ไม่พบผลการค้นหา
ครม. อนุมัตินโยบายช่วยเหลือผู้ประกอบการที่ได้รับผลกระทบจากไวรัสโคโรนา เพิ่มเงินกู้ในระบบ 1.25 แสนล้านผ่านสถาบันการเงินของรัฐ พร้อมลดภาษี ‘สัมมนาภายในประเทศ-ประบปรุงกิจการ-น้ำมันเครื่องบิน’ กว่า 5 พันล้านบาท

นางนฤมล ภิญโญสินวัฒน์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี แถลงมติที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) อนุมัติเพิ่มเติมการนำเงินมาใช้ตาม พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปี 2562 จากเดิมมติ ครม. วันที่ 27 ส.ค.2562 รับทราบหลักเกณฑ์และเงื่อนไขที่ให้สำนักงบประมาณนำเงินมาใช้ไม่เกินกึ่งหนึ่ง แต่เนื่องจากการจัดทำ พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปี 2563 ล่าช้า จึงอนุมัติวงเงิน เงื่อนไขและหลักเกณฑ์เพิ่มจากเดิมเป็น 75 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งเป็นรายจ่ายที่มีข้อผูกพันก่อนหน้านี้และเป็นข้อพิพากษาของศาล รวมทั้งข้อตกลงระหว่างประเทศ และภารกิจพื้นฐานและความจำเป็นเร่งด่วน โดยไม่เกินวงเงินงบประมาณของปี 2563 นอกจากนี้ยังมีการอนุมัติงบผูกพันรายจ่ายท้ายปีที่ไม่เพียงพอ โดยให้ใช้งบประมาณกลาง แล้วไปหักออกจากงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2563

ทั้งนี้ คณะรัฐมนตรียังมีมติอนุมัติการบรรเทาผลกระทบภาคธุรกิจการท่องเที่ยวเนื่องจากไวรัสโคโรนา โดยมาตรการทางการเงินและภาษี ได้แก่ โครงการสินเชื่อ SME ประชารัฐสร้างไทย โดยธนาคารออมสิน, โครงการสินเชื่อเพื่อยกระดับเศรษฐกิจชุมชน ของธนาคาร SME, โครงการสินเชื่อกรุงไทย SME, และโครงการปรับเปลี่ยนเครื่องจักร ของธนาคารออมสิน รวมวงเงินที่สามารถกู้ยืมได้ 125,000 ล้านบาท 

นอกจากนี้ยังมีการขยายเวลาการชำระหนี้และลดค่าธรรมเนียม ซึ่งผู้ประกอบการที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ และได้รับผลกระทบทางเศรษฐกิจ สามารถติดต่อธนาคารออมสิน, ธนาคาร SME ธ.ก.ส., ธ.อ.ส., และบรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.)

ขณะเดียวกันมีการอนุมัติมาตรการทางภาษี โดยการขยายกำหนดเวลาการยื่นแบบแสดงรายการและชำระภาษีเงินได้ส่วนบุคคลไปถึงเดือน มิ.ย. 2563 พร้อมทั้งมีมาตรการภาษีเพื่อสนับสนุนการจัดอบรมสัมมนาภายในประเทศ โดยบริษัท ห้างหุ้นส่วน หรือนิติบุคคลสามารถนำค่าใช้จ่ายในการจัดสัมมนาภายในประเทศภายในปี 2563 มาลดหย่อนภาษีได้ 2 เท่า และมีมาตรการสนับสนุนการปรับปรุงกิจการโรงแรม

โดยสามารถนำรายจ่ายค่าต่อเติมและขยายกิจการมาลดหย่อนภาษีได้ 1.5 เท่า และมาตรการลดอัตราภาษีสรรพสามิตสำหรับน้ำมันเชื้อเพลิงเครื่องบินไอพ่นจากเดิม 4.726 บาทต่อลิตร เหลือ 0.20 บาทต่อลิตร เป็นการชั่วคราว คาดว่ารัฐจะเสียรายได้ 5,287 ล้านบาท