ไม่พบผลการค้นหา
สำรวจความเชื่อชาวจีนที่มาถึงไทย ว่าคิดยังไงกับค้างคาว

ค่อนข้างเชื่อได้ว่า "ไวรัสโคโรนา" จากเมืองอู่ฮั่น มี "ค้างคาว" เป็นผู้ต้องสงสัยเบอร์หนึ่ง รองลงมาก็คือ "งู" และอาจติดต่อมาสู่คนเพราะไปกินมันเข้า น่ากินตรงไหนไม่รู้ แต่ก็มีการแชร์ภาพสาวสวยเปิบซุปค้างคาว ซึ่งหลายคนคงบอกว่าสยอง เพราะมันดูตายแบบไม่สงบ แหกปากยิงฟัน ไม่ได้เหมือนอาหารเลยสักนิด


สัตว์มงคลกลายเป็นอาหารเฉย

จริงๆ ค้างคาวเป็นสัตว์มงคลของจีน ถือเป็นพาหนะของ "ฮก" เทพแห่งความโชคลาภความมั่งคั่ง โดยค้างคาวเป็นสัตว์มีขามีแข้ง และก็มีปีกด้วย เลยไม่ต้องเดินดินเป็นหลักสื่อถึงวาสนา ขณะที่ ร.5 ทรงมีพระบรมราชาธิบาย ว่าด้วยลายจีนซึ่งเขียนเครื่องถ้วยกระเบื้องกังไส ว่า

"พวกจีนจะแปลคำ ฮก นี้ ว่าเป็นพระนารายณ์ ก็น่าจะเป็นได้ เพราะฮกมีอาการคล้ายพระนารายณ์ ส่วนสิริฤๅพาหนะเป็นค้างคาว ค้างคาว เป็นสัตว์ประหลาดอย่างหนึ่ง ซึ่งมีขามีแขนเหมือนสัตว์สี่เท้า แต่มีปีก จะว่าเป็นเครื่องหมายแห่งครุฑเลือนๆ มา..."

ด้วยความหมายมงคลเริ่ดๆ ขนาดนี้ ตามสถาปัตกรรมจีนเลยมักมีรูปค้างคาวประดับตามเพดาน ไทยเราก็เอาอย่างมาด้วย โดยเอามาทำเป็นมุมกั้นประกอบลายประจำยาม ตอนงานออกพระเมรุในหลวง ร.9 พระที่นั่งทรงธรรมก็มีรูป "ค้างคาว" ประดับบนเพดานด้วย

เป็นสัตว์มงคลแล้วคนจีนไปกินมันทำไม? คำตอบไม่มีหรอก แต่อยากให้ดูว่า ทั้งเต่า ทั้งเสือ นี่ก็สัตว์มงคลของจีนเหมือนกัน คนจีนยังกินสะบั้นหั่นแหลก คงประมาณการกินของมงคลก็เหมือนรับพลังมงคลเข้าตัว ส่วนเมนูค้างคาวไม่รู้เหมือนกันว่าในจีนกินกันมานานไหม เพราะแผ่นดินจีนกว้างใหญ่ วิถีการกินคงต่างกันในแต่ละพื้นที่ แต่เดี๋ยวนี้ที่กินกันแพร่หลายก็อาจมีอิทธิพลจากบรรดายูทูปเบอร์จีนสายกิน กินธรรมดาโลกไม่จำ คู่แข่งก็เยอะเลยต้องงัดของกินแปลกๆ สยองๆ มาดึงคนดู ช่วงนี้เราจึงอาจได้เห็นคลิปที่ชาวเน็ตเอามาแชร์กันเยอะ ตั้งแต่กินหนูเป็นๆ หนอนน้ำ งู ฯลฯ แต่ละอย่างชวนขนลุก

83722525_855702934865935_811911520895107072_n.jpg


ขี้ค้างคาวมีค่าเกินกว่าจะเอาตัวมันมากิน

บ้านเราขึ้นชื่อลือชาเรื่องการกินสัตว์แปลกๆ อยู่เหมือนกัน ชนิดลาลูแบร์ ราชทูตฝรั่งเศสสมัยสมเด็จพระนารายณ์ต้องบันทึกไว้ด้วยความพิศวง ขณะที่สุนทรภู่แต่งไว้ในนิราศเมืองแกลง ตอนเห็นชาวบ้านทำครัวว่ามีทั้ง "แย้บึ้งอึ่งอ่างเนื้อค่างคั่ว" หรือแม้แต่พระสังฆราชฌัง-บัปติสต์ ปาลเลกัวซ์ ก็เขียนไว้ในหนังสือ "เล่าเรื่องเมืองสยาม" เล่าว่าเหล่ามิชชันนารีที่บางกอกก็ปรับตัวเรื่องการกิน อยู่ง่ายกินง่ายถึงขนาด "กินแมว" ด้วย

การกินเนื้อแบบนี้ในอดีตอาจเป็นเรื่องธรรมดาในบางชุมชน ที่แหล่งโปรตีนไม่ได้มีให้เลือกมากนัก แต่สำหรับค้างคาวแล้ว ด้วยความอ่านน้อยของฉัน หรือยังเยาว์ด้วยความรู้ ฉันยังไม่เคยเห็นบันทึกใดที่พูดถึงว่าบ้านเรากินค้างคาว (แต่ขนมที่ชื่อว่าขนมค้างคาวมีอยู่ ลองดูจากตำราแม่ครัวหัวป่าก์) มีแต่การหาประโยชน์จากค้างคาวด้วยการ "เก็บมูลค้างคาว" เพื่อทำเป็นดินประสิว เป็นอาชีพอันเก่าแก่ของเหล่าชนผู้อยู่ใกล้ถ้ำ เช่น เอกสารสารตราเจ้าพระยาอัครมหาเสนาบดี เรื่องเมืองตรังภูรา (วันพุธ ขึ้น 3 ค่ำ เดือน 10 ปีมะแม ตรีศก จ.ศ. 1173) ในจดหมายเหตุรัชกาลที่ 3 ซึ่งบันทึกย้อนหลังถึงผู้รักษาเมืองตรังชื่อพระภักดีบริรักษ์ ในสมัยรัชกาลที่ 1 ว่า

“แต่เดิมเมืองตรังแบ่งออกเป็น ๒ เมือง คือ เมืองภูรา ตั้งอยู่ทางฝั่งตะวันออกของแม่น้ำตรัง เป็นเมืองที่มีขนาดเล็ก แต่มีความสำคัญมาก ในฐานะเป็นที่เก็บมูลค้างคาวสำหรับทำดินปืน และที่ร่อนแร่ดีบุกด้วยเมืองหนึ่ง..."

ขณะที่หนังสือวิชาอาชีพชาวสยาม จากวชิรญาณวิเศษ รศ.109-110 บอกว่ามูลค้างคาวซื้อขายจำหน่ายกันมากในเมืองนครราชสีมา และการจะได้มาซึ่งมูลค้างคาวนั้นไม่ง่าย ถือกันว่าเป็นงานอันตราย เพราะต้องไปเก็บในถ้ำมีทั้งงูมีทั้งหมี ในบางถ้ำมีมูลค้างคาวมากขนาด "เหยียบลงไปทั่วหลังเท้า" จึงต้องมีการบวงสรวงเทพารักษ์

"ต้องไปเที่ยวยิงสัตว์ต่างๆ ที่มนุษย์บริโภคได้ เช่น เนื้อละมั่งกวางทราย ชั้นเลวที่สุดทีเดียวทีแต่นกหรือเต่าก็ได้ เวลาที่ไปยิงสัตว์มาแล้วเครื่องที่จะวางบวงสรวงใช้ก้อนหินกองขึ้น เอาสัตว์ที่ยิงมาได้วางลงไว้บนก้อนหินแล้วไปหักกิ่งไม้มาปัก แล้วเอาผ้าแดงเลือดนกมาหุ้มก้อนหิน แล้วจึงกล่าวคำอธิษฐานว่า ขอเดชะบารมีพระปู่เจ้าและเจ้าทุ่งเจ้าท่าเจ้าป่าเจ้าดงและนางไม้อะไรๆ ต่างๆ ตามความประสงค์ ขอเชิญมารับเครื่องเซ่น ขอเดชะบารมีอำนาจปกครองรักษาสรรพภัยต่างๆ ในถ้ำและหนทางที่จะไปไม่ให้เบียดเบียนบีฑา..."

มูลค้างคาวที่ได้ต้องเอามาประสมด่าง และหุง จนเป็นดินประสิว ขายกันชั่งละสลึงเฟื้อง ถ้าในหนึ่งเดือนหุงดินประสิวทุกวันจะได้ดินประสิว 840 ชั่ง คิดเป็นเงิน 316 บาท เทียบกับราคาข้าวสมัย ร.4 ที่เกวียนละ 16-20 บาท ทำดินประสิวซื้อข้าวได้เดือนละกว่าสิบเกวียน เรียกได้ว่า "ขี้ค้างคาว" มีค่าเกินกว่าจะเอาตัวมันมากินซะอีก ปล่อยมันขี้ไปเสียดีกว่า


การกินเพื่อความตาย

โดยปกติเรากินเพื่ออยู่ แต่การกินเพื่อความตาย หรือ "หาเรื่องตาย" มนุษย์เราก็ชอบทำอยู่เหมือนกัน โดยเฉพาะ "การกินอะไรแปลกๆ" เริ่มจากใกล้ๆ ตัว บ้านเรานิยมกินลาบลู่หมูดิบ ก็ติดเชื้อสเตร็ปโตค็อกคัส ซูอิส (Streptococcus suis) คล้ายๆ ไข้สมองอักเสบ และยังไม่มีรายงานติดจากคนสู่คน

แต่ที่ "กินแปลกจนเป็นโรคระบาด" ในโลกของเรานั้นมีหลายครั้ง เรียกว่าเป็น "ประวัติศาสตร์อีกหน้าของมนุษยชาติ" ก็ว่าได้ เพราะเราต้องต่อสู้เอาชีวิตรอดกับศัตรูที่มองไม่เห็น ล้มตายกันไปก็มาก สร้างความจิตตกไปก็เยอะ เศรษฐกิจพังพินาศ เช่น เมื่อปี 2546 โรคซาร์สระบาดที่จีนคนตายหลายร้อย ก็ค่อนข้างชัดเจนว่ามาจากสัตว์ป่าประเภทชะมดที่ถูกจับมากิน

เชื้อโรคอยู่ในตัวสัตว์ สัตว์อยู่ในป่า ไปเอามันมากิน มนุษย์เรานี่แหละต้นเหตุ

ไวรัสโคโรนาครั้งนี้ก็เช่นกัน...


83713498_847873575625538_5213134744430051328_n.jpg


วิฬาร์ ลิขิต
เสนอเรื่องราวประวัติศาสตร์ตามแต่ปากอยากจะแกว่ง เรื่องที่คนทั่วไปสนใจ หรือใครไม่สนใจแต่ฉันสนใจฉันก็จะเขียน การตีความที่เกิดขึ้นไม่ใช่ที่สุด ถ้าจุดประเด็นให้ถกเถียงได้ก็โอเค แต่ถึงจุดไม่ติดก็ไม่ซี เพราะคิดว่าสิ่งที่ค้นๆ มาเสนอ น่าจะเป็นประโยชน์กับใครบ้างไม่มากก็น้อยในวาระต่างๆ จะพยายามไม่ออกชื่อด่าใครตรงๆ เพราะยังต้องผ่อนคอนโด แต่จะพยายามเสนอ Hint พร้อมไปกับสาระประวัติศาสตร์ที่คิดว่าน่าสนใจและเทียบเคียงกันได้
2Article
0Video
66Blog