ไม่พบผลการค้นหา
หลายพื้นที่ของประเทศไทยยังเผชิญกับปัญหาภัยแล้ง ส่วนใหญ่ส่งผลกระทบต่อเกษตรกรที่ต้องใช้น้ำในการเพาะปลูก แม้รัฐบาลจะทุ่มงบเพื่อใช้ในการขุดลอกคูคลองอ่างเก็บน้ำ

ที่จังหวัดนครราชสีมา นายเดชฤทธิ์ ถิตย์ฉาย นายอำเภอห้วยแถลง พร้อมด้วย ตัวแทนการประปาส่วนภูมิภาค สาขาห้วยแถลง และเจ้าหน้าที่ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยอำเภอห้วยแถลง จังหวัดนครราชสีมาลงพื้นที่ตรวจสอบการผันน้ำจากอ่างเก็บน้ำลำฉมวก ในตำบลหลุ่งประดู่ อำเภอห้วยแถลง จังหวัดนครราชสีมา ไปยังสระน้ำเทศบาลตำบลห้วยแถลง เพื่อใช้ในการผลิตน้ำประปา แจกจ่ายประชาชนได้ใช้สอยในเขตเทศบาล และส่งน้ำไปยังโรงพยาบาลห้วยแถลง หลังจากแหล่งผลิตน้ำประปาในเขตเทศบาลห้วยแถลงแห้งขอด ไม่สามารถผลิตน้ำประปาส่งไปยังโรงพยาบาลห้วยแถลงได้ 

ทางการประปาส่วนภูมิภาค สาขาพิมาย และการประปาส่วนภูมิภาค สาขาห้วยแถลง จึงได้ติดตั้งเครื่องสูบน้ำขนาดใหญ่ เดินท่อส่งน้ำไปยังแหล่งผลิตน้ำประปาในเขตเทศบาลตำบลห้วยแถลง ระยะทางประมาณ 11 กิโลเมตร งบประมาณกว่า 40 ล้านบาท เพื่อส่งน้ำดิบจากอ่างเก็บน้ำลำฉมวก ส่งไปเก็บกักไว้ในสระของทางเทศบาลตำบลห้วยแถลง ป้องกันการขาดน้ำของโรงพยาบาลห้วยแถลง จนกว่าจะมีฝนตกลงมาตามฤดูกาล

และแม้ว่า อ่างเก็บน้ำลำฉมวก จะเป็นอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ สามารถเก็บกักน้ำได้ 23 ล้านลูกบาศก์เมตร แต่ปัจจุบันเหลือน้ำใช้การได้เพียง 3 ล้านลูกบาศก์เท่านั้น ทำให้ต้องเร่งสูบผันน้ำไปเก็บกักไว้ในเขตเทศบาลตำบลห้วยแถลงให้ได้มากที่สุด ซึ่งจะสามารถใช้ผลิตเป็นน้ำประปาหล่อเลี้ยงประชาชนในเขตเทศบาลตำบลห้วยแถลง และโรงพยาบาลห้วยแถลง จนผ่านพ้นวิกฤติแล้งนี้ไปได้อย่างแน่นอน

ข้าว-นา-ภัยแล้ง-ข้าวยืนต้นตาย


ภัยแล้งคุกคามฝูงวัวขาดแคลนหญ้าสดเป็นอาหาร

ในขณะที่ ผู้สื่อข่าวรายงานสถานการณ์ภัยแล้งของจังหวัดนครสวรรค์ เริ่มขยายวงกว้างเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง พืชผลทางการเกษตรและสัตว์เลี้ยงเริ่มได้รับผลกระทบและประสบกับปัญหาขาดแคลนน้ำอย่างหนัก เกษตรกรผู้เลี้ยงวัวหลายรายต้องนำวัวออกตระเวนมาเลี้ยงตามทุ่งนาเพื่อหาหญ้าสด หลังแหล่งน้ำและหญ้าสดตามธรรมชาติริมถนนแทบไม่มีเหลือให้วัวกิน

โดยนายสมมารถ รุ่งรัตน์ เกษตรกรผู้เลี้ยววัวตำบลพระนอน อำเภอเมือง จังหวัดนครสวรรค์ กล่าวว่า ตนเลี้ยงวัวทั้งหมด 80 ตัว ขณะนี้ลำบากมากต้องไล่วัวออกจากคอกเพื่อตระเวนหาหญ้าสดที่หลงเหลืออยู่ในทุ่งนาตั้งแต่เช้าระยะทางรวมวันละกว่า 10 กิโลเมตร เพื่อให้วัวได้เดินหาหญ้ากินตามทุ่งนา เนื่องจากหญ้าบริเวณใกล้เคียงแห้งตายหมดแล้ว และหญ้าตามทุ่งนาเริ่มน้อยเต็ม เพราะสภาพอากาศแห้งแล้งเป็นอย่างมากทำให้วัวเริ่มผอม ส่วนน้ำที่วัวต้องกินนั้น ตนต้องต้อนวัวกลับคอกที่สร้างไว้ชั่วคราวกลางทุ่งนาใกล้สระน้ำ ก่อนที่จะสูบน้ำให้วัวได้กินในช่วงเย็นของทุกวัน ซึ่งถ้าหมดน้ำจากสระนี้ก็ต้องตระเวนหาแหล่งน้ำที่อื่นต่อไป


อุบลฯ ขุดลอกอ่างเก็บน้ำหนองช้างใหญ่แก้ภัยแล้ง

เมื่อวันที่ 6 ก.พ. ที่ผ่านมา นายเฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ลงพื้นที่ตรวจราชการ เพื่อติดตามสถานการณ์น้ำและการบริหารจัดการน้ำ ในเขตจังหวัดอุบลราชธานี ที่โครงการอ่างเก็บน้ำหนองช้างใหญ่ ตำบลยางสักกระโพหลุ่ม อำเภอม่วงสามสิบ จังหวัด อุบลราชธานี ซึ่งเป็นอ่างเก็บน้ำขนาดกลาง ก่อสร้างแล้วเสร็จเมื่อปี พ.ศ. 2497 มีพื้นที่ทั้งหมดของโครงการประมาณ 7,500 ไร่ พื้นที่ชลประทาน 4,300 ไร่ สามารถเก็บกักน้ำได้กว่า 7.60 ล้านลูกบาศก์เมตร เป็นแหล่งน้ำต้นทุนสำคัญสำหรับการอุปโภค-บริโภค และการเกษตรของราษฎรในพื้นที่บ้านนาดีและหมู่บ้านใกล้เคียง


ภัยแล้ง.jpg


เนื่องจากปัจจุบันอ่างเก็บน้ำดังกล่าว มีสภาพตื้นเขินจากตะกอนดิน ส่งผลให้ไม่สามารถเก็บกักน้ำได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ กรมชลประทาน โดยสำนักงานชลประทานที่ 7 จึงได้ขออนุมัติงบประมาณเพื่อดำเนินการปรับปรุง และเพิ่มประสิทธิภาพการเก็บกักน้ำ อ่างเก็บน้ำหนองช้างใหญ่โดยขอใช้งบประมาณปี 2563 (เพิ่มเติม) โดยการเสริมสันทำนบดินให้สูงขึ้นอีกประมาณ 0.50 เมตร ความยาว 640 เมตร, ติดตั้งบานแบบฝายพับได้สูง 1 เมตร บริเวณโดยรอบอาคารระบายน้ำล้น พร้อมระบบควบคุมระยะไกล แบบเรียลไทม์จะสามารถเพิ่มระดับเก็บกักสูงขึ้น 0.50 เมตร ส่งผลให้ปริมาณน้ำเก็บกักเพิ่มขึ้น ประมาณ 5.00 ล้านลูกบาศก์เมตร

สำหรับแผนการพัฒนาอ่างเก็บน้ำในระยะยาว ทางสำนักงานชลประทาน ที่ 7 ได้กำหนดแผนในการพัฒนาปรับปรุงอ่างเก็บน้ำหนองช้างใหญ่ไว้ในปี 2564 - 2567 ประกอบด้วย การก่อสร้างสถานีสูบน้ำด้วยไฟฟ้า จำนวน 4 แห่ง สามารถเพิ่มพื้นที่ชลประทานได้ประมาณ 8,000 ไร่ การก่อสร้างถนนยางพาราแอสฟัลท์ติกพร้อมเลนจักรยาน รอบอ่างเก็บน้ำกว้าง 9 เมตรยาว 16 กิโลเมตร และขุดลอกอ่างเก็บน้ำเพิ่มเติม โดยให้ผู้รับจ้างรับซื้อมูลดินกลับคืน เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการเก็บกักในอ่างได้กว่า10 ล้านลูกบาศก์เมตร

โดยโครงการทั้งหมดตั้งงบประมาณไว้ 420 ล้านบาท ด้วยแผนงานต่อเนื่อง 3 ปี ซึ่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์กล่าวว่า รัฐบาลมีความห่วงใยในสถานการณ์ภัยแล้งในทุกพื้นที่ของประเทศ แต่ขณะนี้ ยังไม่ถือว่าน่าเป็นห่วง เพราะทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้เตรียมกำลังคน เครื่องจักร และการประชาสัมพันธ์ ออกให้คำแนะนำถึงเรื่องการประหยัดน้ำ และ ปลูกพืชใช้น้ำน้อยไว้แล้ว รวมถึงระดับน้ำเก็บกักในเขื่อนและอ่างเก็บน้ำต่าง ๆ ยังสามารถผันน้ำไปช่วยเหลือกันได้

ในส่วนของอ่างเก็บน้ำหนองช้างทองแห่งนี้ ก็ถือเป็นอีกโครงการหนึ่งในการพัฒนาแหล่งน้ำ เพื่อเพิ่มปริมาตรการเก็บกัก ให้มากขึ้นถึง 3 เท่า จาก 7 ล้านลูกบาศก์เมตรในปัจจุบัน เป็น 23 ล้านลูกบาศก์เมตร หลังการขุดลอกเรียบร้อยแล้ว ซึ่งประชาชนก็จะได้ใช้ประโยชน์ในแง่ของการออกกำลังกาย และการท่องเที่ยวพักผ่อนหย่อนใจด้วย


บ้านภูเงินวังสามหมอแล้งจัดชาวบ้านต้องซื้อน้ำใช้ไร้หน่วยงานเหลียวแล

ที่จังหวัดอุดรธานี บ้านภูเงิน หมู่ 9 ต.หนองกุงทับม้า อ.วังสามหมอ มีชาวบ้านอาศัยอยู่ประมาณ 120 หลังคาเรือน กำลังประสบปัญหาภัยแล้งอย่างหนักในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา จนทำให้มีชาวบ้านทนไม่ไหวโพสต์เฟสบุ๊กร้องเรียนใช้ชื่อว่า "อุมาพร กูบกลาง" ระบุว่า "ที่อุดร อำเภอวังสามหมอบ้านภูเงิน หมู่ 9 ตำบลหนองกุงทับม้า แล้งมาปีกว่าแล้ว ได้ซื้อนํ้าใช้มาปีกว่าแล้ว ไม่มีแม้แต่หน่วยงานรัฐมาช่วยเหลือแม้แต่นํ้าหยดเดียว ชาวบ้านที่หาเช้ากินคํ่าก็คงจะไม่มีปัญญาซื้อทั้งข้าวทั้งนํ้า ข้าวก็โลละ 40-50 บาท ยังต้องมาซื้อนํ้าใช้อีกลำบากมาก ๆ ถึงมากที่สุด"


อ่างเก็บน้ำ.jpg


โดยภายหลังผู้สื่อข่าวลงพื้นที่ตรวจสอบ พบว่าหมู่บ้านตั้งอยู่บนเนินเขา ทุกบ้านที่ต่อน้ำประปาไม่มีน้ำ เนื่องจากชาวบ้านบอกว่า มอเตอร์ปั๊มน้ำที่ต้องสูบน้ำมาจากอ่างเก็บน้ำลำพันชาดระยะทางกว่า 4 กม.พัง ทาง อบต.หนองกุงทับม้า กำลังหางบประมาณมาทำการเปลี่ยนมอเตอร์ใหม่ ทำให้ชาวบ้านหลายครอบครัวไม่มีน้ำใช้ ต้องซื้อน้ำจากชาวบ้านในหมู่บ้านเดียวกัน ที่บ้านเจาะบ่อบาดาลไว้มาใช้เพื่ออุปโภคบริโภค ส่วนชาวบ้านที่มีฐานะยากจน ไม่มีเงินซื้อน้ำ หลังเลิกงานช่วงเย็น คนในครอบครัวต้องใช้รถเข็นใส่ถังน้ำ ไปตักน้ำจากหนองน้ำท้ายหมู่บ้าน ที่มีระยะทางกว่า 1 กม. เพื่อจะนำน้ำมาอุปโภคบริโภคในครอบครัว ขณะที่มีบางบ้านที่พอมีฐานะ กำลังจ้างรถมาขุดเจาะบาดาลภายในบ้าน ในราคา 2-5 หมื่นบาท แล้วแต่ความลึกที่เจาะ เพราะจะได้ใช้น้ำโดยไม่เดือดร้อน

โดยชาวบ้านในหมู่บ้านดังกล่าว เปิดเผยว่า "ตอนนี้บ้านภูเงินของเรากำลังเดือดร้อนมาก อยากให้ผู้ว่าอุดรฯ หน่วยงานต่างๆ เข้ามาแก้ไขเรื่องน้ำในหมู่บ้านให้ชาวบ้านได้ใช้อย่างสะดวก เพราะเราเดือดร้อนเรื่องน้ำมาหลายปีแล้ว หอยู่หมู่บ้านนี้มา 20 ปี เรื่องน้ำไม่เคยได้ใช้อย่างสะดวกสบาย แต่ปีนี้เราเดือดร้อนมากกว่าทุกปีที่ผ่านมา อยากให้มาช่วยเราตรงนี้ด้วย ส่วนเรื่องการซื้อนำจากชาวบ้านในหมู่บ้าน ก็มีบางบ้านเขาขายให้ บางบ้านก็ไม่ให้ เพราะเขากลัวว่าน้ำในบ่อจะแห้งหมด"


แม่น้ำยมแห้งเหลือน้ำบ่อลึกสุดท้ายของหมู่บ้าน  

สภาพของแม่น้ำยม ที่แห้งขอดลงตลอดทั้งลำน้ำ โดยเฉพาะที่บริเวณหมู่ 9 บ้านวัดใหม่ราษฎร์บำรุง ตำบลสามง่าม อำเภอสามง่าม จังหวัดพิจิตร ซึ่งเป็นพื้นที่ตอนบนของแม่น้ำยมในพื้นที่จังหวัดพิจิตร ปริมาณน้ำในแม่น้ำยม ซึ่งเป็นแม่น้ำสายหลัก แห้งจนเห็นผืนทรายในท้องแม่น้ำยม เหลือเพียงแหล่งน้ำที่เป็นบ่อน้ำลึก ที่ยังพอมีน้ำหลงเหลืออยู่เป็นแหล่งน้ำสุดท้าย ให้กับชาวบ้านในหมู่บ้านใช้ในการอุปโภค ขณะที่ เกษตรกรต้องต่อท่อสูบน้ำที่เหลืออยู่ในแม่น้ำยม เพื่อใช้ทำการเกษตรพืชผักสวนครัวในหมู่บ้าน คาดจะน้ำที่เหลืออยู่ในบ่อจะแห้งขอดลง ในช่วงเข้าฤดูแล้งที่จะมาถึง  

สำหรับแม่น้ำยมไหลผ่านพื้นที่ 4 อำเภอของจังหวัดพิจิตร ได้แก่ อำเภอสามง่าม โพธิ์ประทับช้าง บึงนาราง และอำเภอโพทะเล ความยาว 127 กิโลเมตร และจากสถานการณ์แม่น้ำยมที่ลดระดับและแห้งขอดอย่างรวดเร็วในช่วงปลายปี จนถึงฤดูแล้งส่งผลกับประชาชนตลอดแนวริมฝั่งของแม่น้ำยมที่ไหลผ่าน  


3.jpg

ข่าวที่เกี่ยวข้อง :