ไม่พบผลการค้นหา
'สมคิด เลิศไพฑูรย์' เชื่อรัฐบาลเสียงปริ่มน้ำบริหารบ้านเมืองได้ ฟันธงยังไม่มียุบสภา-เลือกตั้งใหม่โดยเร็วอย่างที่หลายฝ่ายคิด ชี้ร่างรธน.ยุครัฐประหารยาก เจอเสียงเห็นด้วยและไม่เห็นด้วยต่างจากยุคประชาธิปไตยปี 2540 ที่ไม่ค่อยมีคนคัดค้าน

ศาสตราจารย์สมคิด เลิศไพฑูรย์ อดีตอธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และอดีตสมาชิก สนช.ให้สัมภาษณ์ ในงาน ‘60 ปีสมคิด เลิศไพฑูรย์ กับรัฐธรรมนูญ 60’ ที่ทาง มธ.จัดให้เนื่องวาระวันคล้ายวันเกิดปีนี้ โดยนายสมคิด ระบุว่า ตัวเองมีส่วนร่วมในการร่างรัฐธรรมนูญปี 2540 และปี 2550 ไม่ได้มีส่วนร่วมในการร่างรัฐธรรมนูญปี 2560 และมองว่า ทุกฉบับล้วนมีทั้งข้อดีข้อเสียแตกต่างกัน โดยฉบับปี 2540 มีข้อดีตรงที่มี ส.ว.มาจากการเลือกตั้งและมีองค์กรอิสระถ่วงดุลตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐ แต่มีข้อเสียคือ ทำให้ฝ่ายบริหารเข้มแข็งเกินไปนำสู่การรัฐประหารและรัฐธรรมนูญปี 2550 ซึ่งมีข้อบกพร่องตรงที่มี ส.ว.มาจากการแต่งตั้งและจากการเลือกตั้งบางส่วน 

สำหรับรัฐธรรมนูญปี 2560 มีข้อดีในหมวดสิทธิเสรีภาพประชาชน ที่กำหนดไว้ให้อย่างกว้างขวางและกำหนดบทบาทหน้าที่ของรัฐ ส่วนข้อเสียคือ การมี ส.ว.จากการสรรหา ซึ่งจะโทษกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) ไม่ได้ เพราะ กรธ.กำหนดให้ ส.ว.เลือกกันเอง แต่ผู้มีอำนาจบรรจุไว้ในบทเฉพาะกาลและทำประชามติให้มี ส.ว. มาจากการสรรหาด้วย 

ข้อเสียที่สำคัญอีกอย่างของรัฐธรรมนูญปี 2560 คือ ระบบเลือกตั้งที่ใช้รูปแบบบัตรใบเดียว โดยไม่มีเกณฑ์คะแนนเสียงขั้นต่ำ ทำให้มีพรรคการเมืองที่ได้ ส.ส.จำนวนมากถึง 26 พรรค โดยในต่างประเทศที่ไทยลอกมานั้นใช้บัตร 2 ใบหรือถ้าใช้ใบเดียวก็จะกำหนดเกณฑ์ขั้นต่ำว่า พรรคที่ได้คะแนนเสียงต่ำกว่า 5 % จะไม่ได้ที่นั่ง ส.ส.ในสภา

ศาสตราจารย์สมคิด กล่าวด้วยว่า การร่างรัฐธรรมนูญหลังการรัฐประหารจะยากกว่าการร่างรัฐธรรมนูญในช่วงที่บ้านเมืองเป็นประชาธิปไตย เพราะไม่ค่อยมีใครคัดค้าน แต่การร่างรัฐธรรมนูญหลังการรัฐประหารจะมีทั้งผู้เห็นด้วยและไม่เห็นด้วย อย่างไรก็ตามเป็นการยากที่จะร่างรัฐธรรมนูญให้ถูกใจทุกฝ่าย 

ศาสตราจารย์สมคิด ย้ำด้วยว่า การแก้รัฐธรรมนูญ ปี 2560 เป็นไปได้ยากแม้แต่ระบบเลือกตั้งที่หลายฝ่ายมองว่ามีปัญหา แต่ก็มีพรรคการเมืองได้ประโยชน์อย่างพรรคอนาคตใหม่และฝ่ายค้านบางพรรค อาจไม่ต้องการแก้ไขในส่วนนี้ เพราะได้ประโยชน์เช่นกัน ส่วนการแก้ไขที่มา ส.ว. ก็เป็นไปได้ยากเช่นกันเพราะ ส.ว.คงไม่เห็นด้วย แต่หากจะแก้ไขในเรื่องทั่วๆไปก็คงสามารถทำได้  

สำหรับรัฐบาลเสียงปริ่มน้ำเชื่อว่า จะร่วมกันบริหารประเทศไปได้ ซึ่งพรรคร่วมรัฐบาลต้องประนีประนอมแสวงจุดร่วมสงวนจุดต่างๆซึ่งกันและกัน เพราะมีสภาพคล้ายคนจะจมน้ำกำลังจะตายจึงต้องต่อสู้ เพื่อให้มีชีวิตรอดในทุกวิถีทาง และเชื่อว่าการยุบสภาหรือเลือกตั้งใหม่จะไม่เกิดขึ้นโดยเร็ว อย่างที่หลายฝ่ายคาดการณ์เพราะคนไทยจำนวนมากอยากเห็นรัฐบาลบริหารงานไปสักระยะ และไม่มีประเทศไหนเลือกตั้งบ่อย โดยเฉพาะไทยที่พึ่งมีรัฐบาลจากการเลือกตั้ง ที่ดูจะเป็นประชาธิปไตยอยู่บ้าง หลังจากไม่มีการเลือกตั้งมานาน 

โดยศาสตราจารย์สมคิด ยังได้ ปาฐกถา “การเมืองไทยภายใต้รัฐธรรมนูญ 2560" ซึ่งพูดถึงรัฐธรรมนูญในประเด็นเดียวกันที่ให้สัมภาษณ์ก่อนเริ่มงานด้วย