ไม่พบผลการค้นหา
'กษิต ภิรมย์' โพสต์จดหมายเปิดผนึกถึงฐานเสียง ปชป. 3.9 ล้านคน ย้ำลาออก ปชป. เหตุพรรคมีมติหนุนเผด็จการทหาร - ขัดอุดมการณ์พรรคข้อ 4 ไม่สนับสนุนเผด็จการ ล้มเหลวนำพรรคสู่เสรีนิยมประชาธิปไตย

นายกษิต ภิรมย์ อดีต รมว.ต่างประเทศ โพสต์เฟซบุ๊กถึงผู้ที่ลงคะแนนเสียงให้พรรคประชาธิปัตย์ 3.9 ล้านเสียง ผ่านจดหมายเปิดผนึก โดยมีใจความระบุว่า ตนเองได้ตัดสินใจสมัครเป็นสมาชิกพรรคประชาธิปัตย์ เพราะยืนอยู่บนอุดมการณ์เสรีนิยมประชาธิปไตย ซึ่งมีทิศทางเดียวกันกับอุดมการณ์ของพรรคประชาธิปัตย์ ซึ่งก็เป็นเรื่องปกติที่บุคคลใดๆ จะเลือกเข้าสังกัดพรรคใด ย่อมสมควรที่จะมีอุมการณ์เดียวกัน มิใช่เดินเข้าไปร่วมพรรคเพียงเพื่ออำนาจ และผลประโยชน์

ที่ผ่านมาได้รับโอกาสจากพรรคให้ปฏิบัติหน้าที่ด้านการเมือง ตนได้พยายามทำหน้าที่อย่างเต็มพละกำลังและความสามารถ เพื่อผลักดันอุดมการณ์เสรีนิยม ให้เข้าไปอยู่ในแผนปฏิรูปประเทศ ภายใต้รัฐบาล คสช. โดยพยายามนำเสนอแนวคิดของเสรีนิยม ส่งผลให้ตนอยู่ในกลุ่มเสียงกลุ่มน้อย ข้อเสนอมักไม่ได้รับตอบสนองจากที่ประชุมส่วนใหญ่ สะท้อนให้เห็นว่ารัฐบาล คสช. ภายใต้การนำของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา มิได้ต้องการปฏฺิรูปประเทศ

"เมื่อเวลาที่การครองอำนาจเพื่อการปฏิรูปประเทศใกล้งวดลง สังคมไทยก็เริ่มได้เห็นกระบวนการเตรียมการเพื่อกลับมากุมอำนาจรัฐต่อโดยกลุ่มรัฐบาลทหาร และพวกพ้อง โดยเริ่มจากกฎหมายรัฐธรรมนูญที่เอื้อให้กองทัพและข้าราชการมีตำแหน่งทางการเมือง การจัดตั้งพรรคนิยมทหารขึ้นมาเพื่อรวบรวมอดีตนักการเมืองเอาไว้เป็นฐานเสียง การกำหนดให้ ส.ว.ที่มาจากการแต่งตั้งโดยรัฐบาลทหารสามารถลงคะแนนเสียงเลือกนายกรัฐมนตรีได้ โดยสิ่งเหล่านี้นอกจากจะทำให้เกิดเสียงครหาจากชาวไทยและนานาชาติว่า เป็นกติกาที่ไม่สะอาด ไม่สอดคล้องกับหลักประชาธิปไตยแล้ว ยังแสดงให้เห็นถึงเจตนาในการสืบทอดอำนาจ ของ รัฐบาล คสช.โดยมี พล.อ.ประยุทธ์ เป็นผู้นำอย่างชัดเจน" นายกษิต ระบุ

นายกษิต ระบุว่า พล.อ.ประยุทธ์ คือตัวแทนของฝ่ายทหารการเมือง ในการสืบทอดอำนาจ ภายใต้แนวคิดอำนาจนิยม ผ่านทางการเลือกตั้งที่มีกติกาแสนวุ่นวาย และไม่โปร่งใส ภายใต้กฎหมายรัฐธรรมนูญที่ไม่สอดคล้องกับหลักประชาธิปไตย อันเป็นผลงานของพรรคพวก พวกพ้อง ของรัฐบาลทหารเอง จึงถือได้ว่าเป็นผู้มีพฤติกรรมของผู้ฝักใฝ่ลัทธิเผด็จการโดยปริยาย เมื่อกรรมการบริหารพรรคประชาธิปัตย์ และ ส.ส.ของพรรค ได้มีมติออกมาว่า จะสนับสนุน พล.อ.ประยุทธ์ ให้ขึ้นดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ต่อเนื่องจากการที่บุคคลของพรรคไปดำรงตำแหน่งประธานรัฐสภา ประธานสภาผู้แทนราษฎร

นั่นก็แปลว่า พรรคประชาธิปัตย์ในวันนี้ ได้กระทำตนเป็นผู้สนับสนุนการสืบทอดอำนาจของเผด็จการทหารโดยปริยาย อันเป็นการขัดต่อ อุดมการณ์พรรคประชาธิปัตย์ ข้อ 4. ที่ว่า " พรรคจะไม่สนับสนุนระบบและวิธีแห่งเผด็จการ ไม่ว่าจะเป็นระบบและวิธีการของรัฐบาลใดๆ" สะท้อนให้เห็นความล้มเหลวในการนำพาพรรคประชาธิปัตย์ไปยังทิศทางแห่งเสรีประชาธิปไตยตามอุดมการณ์ของพรรค

"หากยอมให้มติพรรคอยู่เหนืออุมการณ์พรรคได้แล้ว ก็ไม่แตกต่างอะไรกับ รัฐบาลที่อ้างเสียงข้างมากเป็นใหญ่ แล้วไม่สนใจกฎ กติกา หลักการประชาธิปไตยอื่นๆ โดยมุ่งแต่จะใช้จำนวนการยกมือในสภามาบริหารประเทศตามใจตน ไม่สนใจความรู้สึกของประชาชน จนนำมาซึ่งวิกฤติการณ์ทางการเมืองนั่นเอง" นายกษิต ระบุ

อดีตสมาชิกพรรคประชาธิปัตย์ ยังระบุว่า ตนได้ลาออกจากการสมาชิกพรรคประชาธิปัตย์ ตามที่ปรากฎเป็นข่าว ซึ่งแสดงออกชัดเจนว่ามิได้ต้องการดำรงตำแหน่งทางการเมืองใดๆ อีก และมิได้ลงสมัครรับเลือกตั้งที่ผ่านมา โดยต้องการสนับสนุนคนรุ่นใหม่ๆ ให้ไปทำหน้าที่ในตำแหน่งต่างๆ และขอส่งกำลังใจให้กับนักการเมืองรุ่นใหม่ให้อดทนรอเวลาที่จะได้แสดงฝีมือเมื่อมีโอกาส ยืนยันตนไม่ได้มีความคิดจะไปตั้งพรรคการเมืองขึ้นใหม่หรือเข้าร่วมกับพรรคการเมืองใดๆ แต่จะมุ่งหน้าดำเนินการในภาคประชาชนเพื่อเผยแพร่ความรู้ความเข้าใจในเรื่องประชาธิปไตย

การลาออกพรรคประชาธิปัตย์มิได้ออกมาเพราะความไม่พอใจหรือความโกรธ แต่ได้ปรึกษากับผู้ใหญ่ในพรรคแล้ว

ข่าวที่เกี่ยวข้อง