้แต่บ่งบอกว่าเป็นแบรนด์หรู (เธอยกตัวอย่างดิออร์) มันสร้างผลกระทบต่อตัวผู้หญิงทั้งนั้น โดยเฉพาะผู้หญิงที่เข้ามาทำงานที่ดูซีเรียสอย่างงานการเมือง อย่างเธอเองเธองดเว้นการใส่แบรนด์หรู เช่น ดิออร์ ด้วยเพราะเธอเป็นผู้อพยพมาก่อน เพราะฉะนั้นความหรูหราในการแต่งกายของนักการเมืองหญิงที่มีแบ๊กกรานด์เช่นเธออาจจะนำไปสู่ประเด็นการวิพากษ์วิจารณ์อื่นๆ เช่น เรื่องชนชั้น ได้

เดียร์ วทันยา

และดิฉันก็รู้สึกว่ามาดามเดียร์น่าจะเข้าใจการเมืองในเรื่องนี้ดี เธอจึงทำให้ตัวเองไม่ได้ดูโดดเด่นจนเกินไปจนน่าจับตาแต่ในขณะเดียวกันก็ไม่ได้ทำให้ตัวเองดูตกยุคตกสมัยโบราณคร่ำครึ วางภาพของตัวเองไว้อย่างดีกว่าไม่ได้คอนเซอร์เวทีฟแต่ในขณะเดียวกันก็ไม่ได้สุดขั้วไปในทางใดทางหนึ่ง

อ้อ…อีกคนที่จะลืมไปเสียมิได้เลยก็คือ แพทย์หญิงคุณหญิงพรทิพย์ โรจนสุนันท์ กับชุดสีดำที่มีคนบอกว่าแบรนด์ Black Sugar รองเท้าบู๊ตตอกหมุดแบรนด์ Dr.Martens กระเป๋าเป้แบรนด์ Bao Bao Issey Miyake รวมไปถึงทรงผมและสีผมอันโดดเด่นของเธอ ที่รวมๆ แล้วออกมาสไตล์ในพังก์หรือโกธ ซึ่งเป็นสิ่งที่คุณหญิงหมอแต่งมาโดยตลอดทั้งก่อนหน้าที่จะได้เป็น ส.ว. ในครั้งนี้ ซึ่งในฐานะคุณหมอก็นับว่าแปลกและแตกต่างอย่างเห็นได้ชัด

บอกตามตรงในบรรดาชุดทั้งหมดดิฉันชอบชุดของคุณหญิงหมอมากๆ ยกเว้นกระเป๋านะคะ มันไม่เข้ากันเลยค่ะ จะพังก์ก็พังก์ให้สุดค่ะคุณหญิงหมอ คุณหญิงหมอซื้อกระเป๋าโท้ตแบ๊กหรือทรงบั๊กเก็ตสีดำประดับหมุดของ Valentino หรือ Saint Laurent ใช้ดีกว่าค่ะ ดิฉันแนะนำ

พรทิพย์

การแต่งกายของคุณหญิงหมอมันคือการสร้างความแตกต่างแปลกแยก การต่อต้านขนบธรรมเนียมหรือรูปแบบของสังคมในแบบพังก์ ในแบบแต่ในขณะเดียวกันมันก็ต้องการ “การถูกเห็น” อย่างมาก ด้วยความพยายามสร้างสิ่งที่ไม่อยู่ในกรอบที่ตัวเองสังกัด ยิ่งต้องพยายามที่จะป๊อปอัพตัวเองขึ้นมาให้ถูกเห็นภายใต้ความเหมือนกันไปหมด (ดังเช่นยูนิฟอร์มของหมอที่เป็นเครื่องแบบชุดสีขาว) เพื่อให้ตัวเองโดดเด่นเป็นเอกลักษณ์ ถูกเห็นและจดจำได้นั่นเอง 

แน่นอน…บางคนอาจจะยังคงรู้สึกว่ามันไร้สาระที่จะมานั่งวิจารณ์หรือวิเคราะห์ในเรื่องเสื้อผ้า ทำไมไม่ไปวิเคราะห์อะไรที่มันใหญ่กว่านั้น แต่อย่างที่บอกไปข้างต้น และที่สำคัญการเมืองมันอยู่กับเราทุกที่ ไม่ว่าจะในสภา หรือว่าบนเสื้อผ้าเครื่องแต่งกายของคน เพียงแต่เราจะมองเห็นมันหรือเปล่าว่ามันคือการเมืองในรูปแบบไหนต่างหาก

อ่านเพิ่มเติม:

รุ้งรวี ศิริธรรมไพบูลย์
สาวหวาน ชอบปลูกกุหลาบ แต่กุหลาบมักจะตาย เลยต้องปลูกใหม่ไปเรื่อยๆ
0Article
0Video
0Blog