ไม่พบผลการค้นหา
เมื่อ “นายกรัฐมนตรี” แต่งตั้ง “ศาสตราจารย์ ดร.นฤมล ภิญโญสินวัฒน์” เป็น “โฆษกรัฐบาล”

ความคาดหวังย่อมสูง เป็นความคาดหวังที่มาจากความเป็นนักวิชาการ ผนวกด้วยความเชี่ยวชาญในด้านการเงิน การบริหารธุรกิจ มีตำแหน่ง ศาสตราจารย์ และวุฒิการศึกษาระดับปริญญาเอกรองรับ มีทั้งแนวนโยบาย “มารดาประชารัฐ” เป็นภาพจำ

เมื่อหวนส่องลำดับปาร์ตี้ลิสต์ พรรคพลังประชารัฐ ในเวลานั้น “นฤมล” ถูกจัดวางไว้ในลำดับที่ 5

เมื่อคลี่คลายดูเหตุแห่งลำดับอย่างถี่ถ้วน จะพบว่า ลำดับ 1 “ณัฏฐพล” (กปปส. เดิม) ลำดับ 2 “สุริยะ” (กลุ่มสามมิตร) ลำดับ 3 “พุทธิพงษ์” (กปปส. เดิม) ลำดับ 4 “สมศักดิ์” (กลุ่มสามมิตร) และตามด้วย “นฤมล" ในลำดับที่ 5 โดยเหตุที่เธอเป็นตัวแทนของ “ทีมสมคิด-กลุ่ม 4 กุมาร-ทีมนโยบาย”


มีวันนี้ เพราะ “สมคิด” ให้

เมื่อแรกรับตำแหน่ง สื่อมวลชนถามเธอว่า เข้ามาสู่แวดวงการเมืองได้อย่างไร ? เธอมักเล่าถึงหนึ่งชื่อสำคัญ นั่นคือ “สมคิด จาตุศรีพิทักษ์” ศูนย์กลางแห่งทุนประชารัฐในเวลานี้

“นฤมล” เล่าว่า เมื่อพรรคไทยรักไทยถูกยุบในปี 2550 ส่งผลให้ “อ.สมคิด” ถูกเว้นวรรคทางการเมือง อยู่ในบ้านเลขที่ 111 ในเวลานั้น อ.สมคิด กลับไปช่วยงานด้านการศึกษา-ให้คำปรึกษาที่คณะบริหารธุรกิจ (นิด้า) สอดคล้องกับจังหวะเวลาที่ “นฤมล” นั่งเป็นรองคณบดีอยู่พอดี

จากที่ อ.สมคิด ช่วยให้คำแนะนำเกี่ยวกับหลักสูตรของคณะ ต่อมา “นฤมล” จึงเข้าไปช่วยงาน อ.สมคิด ทั้งที่มูลนิธิสัมมาชีพ และสถาบันอนาคตไทยศึกษา

ประยุทธ์-สมคิด

จุดพลิกผันสู่งานการเมืองเริ่มในปี 2558 เมื่อ อ.สมคิด ขึ้นกุมบังเหียนด้านเศรษฐกิจของรัฐบาล แทน “หม่อมอุ๋ย”

จึงเป็นที่มาให้ “นฤมล” ก้าวสู่งานการเมืองเป็นหนแรก ในตำแหน่ง “ที่ปรึกษายุทธศาสตร์ของกระทรวงแรงงาน” ในยุค “พล.อ.ศิริชัย ดิษฐกุล” เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน

เธอนั่งในบอร์ดกองทุนประกันสังคม ดูแลยุทธศาสตร์การลงทุนของกองทุนประกันสังคม การบริหารเงินตอบแทนการลงทุน การยกระดับการบริหารงานกองทุนให้มีประสิทธิภาพ

ต่อมาจึงเข้าไปช่วยงานกระทรวงการคลัง ในตำแหน่ง “ผู้ช่วยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง” ในยุค “อภิศักดิ์ ตันติวรวงศ์” เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง

เธอได้รับมอบหมายให้ดูแลนโยบายสำคัญในเวลานั้น คือ นโยบายบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ ซึ่งมีโจทย์ใหญ่อยู่ที่การคัดกรองผู้มีรายได้น้อย-นำเทคโนโลยีเข้ามาช่วยอำนวยความสะดวกให้กับประชาชนผู้ใช้งาน

เมื่อตั้งพรรคพลังประชารัฐ “อุตตม” ทาบทามเธอ นั่งเป็น “กรรมการบริหารพรรค” พร้อมนั่งควบ “เลขานุการคณะกรรมการนโยบาย” ของพรรค ทำงานขนานไปกับ “สุวิทย์ เมษินทรีย์”

หนึ่งในนโยบายติดหู-ติดตลาดจากพลังประชารัฐในเวลานั้นคือ “มารดาประชารัฐ” ซึ่งทั้งชื่อ-ทั้งไอเดีย มาจาก “สุวิทย์ เมษินทรีย์-สันติ พร้อมพัฒน์-นฤมล ภิญโญสินวัฒน์”

จึงไม่ผิดนัก ถ้าจะบอกว่ามีวันนี้เพราะ “สมคิด” ให้ ตั้งแต่ให้ตำแหน่งในกระทรวงแรงงาน กระทรวงการคลัง กรรมการบริหารพรรค คีย์แมนคุมนโยบายพรรค ไปจนถึงปาร์ตี้ลิสต์ลำดับ 5

ไล่เรียงมาจนกระทั่ง ได้เป็น “โฆษกรัฐบาล”


รื้อสื่อสารในห้วงโควิด-มือไม่ถึง-เอาไม่อยู่

ก่อนโควิดสิบเก้า ภาพจำของสาธารณชนต่อ “โฆษกรัฐบาล” ถือว่าไม่เป็นที่จดจำ เธอไม่แก้ต่างทางการเมือง เธอไม่มีการแถลงในระดับที่ช่วยยกระดับภาพลักษณ์เชิงบวกต่อรัฐบาล

ภาพจำของเธอคือเดินตามผู้มีอำนาจในวาระพิธีเปิดงานต่างๆ ส่ง Press แถลงข่าวให้กับนักข่าววันละ 2-3 ชิ้น และนั่งอ่านแถลงข่าวตามต้นร่าง หลังการประชุมคณะรัฐมนตรีจบลง

ทว่าจุดตัดวัดความสามารถ และศักยภาพของ “โฆษกรัฐบาล” เกิดขึ้นในช่วงโควิดสิบเก้านั่นเอง จน ​“นายกรัฐมนตรี”​ ต้องรื้อสื่อสารใหม่ หลังชัดแล้วว่า มือไม่ถึง-เอาไม่อยู่-แถลงขัดกัน

ประยุทธ์ 05130456000000.jpg

เหตุการณ์ที่เป็นจุดตัด คือโฆษกรัฐบาล แถลงข้อมูลขัดกับ กรุงเทพมหานคร จนได้รับเสียงวิพากษ์วิจารณ์ไปทั่ว จนผู้ว่าฯ ​กทม. ต้องออกมาบอกว่า ในยามวิกฤติ ขอให้ฟังข้อมูลจาก กทม. เท่านั้น!!

เป็นที่มาของการรื้อสื่อสารใหม่ โดย นายกฯ บอกว่า “ผมจะปรับปรุงให้การสื่อสารเกี่ยวกับสถานการณ์โควิด-19 กับประชาชนให้มีความถูกต้อง ชัดเจน และครบถ้วน โดยผมได้สั่งการให้มีการแถลงข่าวเกี่ยวกับสถานการณ์และมาตรการต่างๆ รวมถึงคำแนะนำต่อประชาชนเพียงวันละหนึ่งครั้ง เพื่อลดความซ้ำซ้อน ลดการบิดเบือนข้อมูล และลดการสร้างความเข้าใจที่คลาดเคลื่อน”

อ่านต่อ : พ.ร.ก.ฉุกเฉิน : กระชับอำนาจนักการเมือง-ต่อสายตรงระบบราชการ-รื้อสื่อสารในสถานการณ์วิกฤติ

หลังเหตุการณ์นี้ ก็เกิด “ศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด19)” หรือ ศบค. ตามด้วยการตั้ง “หมอทวีศิลป์” เป็น “โฆษกประจำ ศบค.​” พบปะกับคนไทยทุกวันในเวลา 11.00 น.เป็นต้นไป

นับแต่การแต่งตั้ง “โฆษก ศบค.” อย่างเป็นทางการในวันที่ 26 มีนาคม 2563 เสียงของโฆษกรัฐบาลก็เงียบลงทันที เป็นความเงียบ เพราะไม่ถูกเลือกใช้งาน ซึ่งเป็นทั้งเหตุจากมือไม่ถึง-ไม่เหมาะกับสถานการณ์วิกฤติเช่นนี้!!


เกิดแต่ “สมคิด” ย้ายข้างสู่ “ประวิตร”

สัปดาห์ก่อน “นฤมล” ให้สัมภาษณ์กับมติชนถึงบัญชาของนายกรัฐมนตรีว่า “เรื่องโควิดมันมีคนออกเยอะแล้ว แหม่มก็ต้องออกเรื่องปัญหาอื่นๆ ด้วยว่า รัฐบาลทำอะไรอยู่ เรื่องภัยแล้งก็ท่านประวิตรดูแลอยู่ เพราะฉะนั้นแหม่มก็จะติดตามโครงการเกี่ยวกับน้ำทั้งหลาย”

ฟังสัมภาษณ์ https://www.youtube.com/watch?v=iU4TTPUzers

จึงเป็นที่มาให้ได้เห็น “โฆษกรัฐบาล” เดินตาม “ประวิตร” ไปไหนต่อไหน โดยเฉพาะเดินลงจากตึกบัญชาการพร้อมกันกับคณะใหญ่ หลังประชุมแก้วิกฤติภัยแล้ง ซึ่งมี “ประวิตร” นั่งหัวโต๊ะ

ประวิตร-โควิด19

ทว่ากระแสข่าวการสลับข้าง-ย้ายขั้ว จากสังกัดทีมสมคิด สู่ทีมประวิตร ไม่ได้พึ่งเกิดในช่วงนี้ เพราะมีกระแสข่าวการสลับข้างนี้ นับแต่ปลายปีที่แล้ว

แต่ยิ่งคุกรุ่น เมื่อปรากฏชื่อ “นฤมล”​ เป็นหนึ่งในกรรมการบริหารพรรคที่ไม่เอา “หัวหน้าพรรค-เลขาพรรค” ชื่อเดิม พร้อมด้วยกระแสข่าว เปลี่ยนตำแหน่งจาก “โฆษกรัฐบาล” เป็น “รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง” โดยดัน “สันติ พร้อมพัฒน์” ขึ้นเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังเต็มตัว

“นฤมล” ปฏิเสธข่าวทั้งหมดนี้ บอกให้ไปถาม “แหล่งข่าว” ประกอบกับเมื่อดูการโต้ตอบของ “ธนกร” โฆษกพรรคพลังประชารัฐแล้ว นาทีนี้แรงกระเพื่อมในพรรคยังระส่ำสูง

สำหรับวิวาทะ ระหว่าง “โฆษกพรรคพลังประชารัฐ” กับ “โฆษกรัฐบาล” ทิ้งนัยยะ คนที่แต่ละฝ่ายเลือกปกป้องได้ดี

เหตุเกิดจาก “อุตตม-สนธิรัตน์” เข้าพบนายกรัฐมนตรี ซึ่งมีบัญชาในระดับเรียกรอยยิ้มจาก 2 กุมาร โดยกำชับให้ทำงานต่อไปทั้งในรัฐบาลและในพรรคพลังประชารัฐ

บัญชาของนายกรัฐมนตรี ถือเป็นการส่งสัญญาณที่สำคัญยิ่งไปยังศัตรูของ “อุตตม-สนธิรัตน์” โดยตรง

อ่านต่อ : 'ประวิตร' อับแสง จาก 'นาฬิกายืมเพื่อน' ถึง 'ป่ารอยต่อ' กระฉ่อนเมือง

ทว่าให้หลังจากนั้น “ธนกร วังบุญคงชนะ” เลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง และโฆษกพรรคพลังประชารัฐ ให้ข่าวต่อเนื่องว่า

“นายกฯ ได้ให้กำลังใจและชี้แนะ (อุตตม-สนธิรัตน์) ว่า เรื่องของพรรคน่าจะเรียบร้อยได้ด้วยการหารือ ส่วนงานที่ทำอยู่ขณะนี้ให้ทำต่อไป ทำด้านไหนอยู่ก็ทำด้านนั้นต่อไปทั้งในรัฐบาลและในพรรค แต่นางนฤมล ภิญโญสินวัฒน์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กลับให้สัมภาษณ์ว่า นายกฯ ไม่ได้พูดหรือหารือเรื่องการเมืองแต่อย่างใด ว่า ตนได้สอบถามนายอุตตมแล้ว โดยนายอุตตมยืนยันว่าทุกอย่างเป็นไปตามที่ท่านเคยให้สัมภาษณ์ไป ดังนั้น หากไม่เชื่อคำให้สัมภาษณ์ของนายอุตตม ซึ่งเป็นคนที่นั่งหารือร่วมกับนายกฯ แล้วจะให้เชื่อคำพูดของใคร”

“นายอุตตมเป็นคนชัดเจน ตรงไปตรงมา ไม่ใช่นักการเมืองอาชีพ แต่เป็นนักการเมืองด้วยจิตวิญญาณแห่งการรับใช้ประชาชน เป็นสุภาพบุรุษทางการเมือง และมีความน่าเชื่อถือ ที่ผ่านมามุ่งทำงานอย่างหนักเคียงข้างนายกฯ ในการช่วยเหลือประชาชนคนไทยมาตลอด

“เมื่อนายกฯ ชี้แนะว่าเรื่องของพรรคน่าจะเรียบร้อยได้ด้วยการหารือกันอย่างใกล้ชิดนั้น เชื่อว่าปัญหาความสับสนเรื่องการเปลี่ยนแปลงกรรมการบริหารพรรคชุดใหม่ก็คงจะยุติลงได้แล้ว เพราะผู้หลักผู้ใหญ่ของพรรคเองก็มีการปรึกษาหารือกันเป็นระยะๆ อยู่แล้ว”

ให้หลังคำสัมภาษณ์ของ “โฆษกพรรคพลังประชารัฐ” ด้าน “โฆษกรัฐบาล”​ ยังคงเงียบ เหมือนที่เงียบมาตลอด งดให้ความเห็น งดปะทะ กับคู่ขัดแย้งทางการเมือง

หลักทางการเมืองมีอยู่ว่า จะเลือกข้างฝั่งไหนไม่สำคัญ แต่พึงพร้อมรับความเสี่ยงจากการเลือกให้ดี เพราะหาก อาทิตย์อับแสงลงเมื่อใด ย่อมพาบริวารมืดดับตามไปด้วย!!

วยาส
24Article
0Video
63Blog