ไม่พบผลการค้นหา
'อานันท์' ถาม 'ประยุทธ์' ได้ยินเสียงม็อบคนรุ่นใหม่หรือไม่ ชี้แก้ รธน.ต้องโละ 250 ส.ว.เลิกอำนาจโหวตนายกฯ แนะแก้โทษ ม.112 รับโทษแค่ทางแพ่ง ด้านสื่ออาวุโสแนะผู้ใหญ่รับฟังเด็ก เปิดพื้นที่สื่อกลางให้มีการแลกเปลี่ยนความเห็นต่าง

วันที่ 29 ต.ค. ที่โรงแรมแมริออท สุขุมวิทพาร์ค เวทีนักคิดดิจิทัล ครั้งที่ 13 'จากรุ่นแอนะล็อกสู่ยุคดิจิทัล เราจะลดช่องว่างการสื่อสารด้วยความจริงใจและความงามได้อย่างไร' จัดโดยภาคีโคแฟค ประเทศไทย (Cofac) สถาบันเชนจ์ฟิวชั่น มูลนิธิฟรีดิช เนามัน สภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติ ศูนย์ศึกษาสันติภาพและความขัดแย้งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง

อานันท์ ปันยารชุน อดีตนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า วันนี้หลายคนเข้าใจว่าสถานการณ์บ้านเมืองเราอยู่ในภาวะวิกฤต แต่คนในรุ่นตนมองว่าไม่ได้เป็นของผิดปกติอะไร เพราะเกิดเหตุการณ์แบบนี้มาไม่รู้กี่ครั้งในระยะ 88 ปี ของการปกครองระบอบประชาธิปไตย คนเราเมื่ออายุมากเห็นร้อนเห็นหนาวเห็นเหวเห็นยอดเขา ผ่านความสำเร็จและความล้มเหลว มีทั้งความผิดหวังความดีใจเมื่อเราผ่านทั้งหลายมาแล้ว ตนคิดว่าเราอยู่ในสถานะที่จะมองโลกในแง่ที่ดีมากกว่าคนที่ไม่มีประสบการณ์มาก่อน เป็นธรรมชาติ สำหรับตนมองเห็นวิวัฒนาการสมัยเป็นหนุ่มตนค่อนข้างเลือดร้อน ไม่ใช่แค่ตรงไปตรงมาเฉยๆ บางครั้งก็ค่อนข้างผิดกาลเทศะ บางครั้งก็พูดกระทบจิตใจคนโดยไม่จำเป็น แต่เหตุการณ์ชีวิตทำให้เราก้าวหน้าไปในทางที่เหมาะสมกว่าในอดีต เรื่องอายุ นิสัยของคน จึงเปลี่ยนแปลงได้หากต้องการหาทางออกหรือคบค้าสมาคมกับคนทั่วไป 

ย้ำความสงบแท้จริงไม่ใช่บังคับ - สังคมไม่เสมอภาคไม่มีทางสงบ

อานันท์ กล่าวอีกว่า ปัจจุบันเมืองไทย เป็นปัญหาการเมืองเหมือนที่เคยมีมาในอดีต พอมีปัญหาทางการเมืองสู้รบกันเสร็จก็มีการรัฐประหาร จากนั้นก็เขียนรัฐธรรมนูญใหม่ พอเขียนเสร็จก็เลือกตั้งและตั้งรัฐบาล ต่อมาอีก 7-8 ปี ก็วนเวียนกลับมา มันไม่พ้นวงจรนี้ เพราะสิ่งที่เราทำมาในอดีต 88 ปี ไม่ว่าจะเป็นการเขียนรัฐธรรมนูญ การตั้งรัฐบาลหรือมีนโยบายต่างๆ ก็ดี เป็นเรื่องของการมองผลในระยะสั้นเท่านั้น ไม่ได้มองประเด็นถึงแก่นรากของประเด็น มองแต่เพียงผิวเผิน เมื่อมองผิวเผินก็ไม่รู้ว่าเหตุที่ทำให้เกิดประเด็นนี้ขึ้นมา มาจากอะไร เวลาแก้ก็ไม่ได้แก้ที่รากแต่ไปแก้ที่กิ่ง ใบ สาขา

ดังนั้นทางออกที่ผ่านมาในอดีตมันเป็นทางออกระยะสั้นเหมือนอย่างที่เมืองไทยต้องการความสงบเรียบร้อย ซึ่งความสงบเกิดจากอะไร หากเกิดเพราะกฎหมายที่ควบคุม อันนั้นเรียกว่าเป็นความสงบที่ผิวเผิน ความสงบที่แท้จริงต้องเป็นความสงบที่ไม่ได้เกิดจากการบังคับ ไม่ได้มาจากเบื้องบนและไม่ได้มาจากเบื้องล่าง แต่เป็นความสงบที่ทุกฝ่ายพูดคุยกันแล้วยอมรับ ต้องมองว่าความสงบที่แท้จริงรากอยู่ที่ไหน ตนคิดว่าตราบใดที่สังคมไม่มีความยุติธรรม ไม่มีความเสมอภาค มันไม่มีความสงบ อย่างไรก็ตามไม่มีสังคมไหนสงบ 100% อย่างน้อยหากจับเหตุของปัญหาที่ถูกต้องโอกาสที่เราจะไปสู่สังคมที่มีความยุติธรรมมากขึ้น ความเหลื่อมล้ำน้อยลงไป ให้คนมีโอกาสมากขึ้นน้อยกว่าเดิมเราก็น่าจะพอใจแล้ว 

อานันท์ กล่าวว่า ในสายตาของตน อันนี้เป็นข้อขัดแย้งระหว่างคนละรุ่น เป็นดิจิทัล อิกนอแรนท์ เพราะไม่ได้ต้องการและไม่มีความอยากที่จะเข้าสู่ดิจิทัลเลย ถ้าเปรียบเทียบประวัติศาสตร์โลก ข้อขัดแย้งของเมืองไทยทุกสมัยเป็นข้อขัดแย้งข้อพิพาทที่ไม่ใช่ระหว่าง 2 ฝ่าย จริงๆ แล้วระหว่างคน 2 กลุ่มเท่านั้น เป็นข้อพิพาททางการเมืองโดยมีผลประโยชน์ส่วนตัวแอบแฝง ไม่ใช่ข้อพิพาทบนพื้นฐานของศาสนาหรือเชื้อชาติ แต่ของเราเป็นเรื่องส่วนตัวเป็นส่วนใหญ่ ตนคิดว่าความวุ่นวายในปัจจุบัน จะไม่พูดถึงข้อเรียกร้องของเขา ความวุ่นวายในปัจจุบันมันอ่อนดีกรีมากกว่าในอดีต ไม่ว่าจะเป็น 14 ต.ค. 2516 หรือ 6 ต.ค. 2519 ซึ่งเป็นข้อพิพาททางด้านการเมือง ซึ่งทั้ง 2 เหตุการณ์จบด้วยการปะทะกัน 

อานันท์ กล่าวอีกว่า ทั้งนี้การใช้อินเทอร์เน็ตแพลตฟอร์มต่างๆ ทำให้เกิดปัญหาความไม่เข้าใจเกิดขึ้น ไม่เหมือนพูดคุยกันต่อหน้า จึงต้องเปิดกว้างและรับฟังกันให้มาก สรุปแล้วตนคิดว่าปัญหาของทุกประเทศเป็นเรื่องที่น่าวิตกในเรื่องการสื่อสารสมัยใหม่ จึงเกิดเฟคนิวส์ต่างๆ ขึ้น เป็นสิ่งที่ต้องระวังว่าเราจะอ่านหรือจะฟังอะไร เราอย่าไปเพิ่งมีข้อยุติเร็วนักว่าเป็นเพราะเหตุนั้นเหตุนี้ ต้องฟังและพิจารณาอย่างเที่ยงธรรมด้วย และความรุนแรงทางวาจาหรือเฮทสปีช จะทำให้เกิดความรุนแรงทางกายภาพทันที  

แนะร่าง รธน.วางหลักเกณฑ์ให้สั้น ไม่รายละเอียดมาก ยกเลิก ส.ว. 250 คน

อานันท์ ยังตอบคำถามผู้ร่วมสัมมนาเกี่ยวกับประเด็นการร่างรัฐธรรมนูญว่า การเขียนรัฐธรรมนูญต้องเขียนหลักการสำคัญ แต่ของเรามีปัญหาคือเริ่มต้นจากนักกฎหมายก่อน โดยไม่ได้เน้นที่ประชาชน หมกมุ่นอยู่กับแบบฉบับหรือวิธีการเลือกตั้ง เขียนยาวละเอียดมากเกินไป และมีการหมกเม็ดในเรื่องต่างๆ มีผลใช้เมื่อมีกฎหมายลูก โดยให้นักการเมืองเขียน ถ้าผู้ร่างรัฐธรรมนูญไม่ได้เขียนกฎหมายลูกเองมันจะสอดคล้องกันได้อย่างไร การเขียนรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ หรือปรับปรุงรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน เราต้องวางหลักเกณฑ์ว่าควรให้สั้น ไม่ลงรายละเอียดมากเกินไป และต้องดูมาตราที่สร้างปัญหา ที่มีปัญหาแน่นอนคือการแต่งตั้ง 250 ส.ว. และให้อำนาจตั้งนายกฯ อันนี้ต้องออกไปแน่ๆ เป็นประเด็นที่ทำให้เกิดการเดินขบวนเป็นสิ่งที่เยาวชนรุ่นใหม่ และเยาวชนรุ่นเก่าอย่างตนอยากที่จะเห็นว่าไม่มีมาตรานี้อยู่ในรัฐธรรมนูญฉบับต่อไป รวมทั้งมาตรา 112 คุณจะเขียนอย่างไรก็ได้ แต่จะต้องไม่เป็นคดีอาญา คือไม่มีการลงโทษ และเป็นคดีแพ่ง มีค่าปรับเท่าเท่านั้น และไม่ใช่ปรับในอัตราที่สูงเกินไป ต้องวางหลักเกณฑ์แน่นอนว่าอยากเห็นอะไร อีกหลายมาตราก็ต้องปรับปรุงกันไป

ชี้ผิดมา 7 ปี ไม่รู้นายกฯ ได้ยินเด็กรุ่นใหม่กดดันให้ลาออกหรือไม่

“อีกเรื่องที่จะเป็นปัญหา ผมไม่ได้อยู่ในฐานะที่จะพูดว่าจะทำหรือไม่ทำ เด็กยืนยันว่านายกฯ เป็นตัวปัญหา คนรุ่นใหม่มองว่านายกฯ เป็นคนเดียวที่ปลดล็อกได้ จะปลดล็อกด้วยวิธีลาออกหรือไม่ผมไม่รู้ ถ้าไม่ลาออกผมก็ไม่ว่าอะไร เพราะเป็นสิทธิของท่าน แต่ต้องรู้ว่าเขาเรียกร้องอย่างนั้น ท่านฟังหรือได้ยินหรือไม่ผมก็ไม่รู้ แต่ถ้าเกิดจะเถียงกับเด็กรุ่นใหม่โดยอ้างกฎหมายหรือกฎเกณฑ์ต่างๆ มันไม่ไปไม่ถึงไหน เพราะเริ่มต้นมันผิดมาตลอดแล้ว มันผิดมา 7 ปีแล้ว คุณอาจจะไม่เห็นด้วย

"ผมก็ไม่ได้เห็นด้วยทุกอย่างแต่พยายามเข้าใจ ผมก็พยายามเข้าใจสถานะของท่านนายกฯ สถานะของรัฐบาลเหมือนกัน ถ้าไม่เข้าใจซึ่งกันและกันก็ต้องคุยกัน ผมไม่สนใจที่จะเข้าไปร่วมด้วยทั้ง 2 ฝ่าย เพราะเริ่มต้นก็ผิดแล้วเด็กมันเริ่มต้นมาตั้ง 7 ปีแล้ว ท่านนายกฯถามว่าผมทำอะไรผิด เป็นการพูดคนละภาษา เด็กพูดภาษาดิจิทัล แต่รัฐบาลยังพูดภาษาแอนาล็อก สงครามการต่อสู้ก็คนละสนาม เด็กเล่นสนามนี้ ผู้มีอำนาจเล่นอีกสนามหนึ่ง ไม่เคยเจอกันและพูดกันคนละประเด็น ผมเห็นว่าสังคมโลกเขาพูดกันว่า คุณจะมีสันติภาพไม่ได้ถ้าไม่มีความยุติธรรม และคุณจะไม่มีความยุติธรรมถ้าคุณไม่มีความจริงใจระหว่างกัน” อานันท์ กล่าว 

สนิทสุดา เอกชัย สื่อมวลชนอาวุโส คอลัมนิสต์ หนังสือพิมพ์บางกอกโพสต์ กล่าวว่า จริงหรือไม่ที่บอกว่าเด็กก้าวร้าว และจาบจ้าง เวลาเราพูดถึงช่องว่างระหว่างวัย เราก็จะพูดถึงคนในครอบครัวที่สามารถเปิดพื้นที่พูดคุยกันได้แม้มีความคิดเห็นแตกต่างกัน แต่คุณจะเอาความคิดอันนี้ไปใช้ในระดับระบบซึ่งอำนาจไม่เท่าเทียมกันนั้นไม่ได้ คุณยังมีอำนาจมีปืน คุมระบบทุกองคาพยพ คุณขอร้องให้เขาฟังในขณะที่คุณทั้งจับ อุ้ม ขู่ ระดมคนอีกฝั่งมา คิดว่าพูดดีๆ จะใช้การได้หรือไม่

ดังนั้นจึงต้องพูดความจริง เราต้องตั้งคำถามว่าใครกันแน่เป็นคนผลิตความไม่จริง ใครเป็นคนตั้งไอโอผลิตออกมาเพื่อปั่นให้เกิดความเกลียดชัง ความรุนแรง ดังนั้นเราต้องรู้ว่าเวลาเราจะพูดเรื่องสัมมาวาจาจะนำไปใช้กับใคร คนที่เป็นเหยื่อของความรุนแรงหรือคนที่ผลิตความรุนแรง การที่เราตั้งเป้าคุยกับเยาวชนผู้ชุมนุมเป็นการพูดผิดเป้าหรือไม่ ซึ่งเราควรตั้งเป้าไปยังคนที่ผลิตความรุนแรงมากกว่าหรือไม่ ดังนั้นเราจะสื่อสารกันระหว่างวัยอย่างไร ตนเห็นว่าผู้ใหญ่ต้องฟังเด็กบ้าง 

10-29-2020 6-18-31 PM.jpg
  • สนิทสุดา เอกชัย สื่อมวลชนอาวุโส คอลัมนิสต์ นสพ.บางกอกโพสต์ 

ปานวาด ก่อเกียรติทวีชัย ผู้แทนนิสิต คณะกรรมการนิสิต (กนท.) คณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า ตนรู้สึกว่าสื่อเป็นกลไกสำคัญในการขับเคลื่อนสังคมอย่างมาก ตนอยู่กับดิจิทัลมีเดียตั้งแต่เด็ก เห็นพัฒนาการมาโดยตลอด ในปัจจุบันมีเทคโนโลยีเกิดขึ้นมาก ซึ่งมีทั้งข้อดีและข้อเสีย ซึ่งคนรุ่นตนจะมีการตั้งคำถามในประเด็นต่าง ๆ มากกว่าคนรุ่นก่อน สิ่งที่ตนเห็นในคนรุ่นเดียวกัน คือรอสื่อหลักไม่ได้ จึงลุกขึ้นมาทำสื่อเอง และมีความหลากหลายมากกว่าสื่อหลัก ซึ่งทำให้เกิดการถกเถียงกันได้มากขึ้น และในครอบครัวก็ต้องพยายามมีการแลกเปลี่ยนกันเพื่อลดช่องว่างและความแตกต่างทางความคิดระหว่างกันด้วย

นภพัฒน์จักร อัตตนนท์ บรรณาธิการบริหาร WorkpointTODAY กล่าวว่า สำหรับคนอายุน้อยกำลังรู้สึกมีปัญหากับประเทศ เพราะช่วง 6-7 ปีที่ผ่านมา เพราะไม่รู้ว่าประเทศจะไปทางไหน ซึ่งเวลานี้ความแตกต่างทางความคิดระหว่างวัยของคนรุ่นต่างๆ เกิดขึ้นมาก ในฐานะสื่อตนเห็นว่าถึงเวลาต้องทำหน้าที่ให้มีพื้นที่ตรงกลางหรือปลอดภัยให้พูดคุย ตั้งแต่ตนทำงานมาไม่เคยเจอช่วงเวลาใดที่แหลมคมเช่นนี้ เรื่องความแตกต่างของคนแต่ละรุ่น เรื่องสื่อและมิติอำนาจจึงเป็นสิ่งที่ต้องระมัดระวังต่อไป ที่ผ่านมาในความขัดแย้งทางการเมืองไม่ว่าจะเป็นของ นปช. กปปส. สามารถคาดเดาได้แต่ครั้งนี้เป็นสิ่งที่คาดเดาได้อยาก และไม่อยากเห็นความรุนแรงเกิดขึ้น 

สุภิญญา กลางณรงค์ ผู้ร่วมก่อตั้งภาคีโคแฟคและเครือข่ายนักคิดดิจิทัล กล่าวว่า เราจัดเวทีเพื่อแลกเปลี่ยนให้สังคมเห็นว่าช่องว่างและความแตกต่างกันในหลายเรื่อง เราอยากสร้างพื้นที่ให้คนแต่ละรุ่นได้แลกเปลี่ยนและหาทางออกร่วมกันให้ได้ในวิถีทางแห่งประชาธิปไตย ในช่วงเปลี่ยนผ่านและไม่เกิดการนองเลือดอีกแล้ว แม้จุดยืนทางการเมืองไม่เหมือนกัน แต่ทุกคนมีความเชื่อในการธำรงความจริงและความเป็นมนุษย์ ซึ่งต้องมีพื้นที่ที่ปลอดภัยและสร้างสรรค์เพื่อหาทางออกร่วมกันของสังคมต่อไป