ไม่พบผลการค้นหา
รมว.คมนาคม สั่งขนส่งเร่งศึกษาบังคับรถทุกประเภทติดจีพีเอส หวังลดอุบัติเหตุ-อาชญากรรม เดินหน้าคุยกระทรวงอุตสาหกรรมเดือน ต.ค.นี้ นำร่องรถจดทะเบียนใหม่ คาดบังคับใช้เร็วสุดภายใน 1 ปี พร้อมสั่งเร่งศึกษาแนวทางแบ่งสินบนนำจับให้ประชาชนที่แจ้งเบาะแสรถฝ่าฝืนจราจร

นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยว่า ได้สั่งการให้กรมการขนส่งทางบกไปศึกษาแนวทางการนำรถส่วนบุคคลทุกประเภท ทั้งรถยนต์ และรถจักรยานยนต์ เพื่อออกกฎหมายบังคับรถกลุ่มนี้ติดตั้งระบบจีพีเอส (GPS) เพื่อตรวจสอบความเร็ว ระบุตำแหน่ง หวังลดอุบัติเหตุ และป้องกันปัญหาอาชญากรรม โดยเฉพาะการโจรกรรมที่เกิดขึ้น หลังจากที่ได้ดำเนินการกับรถ 4 ประเภท ได้แก่ รถบรรทุก รถตู้โดยสาร รถรับจ้างสาธารณะ และรถโดยสารขนาดใหญมาแล้ว

ศักดิ์สยาม ศูนย์ GPS
  • นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รมว.คมนาคม

รมว.คมนาคม ระบุว่า ตามกรอบเวลาหากแก้เพียงกฎกระทรวงจะใช้เวลาประมาณ 6 เดือนก่อนที่จะบังคับใช้ แต่หากแก้เป็นกฎหมายจะต้องใช้เวลาอย่างน้อย 1 ปี โดยทั้งหมดจะต้องเปิดรับฟังเสียงจากภาคประชาสังคมด้วย และต้องดูกฎหมายที่เกี่ยวข้องในหลายประเด็น โดยเฉพาะกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับสิทธิส่วน ซึ่งมีเป้าหมายคือรถจดทะเบียนใหม่ หากดำเนินการได้ไทยจะนับเป็นประเทศแรกในโลกที่สามารถบังคับการใช้กฎหมายประเภทนี้ได้ โดยปัจจุบันสถิติการเสียชีวิตจากอุบัติเหตุในรถจักรยานยนต์ของไทยอยู่สูงถึงอันดับ 9 ของโลก

อย่างไรก็ตาม การดำเนินการติดตั้งจีพีเอสในรถยนต์ปัจจุบันจะมีค่าใช้จ่ายอยู่ที่ประมาณ 3,000 - 4,000 บาทต่อคัน และมีค่าบริการติดตั้งอยู่ที่ 300 บาทต่อคัน โดย รมว.คมนาคม ระบุว่า มีแนวทางที่จะสามารถลดค่าใช้จ่ายส่วนนี้ลงได้ โดยทั้งหมดจะให้กรมการขนส่งทางบกเป็นผู้ดำเนินการดูแลศูนย์จีพีเอส

“ขอไปคุยกับกระทรวงอุตสาหกรรมก่อนในเดือนนี้ ซึ่งกระทรวงอุตสาหกรรมจะต้องไปดูกฎหมายที่เกี่ยวข้อง โดยเป้าหมายจะนำร่องที่รถจดทะเบียนใหม่ หรือ รถป้ายแดงที่ออกจากโรงงาน ส่วนรถทั้งหมดในระบบระยะแรกคงไม่ใช่การบังคับ” นายศักดิ์สยามกล่าว

ทั้งนี้ รมว.คมนาคม ระบุว่า ยังได้สั่งการให้กรมการขนส่งทางบก เร่งศึกษาแนวทางการแบ่งค่าสินบนนำจับให้กับประชาชนที่แจ้งเบาะแสรถที่ฝ่าฝืนกฎจราจร ซึ่งขณะนี้มีกฎหมายรองรับอยู่แล้ว เพียงแต่ยังไม่นำมาใช้อย่างจริงจัง โดยต้องมาพิจารณาว่าเมื่อดำเนินคดีแล้วมีโทษที่จะต้องจ่ายค่าปรับยังต้องมาดูในรายละเอียดว่าจะแบ่งเป็นสินบนในสัดส่วนเท่าใด เพราะในส่วนของรถใหญ่บางกรณีการกระทำผิดต้องจ่ายค่าปรับสูงถึง 50,000 บาท อาจจะแบ่งค่าปรับให้กับผู้แจ้งเบาะแสประมาณร้อยละ 10 หรือประมาณ 5,000 บาท

“มาตรการข้างต้นไม่ใช่มาตรการไล่จับ แต่เป็นมาตรการที่ต้องการให้ผู้ประกอบการเฝ้าระวัง เพราะหากทุกคนช่วยกันได้ เชื่อว่าจะสามารถรถอุบัติเหตุบนท้องถนน โดยคาดว่าจะใช้ระยะเวลาศึกษา 1 เดือน ก่อนที่จะบังคับใช้จริง” นายศักดิ์สยาม กล่าว

อธิบดีกรมขนส่งทางบก
  • นายจิรุตม์ วิศาลจิตร อธิบดีกรมการขนส่งทางบก

ด้านนายจิรุตม์ วิศาลจิตร อธิบดีกรมการขนส่งทางบก เปิดเผยว่า ปัจจุบันในแต่ละปีจะมีจำนวนรถที่จดทะเบียนใหม่เฉลี่ยปีละ 1 ล้านคัน โดยขณะนี้มีสถิติรถจดทะเบียนสะสม ณ วันที่ 30 กันยนยน 2562 มีจำนวนทั้งสิ้น 40,467,665 คัน โดยในส่วนนี้รถจักรยานยนต์ส่วนบุคคลจำนวน 21,130,663 คัน คือเป็นร้อยละ 53.96 ส่วนรถยนต์นั่งไม่เกิน 7 คน จำนวน 9,868,532 คัน หรือคิดเป็นร้อยละ 25.20