ไม่พบผลการค้นหา
ไม่ว่าคุณจะชอบพรรคนี้หรือไม่ สิ่งที่ปฏิเสธไม่ได้ก็คือ ปชป. ถือเป็นตัวเล่นที่สำคัญบนกระดาษหมากการเมืองไทย

สุขสันต์วันเกิดย้อนหลังครับ

เป็นเวลาหลายสิบปีแล้ว ที่พรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) เปลี่ยนมาฉลองวันเกิดตัวเองในวันที่ 6 เมษายน ซึ่งตรงกันวันจักรี ทั้งที่วันก่อตั้งพรรคจริงๆ คือวันที่ 5 เมษายน

สถานที่ก่อตั้งพรรค เมื่อปี 2489 ก็คือบ้านพักของควง อภัยวงศ์ บริเวณท่าน้ำราชวงศ์ ด้วยวัตถุประสงค์ “เพื่อเป็นฝ่ายค้าน” ของรัฐบาลปรีดี พนมยงค์ ที่ทรงอำนาจในขณะนั้น

ผู้ก่อตั้งคนสำคัญๆ ต่าง มี “จุดเด่น” ด้านการใช้คำพูด-วาทศิลป์ ไม่ว่าจะตัวของควง หัวหน้าพรรคคนแรก หรือหม่อมพี่หม่อมน้องสกุลปราโมช ทั้ง ม.ร.ว.เสนีย์ ผู้ให้กำเนิดชื่อ “ประชาธิปัตย์” อดีตทูตไทยประจำสหรัฐอเมริกาช่วงสงครามโลกครั้งที่สอง และทนายความชื่อดัง รวมถึง ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ เลขาธิการพรรคคนแรก ผู้คมคายทั้งวาจาและปลายปากกา เจ้าของนิยาย “สี่แผ่นดิน”

แม้จะประกาศจุดยืนขัดว่าไม่เอาเผด็จการ แต่พอเริ่มนับหนึ่งดำเนินกิจกรรมพรรค ปชป.กลับยอมไปเป็นรัฐบาลให้กับคณะรัฐประหารของ พล.ท.ผิน ชุณหะวัณ (ยศขณะนั้น) ก่อนจะถูกจี้ออกภายหลัง เพื่อหลีกทางให้นายกฯ ตัวจริง จอมพล ป. พิบูลสงคราม เข้ามา  

และหลังจากนั้น ปชป.ในบางยุคก็เป็นมิตรกับทหาร แต่บางยุคก็เป็นศัตรู ขึ้นอยู่กับสถานการณ์และประโยชน์ทางการเมือง

ทั้ง 3 คีย์เวิร์ด ได้แก่ “เกิดมาเพื่อเป็นฝ่ายค้าน – มีจุดเด่นด้านการใช้วาทศิลป์ วาทกรรม – มีสัมพันธ์กับทหารในลักษณะทั้งรักทั้งชัง” คือตัวตนของพรรคสีฟ้า ซึ่งเดินเคียงคู่การปกครองระบอบประชาธิปไตยของไทย อันลุ่มๆ ดอนๆ ตลอด 7 ทศวรรษที่ผ่านมา

และไม่ว่าคุณจะชอบพรรคนี้หรือไม่ สิ่งที่ปฏิเสธไม่ได้ก็คือ ปชป. ถือเป็นตัวเล่นที่สำคัญบนกระดาษหมากการเมืองไทย

เกินกว่า 20 ปีแล้วที่พรรคนี้ แทบจะการันตี ส.ส.ใน “หลักร้อย” ขึ้น

และเชื่อหรือไม่ว่า ตลอดการเลือกตั้งทั่วไป 18 ครั้ง ที่ ปชป.เคยมีส่วนร่วม (ไม่นับที่ถอนตัวหรือบอยคอต 3 ครั้ง) ไม่เคยมีครั้งไหน ที่จะได้เกินอันดับที่สี่

แม้จะคว้าชัยชนะมาได้เพียง 5 ครั้งเท่านั้น

ไม่ว่าสถานการณ์การเมืองจะเปลี่ยนไปอย่างไร เผด็จการทหารครองเมืองยาวนาน มีนักธุรกิจใหญ่โดดมาเล่นการเมือง หรือผู้มีอำนาจเขียนกติกาเอื้อประโยชน์ให้ตัวเอง

ปชป.ก็ยังคงโลดแล่นอยู่บนกระดานอำนาจนี้ได้

ทว่า ปชป.ก็ยังเป็น ปชป.อยู่วันยันค่ำ เป็น ปชป.ที่ยึดมั่นกับคำขวัญของพรรค “สัจจังเว อมตา วาจา” ที่แปลว่า คำสัตย์แลเป็นวาจาอันไม่ตาย

แต่คำสัตย์ของ ปชป. ดูจะมีอยู่หลายชุด เพราะคนในพรรค มักจะแบ่งบทกันเล่น

พรรคนี้เขาเล่นการเมือง “หลายหน้า” คือ คำพูดที่คนข่าวอาวุโส ใช้สั่งสอนคนข่าวรุ่นหลังๆ

เป็น ปชป. ที่แม้การชุมนุมต่อต้าน พ.ร.บ.นิรโทษกรรม ซึ่งลามไปเป็นการขับไล่รัฐบาลยิ่งลักษณ์ ชินวัตร จนทหารเข้ามายึดอำนาจในท้ายที่สุด จะเริ่มขึ้นจากสถานีรถไฟข้างๆ พรรค และมีอดีตเลขาธิการพรรคเป็นแกนนำ ทว่าอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคกลับกล้าปฏิเสธว่า ปชป.กับการชุมนุมดังกล่าว ไม่มีอะไรเกี่ยวข้องกัน

เป็น ปชป. ที่แม้แกนนำพรรคอื่นๆ หลายพรรคต่างพูดตรงกันว่า ถูกนายทหารใหญ่เชิญมาในค่ายทหารเพื่อชักชวนให้เปลี่ยนขั้วมาสนับสนุนพรรคนี้ให้ได้เป็นรัฐบาล แต่สมาชิกพรรคส่วนใหญ่ก็จะอธิบายว่า ไม่มีการ “ตั้งรัฐบาลในค่ายทหาร” เพราะการตั้งรัฐบาล ต้องยกมือโหวตกันในสภาฯ

ผมพยายามนั่งฟังที่อภิสิทธิ์พูดถึง ปชป.ยุคใหม่ ในงานเปิดให้สมาชิกพรรคเก่ามายืนยันตัวตน เมื่อวันที่ 1 เมษายนที่ผ่านมา

หากฟังผ่านๆ หลายอย่างฟังดูดี ชวนตั้งความหวัง น่าปรบมือให้ แต่ถ้าตั้งใจฟังดีๆ ก็จะพบว่า อภิสิทธิ์ก็ยังเป็นคนเดิม ที่ยังไม่สามารถทำให้เห็นรูปธรรมของสิ่งที่จะทำต่อไปได้ชัดเจนนัก

ความเป็น “สถาบันการเมือง” ที่อภิสิทธิ์และคน ปชป.ภาคภูมิใจ มาถึงวันนี้ ก็ชวนให้ตั้งคำถามว่า ยังจะช่วยให้พรรคเติบโตต่อไปสู่อนาคตได้ไหม หรือเป็นอดีตที่ยังฉุดรั้งให้ขยับทำอะไรต่อไปได้ยาก

กว่าครึ่งชีวิตนักข่าว ผมถูกมอบหมายให้ประจำอยู่ที่ ปชป. ได้เห็นภาพคนมีไฟ อยากทำงาน มีวิสัยทัศน์ ถูกระบบราชการภายในพรรคค่อยๆ ทำลายความตั้งใจเดิมของพวกเขา จนหลายคนหมดเรี่ยวแรง

คนรุ่นใหม่ไฟแรงหลายๆ คนต้องเข้ามาต่อแถวคิวเป็น ส.ส. อีกกี่ปี กี่สมัย กว่าจะได้ทำงานใหญ่ และน่าสนใจเหมือนกันว่า ถ้า ไอติม-พริษฐ์ วัชรสินธุ ไม่ใช่หลานของผู้ใหญ่ภายในพรรค จะถูกชูให้เป็นหน้าเป็นตา “คน ปชป.รุ่นใหม่” เช่นปัจจุบันหรือไม่

ด้วยความไม่เชื่อว่า ปชป.ยุคใหม่ จะเปลี่ยนไปจากเดิมจริง หลายคนๆ จึงจินตนาการถึงคำตอบที่ตรงกันว่า หลังการเลือกตั้งครั้งหน้า สมมุติเกิดในปี 2562 ถ้าให้เลือกระหว่างจับมือกับทหารตั้งรัฐบาล และจับมือกับพรรคเพื่อไทยตั้งรัฐบาล ปชป.จะเลือกข้างไหน      

และด้วยความไม่เชื่อว่า ปชป.ยุคใหม่จะเกิดขึ้นจริง

พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา หัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ จึงออกมาปรามาสต่อหน้าสื่อทุกสำนักกลางทำเนียบรัฐบาล หลังอภิสิทธิ์บอกว่า ใครสนับสนุนทหารให้ไปอยู่พรรคอื่น ไม่ต้องมาอยู่ ปชป.

"คอยดูวันหน้าก็แล้วกัน เลือกตั้งแล้วจะเกิดอะไรขึ้น ว่าเขาจะเปลี่ยนท่าทีอะไรกันยังไง แล้วค่อยไปถามเขาอีกที"

ครบ 72 ขวบแล้ว ปชป.จะมีอะไรเปลี่ยนไปจากเดิมหรือไม่ อภิสิทธิ์กับพวก จะต้องให้คำตอบ

พงศ์ บัญชา
0Article
0Video
0Blog