ไม่พบผลการค้นหา
'บอล ธนวัฒน์' ยื่นเรื่องขอความเป็นธรรม สนง.อัยการพิเศษฯ กรณีชุมนุม #ไม่ถอยไม่ทน ระบุการสั่งฟ้องคดีของตำรวจไม่เป็นประโยชน์ต่อสาธารณะ เข้าข่ายละเมิดต่อพันธกรณีกฎหมายระหว่างประเทศ

5 ก.พ. 2563 ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน รายงานว่า วานนี้ (4 ก.พ.) หลังจากที่ บอล – ธนวัฒน์ วงค์ไชย ได้เดินทางไปยังสถานีตำรวจนครบาลปทุมวันเมื่อวานตามที่พนักงานสอบสวนนัดหมาย เพื่อทำการส่งตัวพร้อมสำนวนการสอบสวนให้พนักงานอัยการ สำนักงานอัยการพิเศษฝ่ายคดีศาลแขวง 6 ปทุมวัน พร้อมกับผู้ต้องหารายอื่นในคดีที่สืบเนื่องมาจากการชุมนุม #ไม่ถอยไม่ทน ได้แก่ นายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ, นายไพรัฎฐโชติก์ จันทรขจร, น.ส.ณัฏฐา มหัทธนา, และนายพริษฐ์ ชีวารักษ์

ล่าสุด ธนวัฒน์ ได้เดินทางไปยังสำนักงานอัยการพิเศษฝ่ายคดีศาลแขวง 6 อีกครั้งเพื่อยื่นเรื่องร้องขอความเป็นธรรม พร้อมชี้แจงว่าตนไม่ได้กระทำผิดตามที่กล่าวหา อีกทั้งการสั่งฟ้องคดีของตำรวจเป็นการสั่งฟ้องที่ไม่เป็นประโยชน์ต่อสาธารณะ และอาจจะมีผลกระทบต่อประโยชน์อันสำคัญของประเทศ เพราะจะถือเป็นการละเมิดต่อพันธกรณีกฎหมายระหว่างประเทศ ว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง (International Covenant on Civil and Political Rights : ICCPR) ซึ่งประเทศไทยเป็นภาคีสมาชิก มีพันธกรณีที่จะต้องปฏิบัติตาม

ทั้งนี้ ในหนังสือดังกล่าว ธนวัฒน์ได้กล่าวถึงข้อกล่าวหาที่ตำรวจสั่งฟ้อง ได้แก่ กระทำความผิดฐานละเมิดพระราชบัญญัติการชุมนุมสาธารณะ พ.ศ.2558 และพระราชบัญญัติควบคุมการโฆษณาโดยใช้เครื่องขยายเสียง พ.ศ.2493 ซึ่งธนวัฒน์ยืนยันว่า ตนไม่ได้กระทำความผิดตามที่พนักงานสอบสวนมีความเห็นควรสั่งฟ้อง อีกทั้งการฟ้องดังกล่าวยังไม่เป็นประโยชน์ต่อสาธารณะ จึงขอให้ทางอัยการพิเศษฝ่ายคดีศาลแขวง 6 พิจารณาสั่งไม่ฟ้องคดีนี้ โดยให้เหตุผลใน 3 ประการ ดังนี้

  1. เมื่อวันที่ 14 ธันวาคม 2562 ซึ่งเป็นวันเกิดเหตุ ผู้ต้องหาไม่ได้เป็นผู้จัดการชุมนุม และผู้ต้องหาไม่ทราบว่า สถานที่เกิดเหตุในคดีนี้มีระยะห่างจากวังสระปทุมเกินกว่า 150 เมตร หรือไม่ เนื่องจากพนักงานสอบสวนไม่ได้พาผู้ต้องหาไปตรวจวัดสถานที่เกิดเหตุ บันทึกแจ้งข้อกล่าวหาก็ไม่ได้ระบุว่า จุดเกิดเหตุมีระยะห่างจากวังสระปทุมเท่าใด วัดจากจุดใดไปจุดใด และใช้การวัดด้วยวิธีการใด ทำให้ผู้ต้องหาไม่สามารถต่อสู้คดีได้อย่างเต็มที่ จึงขอให้ทางอัยการฯ มีคำสั่งให้พนักงานสอบสวนจัดหาผู้ทำการรังวัดที่มีความเป็นธรรมเป็นกลางไปทำการรังวัดใหม่ โดยมีผู้ต้องหาไปร่วมการวัดระยะทางด้วย เพื่อประโยชน์แห่งความยุติธรรม ทั้งนี้ คดีลักษณะเดียวกันนี้ พนักงานอัยการ สำนักงานอัยการพิเศษฝ่ายคดีศาลแขวง 6 (ปทุมวัน) ก็ได้เคยมีคำสั่งเด็ดขาด ไม่ฟ้องนายโชคชัย ไพบูลย์รัชตะ กับพวกรวม 28 คน มาแล้ว
  2. เมื่อวันที่ 3 กุมภาพันธ์ 2563 เวลา 11.00 นาฬิกา พนักงานสอบสวนได้เพิ่มเติมข้อความว่า “หรือสถานีขนส่งสาธารณะ” ลงในบันทึกคำให้การผู้ต้องหา บันทึกแจ้งข้อกล่าวหา และบันทึกแจ้งสิทธิ อันเป็นการเพิ่มเติมข้อความในภายหลัง ทำให้ผู้ต้องหาไม่มีโอกาสได้ให้การแก้ข้อกล่าวหาในประเด็นดังกล่าว ผู้ต้องหาจึงขอเวลา 15 วัน เพื่อให้สามารถรวบรวมข้อเท็จจริงสำหรับให้การเพิ่มเติมในประเด็นนี้ต่อไป
  3. กิจกรรมตามข้อกล่าวหาใช้ระยะเวลาสั้น ๆ โดยสงบ ปราศจากอาวุธ ไม่ปรากฏว่ามีความรุนแรงเกิดขึ้น เป็นเพียงการใช้สิทธิเสรีภาพโดยชอบด้วยกฎหมาย ตามความมุ่งหมายของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 มาตรา 34 และกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง (International Covenant on Civil and Political Rights : ICCPR) ข้อบทที่ 19 ซึ่งกติการะหว่างประเทศดังกล่าว ประเทศไทยเป็นภาคีสมาชิก มีพันธกรณีที่จะต้องปฏิบัติตาม การสั่งฟ้องหรือดำเนินคดีกับผู้ต้องหา จึงไม่ก่อให้เกิดประโยชน์แก่สาธารณชน และจะมีผลกระทบต่อประโยชน์อันสำคัญของประเทศ เพราะจะถือเป็นการละเมิดต่อพันธกรณีกฎหมายระหว่างประเทศ และจะเป็นการสร้างความหวาดกลัว ทำให้ประชาชนไม่กล้าที่จะใช้สิทธิเสรีภาพในการแสดงออกเช่นนี้อีก

ข่าวที่เกี่ยวข้อง