ไม่พบผลการค้นหา
อาคารสีเหลืองที่ตั้งอยู่ริมน้ำเจ้าพระยายังคงตลบอบอวลไปด้วยความรักที่ผ่านกาลเวลามานานเกือบ 100 ปี จากสถาปัตยกรรมและเรื่องราวของเจ้าของอาคารหลังนี้ 'พระยาชลภูมิพานิช และ คุณหญิงส่วน'

อาคารสีเหลืองตั้งเด่นอยู่ริมแม่น้ำเจ้าพระยา เป็นที่ตั้งของโรงแรมพระยา พาลาซโซ Luxury boutique hotel ที่อบอวลและสร้างขึ้นจากความรักของเจ้าของอาคาร เพราะเดิมอาคารหลังนี้คือ 'บ้านบางยี่ขัน' เรือนหอของ อำมาตย์เอก พระยาชลภูมิพานิช และ คุณหญิงส่วน

อำมาตย์เอก พระยาชลภูมิพานิช เป็นขุนนางและคหบดีเชื้อสายจีนที่ทำงานอยู่ในราชสำนักไทยสมัยรัชกาลที่ 5 โดยเข้ารับราชการในกรมท่าซ้าย กระทรวงมหาดไทย ทำหน้าที่ตรวจสอบและจัดเก็บรายได้จากเรือสินค้าที่เดินเรือผ่านทะเลอ่าวไทยเข้ามาสู่แม่น้ำเจ้าพระยา ซึ่งพระยาชลภูมิพานิชเป็นผู้จัดเก้บภาษีเรือจากจีน จาม(กัมพูชา) และญวน (เวียดนาม)

เนื่องจากที่ทำงานของกรมเจ้าท่าในสมัยนั้นอยู่ใกล้กับบริเวณพระบรมมหาราชวัง จึงทำให้พระยาชลภูมิพานิชได้เดินทางไปบริเวณพระบรมมหารชวังเป็นประจำ จนกระทั่งพบกับคุณหญิงส่วน นางข้าหลวงในสมเด็จฯ พระศรีพัชรินทราบรมราชินีนาถในรัชกาลที่ 5 เมื่อครั้งคุณหญิงส่วนออกมาทำธุระนอกวัง และได้ขอพระราชทานคุณหญิงส่วนมาเป็นภรรยา เมื่อคุณหญิงส่วนอายุครบ 21 ปี

'บ้านบางยี่ขัน' สร้างขึ้นเมื่อปีพ.ศ 2466 ในสมัยรัชกาลที่ 6 ซึ่งที่ตั้งของบ้านหลังนี้อยู่ริมแม่น้ำเจ้าพระยา เนื่องด้วยในสมัยก่อน แม่น้ำเจ้าพระยาถือเป็นเส้นทางการคมนาคมที่สำคัญและสามารถเดินทางไปยังฝั่งพระนครได้อย่างสะดวกและรวดเร็วด้วยเรือ จึงทำให้บ้านของคหบดี หรือบุคคลที่มีฐานะทางสังคมในสมัยนั้นมักจะสร้างบ้านอยู่ริมแม่น้ำเจ้าพระยากันเป็นเสียส่วนมาก

บ้านบางยี่ขันได้รับการดูแลโดยนายปานจิตต์ อเนกวนิช ซึ่งเป็นบุตรชายคนที่ 7 ของพระยาชลภูมิพานิช และ คุณหญิงส่วน ก่อนที่บ้านหลังนี้จะถูกโอนกรรมสิทธิ์ให้กับกลุ่มมุสลิมบางกอกน้อย หรือ มูลนิธิมุสลิมกรุงเทพวิทยาทานในปัจจุบัน และถูกนำมาใช้เป็นอาคารเรียนของโรงเรียนราชการุญ แทนอาคารเรียนหลังเดิมที่ถูกทำลายในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 จากระเบิดของฝ่ายสัมพันธมิตรที่ทิ้งลงมายังกรุงเทพฯ

สระว่ายน้ำ.JPG

หลังจากโรงเรียนราชการุญปิดตัวในปี พ.ศ 2521 เนื่องจากประสบปัญหาทางด้านการเงิน มูลนิธิมุสลิมกรุงเทพวิทยาทานจึงได้ให้เอกชนเช่าพื้นที่เป็นโรงเรียนอินทรอาชีวศึกษา แต่ทั้งนี้โรงเรียนอาชีวะเปิดได้ไม่นานก็ต้องปิดตัวลงในปี พ.ศ 2539 จึงทำให้บ้านบางยี่ขันหลังนี้ถูกทิ้งร้างอีกครั้งหนึ่ง

จนกระทั่งผู้ช่วยศาสตราจารย์.วิชัย พิทักษ์วรรัตน์ นายช่างสถาปนิกที่มองเห็นถึงความงดงามของอาคารเก่าหลังนี้ที่ตั้งอยู่ริมแม่น้ำเจ้าพระยา จึงขอติดติอกับทางมูลนิธิฯ เพื่อทำการปรับปรุง จนกระทั่งแล้วเสร็จในปี พ.ศ. 2552 พร้อมตั้งชื่อใหม่ว่า 'พระยา พาลาซโซ'

ปัจจุบัน พระยา พาลาซโซ ดำเนินกิจการโรงแรมในรูปแบบ Luxury boutique hotel มีห้องพักเพียง 15 ห้องเท่านั้น โดยแต่ละห้องจะมีรูปแบบและการตกแต่งที่แตกต่างกัน ซึ่งมีขนาดห้องพักตั้งแต่ 28 ตารางเมตรจนถึง 46 ตารางเมตร ซึ่งมี 'ห้องเจ้าพระยาสวีท' เป็นห้องพักที่ใหญ่ที่สุด สามารถมองเห็นวิวโค้งน้ำเจ้าพระยาได้จากบานหน้าต่างห้องพัก

ห้องพัก.JPG

(ห้องพักประเภทซูพีเรียของโรงแรม)

ขณะที่ห้องร่มโพธิ์ ซึ่งเป็นห้องโถงบนอาคารชั้น 2 ของโรงแรมก็เป็นอีกห้องที่สำคัญของโรงแรมแห่งนี้ โดยพื้นที่บริเวณชั้นสองนี้เดิมคาดว่าเป็นส่วนที่เป็นโถงรับแขกของบ้านบางยี่ขันมาตั้งแต่สมัยพระยาชลภูมิพานิชยังมีชีวิตอยู่ และบานประตูของห้องนี้ยังคงเป็นบานประตูที่เดิมตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 6 เช่นกัน

ประตูพระยาพาลาซโซ.JPG

(บานประตูที่เป็นไม้แกะสลักตั้งแต่ในสมัยรัชกาลที่ 6)

สำหรับในเดือนแห่งความรัก 'ห้องอาหารพระยาไดนิ่ง' นำเสนอเมนูอาหารไทยที่มาธีมของความรักทั้ง เมี่ยงคำบัวหลวง กุ้งกระเบื้อง และช่อชมพู ที่เป็นตัวแทนของ 'รักเราไม่เก่าเลย' นอกจากนี้ยังมีเมนู 'เพราะเราคู่กัน' ที่เป็นเมนู 'แกงกะทิสายบัว' ตำรับอาหารไทยชาววัง รวมไปถึงเมนู 'รักไม่มีกาลเวลา' อย่างข้าวห่อใบบัว ฉู่ฉี่เขียวหวานกุ้งแม่น้ำ ปลากะพงทอดยำตะไคร้ ที่ทานคู่กับข้าวหอมมะลิ หรือข้าวไรซ์เบอร์รี่ และปิดท้ายด้วยขนมหวานไทยอย่างทับทิมสยามที่แสดงถึงความเป็นรักนิรันดร์

อาหารฃ.JPG

(เมนูอาหารไทยชุดพิเศษสำหรับเดือนแห่งความรัก)