ไม่พบผลการค้นหา
คนไทยจนเพิ่มกว่า 2 ล้านคน ภาคเกษตร-อุตสาหกรรมการผลิต รายได้ลดลงจากราคาสินค้าที่ไม่ดี มาตรการช่วยเหลือด้านรายได้ยังไม่ใช่มาตรการที่ดีที่สุด

รายงานชิ้นล่าสุดของ 'จูดี หยาง' นักเศรษฐศาสตร์จากธนาคารโลก ภายใต้ชื่อ 'จับชีพจรความยากจนและความเหลื่อมล้ำในประเทศไทย' ชี้ว่า ในช่วง 30 ปีที่ผ่านมา อัตราความยากจนของประชากรไทยลดลงจากร้อยละ 65.2 ในปี 2531 มาอยู่ที่ร้อยละ 9.85 ในปี 2561

กราฟ - ธนาคารโลก

อย่างไรก็ตาม แนวโน้มความยากจนของไทยกลับเพิ่มขึ้นอีกครั้งระหว่างปี 2558 - 2561 จากร้อยละ 7.2 เป็นร้อยละ 9.8 หรือคิดเป็นจำนวนคนไทยที่จนเพิ่มขึ้นจาก 4,850,000 คน เป็น 6,700,000 คน และยังกระจายตัวอยู่ทั่วทุกภูมิภาคใน 61 จังหวัด จากทั้งหมด 77 จังหวัดทั่วประเทศ และมีอัตราความยากจนกระจุกมากที่สุดในจังหวัดทางภาคภาคใต้

กราฟ - ธนาคารโลก

สำหรับ 5 อันดับจังหวัดที่มีอัตราความยากจนมากที่สุดได้แก่

  • แม่ฮ่องสอน
  • ปัตตานี
  • กาฬสินธุ์
  • นราธิวาส
  • ตาก

'จูดี' ชี้ว่า จังหวัดที่เผชิญหน้ากับความยากจน มักอยู่ในพื้นที่ชายแดนแทบทั้งสิ้น

นอกจากนี้เมื่อเปรียบเทียบความยากจนของประชากรไทยในร้อยละ 40 ล่างที่มีรายได้น้อยที่สุด กับประชากรในกลุ่มเดียวกันของประเทศเพื่อนบ้าน อาทิ มาเลเซีย เวียดนาม และอินโดนีเซีย พบว่าผู้มีรายได้น้อยที่สุดร้อยละ 40 ของประชากรทั้งหมดในประเทศเพื่อนบ้าน มีสัดส่วนความยากลดลง แต่ประเทศไทยกลับมีส่วนนี้เพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ

จนเพราะไม่มีเงินให้ใช้

ปัจจัยสำคัญที่บั่นทอนการลดความยากจนของประชากรไทยมาจากสภาพเศรษฐกิจที่อ่อนแอลง และมีอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจ (จีดีพี) ต่ำกว่าประเทศกำลังพัฒนาอื่นๆ ตามข้อมูลจากสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ​ (สศช.) พบว่า ในปี 2562 ไทยมีจีดีพีแค่เพียงร้อยละ 2.4 เท่านั้น

อีกทั้งการค้าโลกที่อ่อนแอรวมถึงผลจากภัยแล้งก็ส่งผลต่อการบริโภคภาคครัวเรือนโดยเฉพาะในอุตสาหกรรมการเกษตรอย่างมาก เช่นเดียวกับอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวที่เผชิญหน้ากับภาวะหดตัว รายได้และค่าแรงที่ลดลงทั้งในภาคเกษตรและนอกภาคเกษตรเป็นเครื่องสะท้อนความยากจนที่เพิ่มขึ้นได้อย่างชัดเจน และแม้จะมีมาตรการทางสังคมจากรัฐบาลออกมาช่วย ก็ไม่ได้อยู่ในสัดส่วนที่มีประสิทธิภาพมากพอนัก

'เบอร์กิท ฮานส์' ผู้จัดการธนาคารโลกประจำประเทศไทย ได้ให้ความเห็นเกี่ยวกับมาตรการความช่วยเหลือของรัฐบาลที่มีต่อประชาชนที่มีรายได้น้อยว่า ในท้ายที่สุดสิ่งนี้ย่อมช่วยเหลือคนรายได้น้อยได้บ้าง จากรายได้ที่ลดลง แต่ยังไม่สามารถตอบได้ว่านี่เป็นมาตรการที่เหมาะสมที่สุดหรือไม่ เนื่องจากข้อจำกัดด้านข้อมูล

FCCT.แถลงข่าว

เบอร์กิท ย้ำว่า การจะพาประเทศไทยให้หลุดพ้นกับดักประเทศรายได้ปานกลาง มาตรการสนับสนุนด้านสังคมเป็นเรื่องที่สำคัญ และต้องไม่พุ่งเป้าช่วยเหลือแค่คนมีรายได้น้อยเท่านั้น แต่ต้องเข้าให้ถึงชนชั้นกลางเช่นเดียวกัน ซึ่งการจะทำเช่นนั้นได้ รัฐบาลต้องมีงบประมาณในจำนวนหนึ่ง แต่ปัจจุบันรายได้ของรัฐยังถือว่าน้อยอยู่มากเมื่อเทียบกับประเทศที่พัฒนาแล้ว

เด็กยังเป็นความหวังของชาติ

เมื่อมองไปในอนาคต การจะแก้ปัญหาความยากจนของไทยผูกอยู่กับความไม่เท่าเทียมในสังคม 'จูดี' ชี้ว่า ปัจจุบันความไม่เท่าเทียมที่เกิดจากภูมิศาสตร์ยังมีอยู่มาก คือเด็กที่เกิดในจังหวัดห่างไกลเข้าถึงการศึกษาในคุณภาพที่ไม่เท่าเทียมกับเด็กที่เกิดในกรุงเทพฯ

ตามข้อมูลจากรายงาน แม้เด็กไทยจะเข้าถึงการศึกษาขั้นพื้นฐาน แต่เมื่อเด็กอยู่ในภูมิภาคที่ต่างกัน เกิดในครอบครัวที่มีความยากจนกว่าและผู้ปกครองที่การศึกษาน้อยกว่า ก็ต้องเผชิญหน้ากับความไม่เท่าเทียมในการเข้าถึงระบบชลประทาน สัญญาณอินเทอร์เน็ต และการศึกษาขั้นสูง

'จูดี' ย้ำว่า ความไม่เสมอภาคในการศึกษายิ่งส่งให้ความเหลื่อมล้ำทางสังคมเพิ่มขึ้น และเป็นอีกหนึ่งสาเหตุฉุดรั้งไม่ให้ประเทศพัฒนาจนปราศจากคนจนได้


ข่าวที่เกี่ยวข้อง :