ไม่พบผลการค้นหา
ในยุคที่การเมืองบ้านตัวเองมีแต่ความมืดมนอึมครึมไม่ชัดเจน ถามไปก็ไม่ได้คำตอบ ถามมากก็เสี่ยงคุกเสี่ยงตะราง คนเราก็มีแนวโน้มจะหันไปสนใจการเมืองบ้านอื่นเขาบ้าง เพื่อความเพลิดเพลินจำเริญใจและปลอดภัยต่อความมั่นคงของชาติและของชีวิตตัวเองมากกว่า

การเมืองเพื่อนบ้านที่กำลังน่าสนใจไม่แพ้ชาติใดในโลกเลย ณ เพลานี้ก็คือมาเลเซีย ซึ่ง ดร. มหาธีร์ โมฮะหมัด ผู้ซึ่งเคยดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีมาเลเซียมาแล้วถึง 22 ปีติดต่อกัน (ค.ศ. 1981 – 2003) เพิ่งได้รับเลือกตั้งให้กลับเข้ามาดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีอีกวาระหนึ่งเมื่อไม่นานมานี้ด้วยวัย 93 ปี การเลือกตั้งที่พาเอาคุณปู่มหาธีร์กลับเข้าสู่สังเวียนการเมืองอีกครั้งนี้ก็ต้องนับว่าเป็นการเลือกตั้งครั้งประวัติศาสตร์ที่ดราม่ามากที่สุดในหลายปีที่ผ่านมาของมาเลเซียเลยทีเดียว

เพราะมหาธีร์ได้รวมกลุ่มทางการเมืองมาโค่นอำนาจของนายนาจิบ ราซักที่เป็นนายกรัฐมนตรีที่มาจากพรรคอัมโนซึ่งเป็นพรรคเดิมของมหาธีร์ และนาจิบเองก็เคยถูกมองว่าเป็นทายาททางการเมืองของมหาธีร์อีกต่างหาก แต่ปู่แกว่าแกไม่ไหวละ นาจิบมันโกงมากเกิน โกงทั้งระบบ โกงทั้งครอบครัวผัวเมียลูกหลาน โกงกันจนประเทศชาติบ้านเมืองจะพังหมดละ ปู่เลยต้อง return สู่การเมืองอีกครั้ง 

เท่านั้นยังไม่พอ ยังหันกลับไปคืนดีกับอดีตลูกน้องมือขวา อันวาร์ อิบราฮิม ที่เคยแตกคอกันไปถึงขั้นเอาเข้าคุกเข้าตะรางกันเลยทีเดียว คราวนี้กลับต้องร่วมกันสู้กับความขี้โกงของนาจิบ มหาธีร์ถึงขั้นต้องไปเอาอันวาร์ออกมาจากคุกแล้วมาร่วมตั้งรัฐบาลด้วยกันทั้งผัวเมีย (หมายถึงอันวาร์กับเมียอันวาร์ชื่อ วัน อาซิซา อิสมาอิล มาร่วมสนับสนุนรัฐบาลของมหาธีร์ด้วยกันทั้งคู่) แล้วก็ประกาศว่าจะเป็นนายกฯ อยู่อีกแค่ 2 ปี ปราบโกงเสร็จแล้ว ซ่อมระบบราชการเสร็จแล้ว จะให้อันวาร์เป็นนายกต่อ ดราม่าเบอร์ไหนถามใจเธอดูนะจ๊ะ จากมือขวาทางการเมือง โกรธกันจับเข้าคุก แล้วไปช่วยออกมาแล้วยกให้เป็นทายาททางการเมืองต่อเนี่ย

เอาเถอะ... คอลัมน์นี้เรื่องจีน ไม่ใช่เรื่องมาเลเซีย แต่ประเด็นที่น่าสนใจที่มาเกี่ยวกับจีนมันอยู่ที่ประวัติศาสตร์บางอย่างของ มหาธีร์ โมฮะหมัด คือครั้งหนึ่งนานมาแล้ว เขาเคยทะเลาะกับ ตนกู อับดุล รามาน นายกรัฐมนตรีคนแรกของมาเลเซีย และเรียกร้องให้เขาลาออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี เพราะไม่รักษาผลประโยชน์ของคนชาติพันธุ์มาเลย์ ปล่อยให้คนเชื้อสายจีนมาเอารัดเอาเปรียบ กอบโกยผลประโยชน์ในมาเลเซียไปหมด ผลคือนายกฯ ไม่ลาออก แต่มหาธีร์ถูกไล่ออกจากพรรคอัมโนไปรอบหนึ่งเมื่อปี ค.ศ. 1969 ต้องรอจนตนกูลาออกจากตำแหน่งและมีนายกรัฐมนตรีใหม่คือ อับดุล ราซัก ฮุสเซน (พ่อของนาจิบนั่นแหละ) มหาธีร์จึงได้รับเชิญให้กลับเข้าพรรคอัมโนและได้เป็นสมาชิกวุฒิสภาอีกครั้งในปี 1973 

มหาเธร์ โมฮัมหมัด อันวาร์ อิบราฮิม

ประเด็นของวันนี้อยู่ที่ช่วง 3-4 ปีที่มหาธีร์ต้องระเห็จออกจากพรรคอัมโนไปเป็นเจ้าไม่มีศาลนั่นแหละ เขาได้เขียนหนังสือที่มีชื่อเสียงร้ายแรงมากเล่มหนึ่งออกมาชื่อ The Malay Dilemma แปลเป็นไทยก็คงจะประมาณ 'ความอิหลักอิเหลื่อของชาติพันธุ์มาเลย์' ละมัง ตีพิมพ์ออกมาครั้งแรกในปี 1970 เล่มนี้น่าจะเรียกได้ว่าเป็นฐานรากทางความคิดและที่มาของนโยบายภูมิบุตรซึ่งมหาธีร์นำมาใช้อย่างเต็มรูปแบบเมื่อได้กลับมาเป็นนายกรัฐมนตรีในอีก 11 ปีต่อมา ในหนังสือเล่มนี้มหาธีร์อธิบายถึงความเหนือกว่าของคนชาติพันธุ์จีนไว้ได้อย่างน่าสนใจ สรุปใจความโดยย่อก็คือคนมาเลย์นั้นอยู่กันมาอย่างสบายมากเพราะว่าแหลมมลายูนั้นช่างอุดมสมบูรณ์ นั่งอยู่เฉยๆ ก็มีลูกมะพร้าวตกลงมาให้กินได้ ปลูกอะไรก็ขึ้น กุ้งหอยปูปลา สัตวน้ำสัตว์บกก็มีมากมายหากินได้ไม่ต้องลำบาก อากาศก็แสนจะดี บางเวลาก็ร้อนมากทำให้ขี้เกียจ หน้ามรสุมก็ฝนตกเยอะออกข้างนอกบ้านลำบาก ชวนให้นอนเล่นอยู่ในบ้านสบายๆ ดีกว่า 

ทีนี้พอมีเจอคนจีนซึ่งส่วนใหญ่ถูกนำเข้ามาในมลายาโดยเจ้าอาณานิคมอังกฤษ ซึ่งต้องการแรงงานมาทำเหมืองดีบุกและสร้างทางรถไฟ คนจีนเนี่ยมาจากประเทศที่แออัดยัดเยียดประชากรล้น ที่ทำกินและทรัพยากรธรรมชาติไม่เพียงพอ ต้องแข่งขันกันอย่างหนักตลอดเวลา ใครอ่อนแอก็แพ้ไป ตั้งแต่คนชั้นล่างสุดที่ถูกเกณฑ์มาเป็นกุลีนั้นถ้าไม่อึดจริงก็ต้องเหนื่อยตายหรือเป็นโรคตาย และถ้าไม่ประหยัดอดออมอย่างถึงที่สุดก็ไม่มีวันไถ่ตัวออกมาทำมาหากินอย่างอื่นได้ ต้องทำงานใช้แรงงานหนักไปจนตายด้วยวัยไม่มาก (เพราะงานมันหนักและโหดมากจริงๆ) จนไปถึงชนชั้นนำก็อยู่กับวัฒนธรรมการสอบเข้ารับราชการ (ที่หนังจีนเรียกว่าสอบจอหงวนนั่นแหละ) มายาวนาน ต้องสอบแข่งกันทั่วจักรวรรดิ คนเป็นล้านสอบแข่งเอาตำแหน่งในหน่วยงานราชการปีละไม่กี่ร้อยตำแหน่ง ดังนั้นสัญชาตญาณการแข่งขันนั้นมันซึมลึกเข้าไปถึงระดับดีเอ็นเอของคนจีนไปแล้ว

สรุปคือ ถ้าไม่ให้อภิสิทธิ์กับคนมาเลย์ซึ่งเป็นเจ้าของประเทศมาเลเซียเนี่ย มาเลเซียก็จะต้องถูกยึดครองโดยคนเชื้อสายจีนเป็นแม่นมั่น และคนมาเลย์ซึ่งเป็นเจ้าของบ้านก็ต้องกลายเป็นประชากรชั้น 2 เพราะชีวิตไม่เคยต้องลำบากต้องแข่งขันอะไรกับใครมากมายมาก่อนเจ้าอาณานิคมเฮงซวยจะขนคนเชื้อสายจีนมาอยู่ร่วมคาบสมุทรเดียวกันตั้งเป็นแสนเป็นล้านคนในปลายศตวรรษที่ 19 อันนี้ก็เลยเป็นที่มาของนโยบายภูมิบุตรซึ่งให้อภิสิทธิ์ทั้งด้านการเมือง เศรษฐกิจ สังคมและวัฒนธรรมแก่คนชาติพันธุ์มาเลย์ ซึ่งถือว่าเป็นบุตรแห่งแผ่นดินแหลมมลายู หรือ 'ภูมิบุตร' เหนือกว่าชาวจีนหรือชาวอินเดียที่เดินทางเข้ามาพำนักอยู่ในดินแดนนี้ในสมัยหลังพร้อมกับเจ้าอาณานิคม

แล้วมันจริงมั้ยที่มหาธีร์ว่าไว้ใน The Malay Dilemma เนี่ย? อันที่จริงเขาก็มีประเด็นอยู่นะ อย่างเรื่องวัฒนธรรมการสอบเข้ารับราชการหรือการสอบจอหงวนเนี่ย จีนเขาปฏิบัติกันมายาวนานตั้งแต่สมัยราชวงศ์ฮั่น หรือราว 200 ปีก่อนคริสตกาลเลยทีเดียว หลักการก็คือจักรวรรดิจีนปกครองโดยใช้หลักปรัชญาขงจื่อ ซึ่งไม่ใช่ประชาธิปไตย แต่เชื่อว่าต้องให้ปราชญ์ปกครองบ้านเมือง ปราชญ์ก็คือคนที่มีความรู้เรื่องปรัชญาขงจื่อซึ่งเกี่ยวเนื่องกับการบริหารความสัมพันธ์ระหว่างคนทั้งหลายทุกชั้นทุกอาชีพทุกสายตระกูลให้อยู่ร่วมกันในสังคมได้อย่างเป็นสุข

AFP-ทหารจิ๋นซี-รูปปั้นทหาร-terracotta-ทหารดินเผาจีน

ดังนั้นเวลาจะคัดคนเข้ารับราชการคือมาทำหน้าที่ปกครองเนี่ย เขาก็เลยต้องคัดจากคนที่มีความรู้เรื่องปรัชญาขงจื่อโดยให้เขียนเรียงความด้วยภาษาอันสละสลวยแล้วก็ตัดสินว่าใครเขียนได้ดีที่สุดคนนั้นก็ได้รับคัดเลือกเข้ารับราชการ และระบบการสอบนี้ก็เปิดกว้างพอสมควรและมีแนวโน้มจะเปิดกว้างขึ้นเรื่อยๆ ตลอดประวัติศาสตร์จีนยุคราชวงศ์ คือสามัญชนเพศชายโดยทั่วไปที่ไม่ได้เป็นอาชญากรและไม่ได้ทำอาชีพน่ารังเกียจ (อาทิ ค้าประเวณี สัปเหร่อ หรืองานที่ต้องเกี่ยวข้องกับหนังสัตว์หรือซากสัตว์ อันนี้ไม่ใช่อิฉันเห็นว่าน่ารังเกียจนะคะ มันเป็นอาชีพที่โดยรวมๆ แล้วสังคมยุคก่อนสมัยใหม่ในหลายวัฒนธรรมมีความเห็นร่วมกันว่าน่ารังเกียจ) ก็มีสิทธิเข้าสอบได้ทั้งหมด (ส่วนเพศหญิงนั้นมีหน้าที่รับใช้ผัว พ่อแม่ผัว และผลิตลูกชายไว้สืบสกุลเท่านั้นในระบบสังคมนี้ ไม่ต้องสะเออะอยากจะสอบเข้ารับราชการหรือบริหารบ้านเมืองอะไรกับเขาหรอกค่ะ มันจะขึดซะเปล่าๆ ) 

แต่ระบบนี้มันก็ไม่ถึงกับจะ American Dream ซะทีเดียวนะคะ หมายความว่ามันไม่ใช่แค่ว่าใครขยันตั้งใจแล้วก็จะประสบความสำเร็จสอบได้หมดเสมอไป อันที่จริงมันมีการควบคุมกันทางสังคมพอสมควรเลยทีเดียว กล่าวคือ ก่อนจะมาถึงศตวรรษที่ 20 นั้น สังคมจีนไม่เคยมีคอนเซปต์เรื่องการศึกษาสาธารณะหรือการศึกษาภาคบังคับที่รัฐจัดให้ประชาชน หมายความว่าในระยะ 2,000 กว่าปีที่มีการสอบจอหงวนอยู่นั้น คนที่อยากจะเข้าสอบต้องมีปัญญาจัดการเรื่องการศึกษาของตัวเอง การศึกษาเป็นเรื่องของเอกชนทั้งหมด ซึ่งหมายความว่าโดยมากแล้วก็จะมีแต่ลูกคนรวยหรือลูกข้าราชการเท่านั้นที่สอบเข้ารับราชการได้ เพราะลูกคนจนก็ต้องทำมาหากิน อย่าว่าแต่จะหาเงินไปจ้างครูมาสอนเลย แค่เวลาจะไปเรียนก็ยังแทบจะไม่มีต้องทำไร่ไถนาเลี้ยงครอบครัวทุกวัน

แต่ก็นั่นแหละ... แม้มันจะมีความไม่เป็นธรรมเชิงระบบอยู่บ้างก็ต้องยอมรับว่าระบบการสอบจอหงวนนี้มันก็เปิดกว้างให้คนสามารถเข้าถึงอำนาจการปกครองได้มากกว่าระบบกษัตริย์ในวัฒนธรรมอื่นๆ ที่ร่วมสมัยกันอยู่ในทวีปเอเชียมาก คืออย่างน้อยขุนนางจีนก็ไม่ได้มาเฉพาะจากลูกหลานขุนนางหรือเชื้อพระวงศ์ในราชวงศ์เท่านั้น ลูกพ่อค้า ลูกคหบดี หรือลูกชาวนาที่ร่ำรวยหน่อยก็ยังพอมีสิทธิจะเข้าไปเป็นขุนน้ำขุนนางกับเขาได้ผ่านระบบการสอบเข้ารับราชการ และก็เป็นระบบที่ทำให้ราชสำนักจีนได้คนระดับหัวกะทิของสังคมมาทำงานให้ตลอดระยะเวลายาวนานกว่า 2,000 ปีในยุคราชวงศ์ของจีนนั้น

การสอบจอหงวนนั้นยกเลิกไปในปลายสมัยราชวงศ์ชิงเมื่อปี ค.ศ. 1905 เพราะสังคมโลกสมัยใหม่ต้องการข้าราชการที่มีความรู้สมัยใหม่ ไม่ว่าจะเป็น วิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์ ปรัชญาโลก ประวัติศาสตร์โลก ภาษาต่างประเทศ วรรณคดีเปรียบเทียบ ฯลฯ แต่วัฒนธรรมการแข่งขันในสังคมจีนก็ยังคงอยู่ในระดับเข้มข้นเสมอมา ไม่ว่าจะเป็นการแข่งขันเพื่อเอาชีวิตรอดในสภาวะสงคราม ข้าวยากหมากแพง ภัยธรรมชาติ ตลอดจนความไม่สงบทางการเมืองอันเนื่องมากจากความขัดแย้งทางอุดมการณ์ การเคลื่อนไหวและการปฏิวัติต่างๆ ที่เกิดขึ้นเกือบตลอดทั้งศตวรรษที่ 20 คนที่ไม่แข็งแรง ไม่ยืดหยุ่น ไม่สามารถปรับตัวให้ทันกับความเปลี่ยนแปลงอันรวดเร็วและรุนแรงที่เกิดขึ้นในจีนยุคสมัยใหม่อยู่ตลอดเวลาได้ก็มีโอกาสเอาชีวิตไม่รอดได้สูงในประเทศที่นับรวมคนตายจากกบฏนักมวย การเดินทัพทางไกล (Long March) สงครามมหาเอเชียบูรพา สงครามกลางเมือง แผ่นดินไหวใหญ่หลายครั้ง ภาวะข้าวยากหมากแพงจากนโยบายก้าวกระโดดที่ยิ่งใหญ่ (Great Leap Forward) จนถึงหนึ่งทศวรรษเต็มของการปฏิวัติวัฒนธรรมอาจจะรวมกันได้ถึง 100 ล้านคนเลยทีเดียว ดังนั้นก็ไม่ผิดนักหรอกถ้าจะอนุมานว่าคนจีนแผ่นดินใหญ่ที่เอาตัวรอดผ่านความลำเค็ญแห่งศตวรรษที่ 20 มาได้นั้นย่อมมีความแกร่งและความอึดฝังลึกไปถึงระดับดีเอ็นเอ เรียกว่าเป็นการคัดเลือกทางพันธุกรรมแบบมวลรวมอันมีที่มาจาก 100 ปีแห่งความอัปยศตามคำกล่าวของประธานเหมานั่นเอง

พรรคคอมมิวนิสต์จีนจารึกแนวคิด 'สีจิ้นผิง' ในรธน.

วัฒนธรรมอีกอย่างหนึ่งที่ยังคงอยู่ในสังคมจีนจนถึงทุกวันนี้ก็คือความพยายามของชนชั้นนำที่จะคัดเอาคนระดับหัวกะทิที่สุดของประเทศไปทำงานให้รัฐบาล แม้ว่าระบบการสอบจอหงวนจะยกเลิกไปนานแล้วแต่รัฐบาลจีนทุกยุคทุกสมัยรวมถึงรัฐบาลคอมมิวนิสต์ในปัจจุบันนี้ก็ให้ความสำคัญกับการดึงดูดคนเก่งคนฉลาดให้ไปทำงานให้พรรคและรัฐบาล ถ้าแอบไปดูตามมหาวิทยาลัยชั้นนำของจีนจะเห็นว่ายอดปรารถนาของกลุ่มนักเรียนนักศึกษาที่เรียนเก่งที่สุดคือการได้งานทำกับรัฐบาล และที่จะนำมาซึ่งอนาคตอันมั่นคงและเจริญรุ่งเรืองที่สุดก็คือการได้เข้าเป็นสมาชิกพรรคคอมมิวนิสต์จีนนั่นเอง เพราะงานรัฐบาลเป็นงานที่มั่นคง มีรายได้ไม่ขี้เหร่ มีเกียรติ มีลูกน้อง มีหน้ามีตาในสังคม และการเป็นสมาชิกพรรคคอมมิวนิสต์ก็จะนำไปสู่ความก้าวหน้าในหน้าที่การงานในระดับที่คนทั่วไปไม่มีทางแม้แต่จะฝันถึง

ในสถานการณ์เช่นนี้บวกกับบริบทการเป็นประเทศที่มีประชากรมากที่สุดในโลกและอัตราการแข่งขันทุกอย่างย่อมสูงกว่าประเทศอื่นๆ โดยทั่วไปเป็นสิบเป็นร้อยเท่าเสมอ ไม่ว่าจะเป็นแข่งกันเข้ามหาวิทยาลัย อัตราการแข่งขันกันเข้ามหาวิทยาลัยชั้นนำของจีนอย่าง ปักกิ่ง หรือชิงหัว ในระดับปริญญาตรีนั้นรับประกันได้ว่าสูงกว่ามหาวิทยาลัย Ivy League ของสหรัฐอเมริกา หรือ OxBridge ของอังกฤษหลายเท่าแน่นอน แข่งกันสอบชิงทุนการศึกษาของรัฐบาลหรือของมหาวิทยาลัยยิ่งยากหนักเข้าไปอีก แล้วเด็กระดับหัวกะทิที่เป็นเพชรยอดมงกุฎของระบบการแข่งขันอันโคตรโหดนี้ของระบบการศึกษาจีนทุกคนมาแย่งกันสมัครงานกับรัฐบาล มาแย่งกันเป็นตัวเลือกให้พรรคคอมมิวนิสต์จีนอีก

ก็นี่แหละค่ะ เผด็จการที่จะอยู่ได้ในโลกศตวรรษที่ 21 เผด็จการ 4.0 ที่จะมาเป็นอภิมหาอำนาจโลกนะคะ มันต้องไม่ธรรมดาอยู่แล้ว ต้องมีเคล็ดลับ ต้องกระตุ้นให้เกิดการแข่งขันกันภายในอย่างสูงที่สุด ต้องได้คนระดับจอหงวนแย่งกันมาทำงานให้รัฐบาล แย่งกันมาเข้าพรรคแบบไม่ต้องเสียเงินดูด มันต้องเป็นเผด็จการฉลาดนะคะ มันถึงจะเอาคนฉลาดมาใช้งานได้ ปู่มหาธีร์แกก็มองเกมขาดเหมือนกันนะคะ ความสามารถในการแข่งขันของจีนนี่ไม่แพ้ชาติใดในโลกจริงๆ ตั้งแต่สมัยราชวงศ์ฮั่นหรือสมัยพระเจ้าสีจิ้นผิงเนี่ย

อ่านเพิ่มเติม:

“อย่าบอกโรซี่”
คนทำงานวิชาการด้านประวัติศาสตร์จีน และจับตามองความสัมพันธ์ระหว่างจีนไทย และประเทศใหญ่น้อย
0Article
0Video
0Blog