ไม่พบผลการค้นหา
'สมคิด' เรียกคลัง-แบงก์ชาติ-สภาพัฒน์ประชุมจัดโครงการช่วยเหลือประชาชน-ผู้ประกอบการ 'คนตัวเล็ก' พร้อมเสนอครม.สัปดาห์หน้า 'อุตตม' ยอมรับเศรษฐกิจปีนี้ติดลบแน่นอน ไม่หวั่นกระแสการเมืองกดดัน เผยนายกฯ สั่งให้เอางานมาเป็นอันดับหนึ่ง

ในการประชุมการทบทวนภาวะเศรษฐกิจ วันที่ 14 พ.ค. 2563 ที่กระทรวงการคลัง นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธานร่วมประชุมกับกระทรวงการคลัง, ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.), สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ หรือสภาพัฒน์ และหน่วยงานอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง ชูมาตรการช่วยเหลือประชาชนและผู้ประกอบการเพิ่มเติม 3 โครงการ ได้แก่

  • มาตรการเน้นช่วยเหลือผู้ประกอบการขนาดเล็กที่ไม่เข้าข่ายรับเงินช่วยเหลือซอฟต์โลน 500,000 ล้านบาทของ ธปท.
  • การเยียวยาอุตสาหกรรมที่คงการจ้างงานไว้
  • แผนการบริหารงบการฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคม 400,000 ล้านบาท

ด้านนายอุตตม สาวนายน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังชี้แจงเพิ่มเติมในมาตรการแรกว่า แม้ปัจจุบันยังไม่มีแผนอย่างเป็นรูปธรรมที่จะระบุแนวทางการช่วยเหลือหรือขนาดกลุ่มเป้าหมาย แต่ก็คาดการณ์ว่าจะใช้เม็ดเงินไม่เกิน 100,000 ล้านบาท โดยเป็นการจัดสรรงบจากเงินก้อน 400,000 ล้านบาท ใน พ.ร.ก.กู้เงิน 1 ล้านล้านบาทของกระทรวงการคลัง พร้อมยืนยันว่าแผนการต่างๆ น่าจะเสร็จได้ภายในเดือนนี้ และมองว่างบเงินกู้ 1 ล้านล้านบาท ยังคงเพียงพอ

ก.คลัง
  • อุตตม สาวนายน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง

รมว.คลัง ชี้แจงว่า จากการประเมินความช่วยเหลือ กระทรวงการคลังได้ช่วยฝั่งประชาชนไปแล้วราว 35 - 36 ล้านคน แบ่งเป็น การช่วยเหลือผ่านประกันสังคม 10 ล้านคน การช่วยเหลือผู้ประกอบอาชีพอิสระ ซึ่งตัวเลขรายงานล่าสุดสุดจากสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) คาดว่าธนาคารกรุงไทยจะทยอยโอนเงินได้ทั้งสิ้น 14 ล้านคน และยังมีความช่วยเหลือใหม่ในฝั่งเกษตรกรโดยรวมอีกประมาณ 10 ล้านคน

ส่วนการช่วยเหลือฝั่งผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดเล็ก หรือ เอสเอ็มอี มีวงเงินซอฟต์โลน หรือสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำของ ธปท. เข้าไปอุดแล้วอีก 500,000 ล้านบาท 

ทั้งนี้ กระทรวงการคลังมองเห็นว่า ผู้ประกอบการรายเล็ก ที่เรียกว่า 'คนตัวเล็ก' อีกจำนวนหนึ่ง อาทิ วิสาหกิจชุมชน ยังไม่สามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุนได้เพียงพอจากธนาคารพาณิชย์ ซึ่งส่วนหนึ่งอาจมาจากเหตุผลว่าไม่เคยมีการกู้ยืมมาก่อน จึงจะเร่งพิจารณาหาหนทางช่วยเหลือให้เร็วที่สุด และย้ำว่าจะมีมาตรการเกณฑ์ต่างๆ มาป้องกันไม่ให้การช่วยเหลือทับซ้อนกับซอฟต์โลน 500,000 ล้านบาท ของแบงก์ชาติ

สำหรับมาตรการที่สองนั้น นายสมคิด ชี้ว่า ภาครัฐจะเน้นไปที่การช่วยอุตสาหกรรมที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 โดยจะเข้าไปพยุงในฝั่งการจ้างงาน ซึ่งจะมีการนำเรื่องเข้าคณะรัฐมนตรี (ครม.) ภายในวังอังคาร (19 พ.ค.) ที่จะถึงนี้ แต่ยังไม่ได้ประกาศออกมาว่ารูปแบบการช่วยเหลือจะเป็นอย่างไร

ขณะที่นายอุตตมเสริมว่า หนึ่งในโครงการช่วยเหลืออุตสาหกรรมที่ได้รับผลกระทบหนัก อาทิ อุตสาหกรรมการท่องเที่ยวจะไม่รวมการช่วยเหลือการบินไทย แต่จะรวมคำร้องขอซอฟต์โลนของกลุ่มสายการบินในประเทศ แต่มองว่ามาตรการฝั่งภาษีภาครัฐออกไปพอสมควรแล้วและยังไม่คิดว่าจะมีอะไรเพิ่มเติม

สำหรับมาตรการสุดท้าย นายสมคิดชี้ว่า จะเป็นการมอบหน้าที่ให้กับคณะกรรมการฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคมที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ที่บริหารจัดการงบ 400,000 ล้านบาท โดยจะไม่มี "กระทรวงต่างๆ เข้าไปยุ่ง" หรือให้อำนาจจัดสรรโครงการเต็มที่ แต่ต้องเน้นไปที่โครงการที่ก่อให้เกิดการสร้างงานในระดับชุมชนจริงๆ อาทิ การจ้างคนในหมู่บ้านเข้ามาดูแลเรื่องงบประมาณต่างๆ และเน้นให้มีความโปร่งใสสามารถตรวจสอบได้เมื่อถูกร้องขอ

นายอุตตม ย้ำในช่วงท้ายว่า ตนเองในฐานะ รมว.คลัง ยืนยันว่ายังทำงานอยู่ตามปกติ และประเด็นความกดดันทางการเมืองจะมีผลต่อการบริหารเศรษฐกิจประเทศหรือไม่นั้นชี้แจงว่าความไม่แน่นอนทางการเมืองก็เป็นเรื่องปกติอยู่แล้วตัวนายกรัฐมนตรีเองก็ย้ำว่าปัจจุบันให้การทำงานเป็นอันดับหนึ่ง ส่วนสถานการณ์ทางเศรษฐกิจนั้น "มันติดลบแน่นอน ผลกระทบต่อเนื่องมันมีแน่นอน" แต่จะมีปัจจัยบวกเข้ามาเสริมมากน้อยแค่ไหนก็ต้องรอดู

ข่าวที่เกี่ยวข้อง :