ไม่พบผลการค้นหา
ตลอดหลายปีที่ผ่านมา ข้อมูลจากหลายฝ่ายแสดงชัดตรงกันว่า ประเทศไทยมีผู้เสียชีวิตจากอุบัติเหตุทางถนนจำนวนมาก ทำให้เกิดความสูญเสียทางเศรษฐกิจมหาศาล หรือคิดเป็นมูลค่ามากกว่า 5 แสนล้านบาท/ปี ซึ่งประเด็นดังกล่าวสามารถป้องกันได้ หากพรรคการเมืองต่างๆ เริ่มต้นหันมาทบทวนนโยบายลดอุบัติเหตุก่อนเปิดศึกเลือกตั้ง

จากข่าวชงพรรคการเมืองขับเคลื่อนนโยบายลดอุบัติเหตุบนท้องถนน ซึ่งทางคณะกรรมการกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ หรือ สสส. พยายามชี้เป้าให้พรรคการเมืองต่างๆ เล็งเห็นความทุกข์ของประชาชนจากอุบัติเหตุทางถนนก่อนการเลือกตั้งใหม่ เพราะจริงๆ แล้วอุบัติเหตุบนท้องถนนไม่ใช่แค่ส่งผลกระทบต่อตัวผู้ประสบภัยเท่านั้น แต่ยังก่อให้เกิดความสูญเสียต่อเศรษฐกิจและสังคมไทยอย่างมหาศาล

ตัวเลขน่ากังวลจากการคาดการณ์ขององค์การอนามัยโลก (World Health Organization: WHO) ระบุว่า ประเทศไทยมีอัตราการเสียชีวิตจากอุบัติเหตุทางถนนสูงเป็นอันดับ 2 ของโลก โดยอัตราการเสียชีวิตอยู่ที่ 36.2 รายต่อประชากร 100,000 คน คิดเป็นยอดผู้เสียชีวิตกว่า 24,000 คน/ปี หรือ 66 คน/วัน ขณะเดียวกัน 89 เปอร์เซ็นต์ของผู้เสียชีวิตเป็นคนเดินเท้า คนปั่นจักรยาน หรือขับขี่มอเตอร์ไซค์

เห็นได้ชัดว่า ความสูญเสียจากอุบัติเหตุบนท้องถนน ไม่ใช่เรื่องเล่นๆ และถือเป็นประเด็นใหญ่ ซึ่งนักการเมืองจากทุกพรรคควรให้ความสำคัญ เนื่องจากการเริ่มต้นขับเคลื่อนนโยบายด้านความปลอดภัยบนท้องถนน นอกจากสามารถช่วยรักษาชีวิตผู้คนแล้ว ยังมีส่วนส่งเสริมการเติบโตทางเศรษฐกิจ และเพิ่มความมั่นคงให้กับประเทศอีกด้วย


hanny-naibaho-252946-unsplash.jpg
  • ท้องถนนในกรุงเทพฯ ยามค่ำคืน

เมื่อช่วงเช้า (22 ตุลาคม 2561) ที่ผ่านมา ณ โรงแรมแกรนด์ฟอร์จูนทาวเวอร์ ทีมงาน ‘วอยซ์ออนไลน์’ พบกับ ดร. สุเมธ องกิตติกุล ผู้อำนวยการวิจัยด้านนโยบายการขนส่งและโลจิสติกส์ จากสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (Thailand Development Research Institute: TDRI) ซึ่งมาพร้อมผลการศึกษาเรื่อง ‘ความเสียหายทางเศรษฐกิจ และสังคมไทย จากอุบัติเหตุทางถนน’ ก่อนให้สัมภาษณ์กับผู้สื่อข่าวว่า

ปัจจุบัน อุบัติเหตุทางถนนไม่ได้ส่งผลเสียต่อตัวผู้ประสบภัยเท่านั้น แต่ยังสร้างความสูญเสียทางเศรษฐกิจ และสังคมไทยค่อนข้างมาก อย่างไรก็ตาม หากประชาชนไม่ได้ประสบเหตุการณ์ด้วยตัวเองอาจจะไม่ทราบว่า การเกิดอุบัติเหตุครั้งหนึ่งต้องสูญเสียค่าใช้จ่ายมากเท่าไหร่

สิ่งหนึ่งที่ทีดีอาร์ไอทำการศึกษาคือ ความเสียหายกรณีที่เกิดการเสียชีวิต หรือบาดเจ็บสาหัส ซึ่งหลายๆ ครั้งเมื่อเกิดการเสียชีวิต ความสูญเสียมันมากกว่าแค่สายตามองเห็น คือปกติข่าวตามสื่อคงบอกแค่ว่า เกิดอุบัติเหตุครั้งหนึ่งมียอดผู้เสียชีวิต หรือผู้บาดเจ็บกี่คน แต่หากลองคิดมูลค่าความสูญเสียเป็นตัวเลขแล้วการศึกษาค้นพบข้อมูลน่าสนใจว่า

กรณีเกิดการเสียชีวิตจากอุบัติเหตุบนท้องถนน 1 ราย สร้างความสูญเสียทางเศรษฐศาสตร์เฉลี่ยประมาณ 10 ล้านบาท ส่วนกรณีบาดเจ็บสาหัสจากอุบัติเหตุบนท้องถนน 1 ราย สร้างความสูญเสียทางเศรษฐศาสตร์เฉลี่ยประมาณ 3 ล้านบาท ซึ่งตัวเลขดังกล่าวคำนวณจากการขาดรายได้ และประสิทธิภาพของบุคคล โดยบางคนอาจสามารถสร้างรายได้ในอนาคตค่อนข้างมาก

อย่างไรก็ตาม ถ้าลองเอาข้อมูลมาคำนวณต่อจะพบว่า ยอดผู้เสียชีวิตจากอุบัติเหตุบนท้องถนนใน 1 ปี เฉลี่ยประมาณ 20,000 กว่าราย ส่วนผู้บาดเจ็บจากอุบัติเหตุบนท้องถนนใน 1 ปี เฉลี่ยประมาณ 100,000 กว่าราย และเมื่อเอาตัวเลขทั้ง 2 ส่วนมารวมกันจะพบยอดความสูญเสียต่อระบบเศรษฐกิจของประเทศไทยมากกว่า 500,000 ล้านบาท/ปี


_MG_0441.JPG
  •  ดร. สุเมธ องกิตติกุล ผู้อำนวยการวิจัยด้านนโยบายการขนส่งและโลจิสติกส์ จากสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย

ดร. สุเมธอธิบายต่อด้วยว่า หากอยากทราบว่าตัวเลข 500,000 ล้านบาท/ปี เยอะมากขนาดไหน ต้องลองนำตัวเลขดังกล่าวไปเทียบเคียงกับผลิตภัณฑ์มวลรวมของประเทศ หรือ จีดีพี ซึ่งของประเทศไทยอยู่ประมาณ 14-15 ล้านล้านบาท แล้วลองคิดออกมาเป็นเปอร์เซ็นต์จะเห็นว่า ความสูญเสียของอุบัติเหตุทางถนนอยู่ประมาณ 3.5-4 เปอร์เซ็นต์ของจีดีพี

“เมื่อเทียบกับต่างประเทศอัตราความสูญเสียทางถนนของประเทศไทยนับว่า ค่อนข้างสูง โดยเฉพาะเมื่อเทียบกับประเทศกำลังพัฒนาต่างๆ จะเห็นชัดว่า ประเทศไทยสูญเสียไปมากกับอุบัติเหตุบนท้องถนน และถ้ารัฐบาลเสนอนโยบาย หรือการลงทุนกับการป้องกันอุบัติเหตุ จีดีพีของประเทศจะกลับมาขยายตัว ซึ่งมันเป็นการลงทุนน้อย แต่ผลลัพธ์ทางเศรษฐกิจค่อนข้างมาก อย่างไรก็ตาม รัฐต้องพยายามหามาตรการที่ชัดเจนมากยิ่งขึ้น เพื่อทำให้ประเทศลดความสูญเสียทางเศรษฐกิจได้” ดร. สุเมธ กล่าว

สอดคล้องกับข้อมูลจาก นวลอนงค์ พันธุ์กำแหง ผู้ประสานงานโครงการจากมูลนิธิบลูมเบิร์กเพื่อสาธารณประโยชน์ (Bloomberg Philanthropies Initiative for Global Road Safety; BIGRS) ที่ยืนยันว่า หากลดจำนวนผู้บาดเจ็บ และเสียชีวิต อันเนื่องมาจากอุบัติเหตุบนท้องถนนลงครึ่งหนึ่ง และคงระดับความสูญเสียดังกล่าวไว้เป็นเวลา 24 ปี สามารถทำให้ผลิตภัณฑ์มวลรวมของประเทศเพิ่มขึ้นได้ 22 เปอร์เซ็นต์

“ภายใต้โครงการความคิดริเริ่มเพื่อความปลอดภัยทางถนนทั่วโลก ซึ่งทางมูลนิธิฯ สนับสนุนธนาคารโลก (World Bank) ให้ทำการศึกษาผลกระทบทางเศรษฐกิจระดับมหภาคของความสูญเสียจากอุบัติเหตุบนท้องถนนใน 5 ประเทศคือ จีน อินเดีย ฟิลิปปินส์ แทนซาเนีย และประเทศไทย ผลการศึกษาจากรายงานระบุว่า การลดจำนวนการบาดเจ็บ และการเสียชีวิตจากอุบัติเหตุบนท้องถนนจะช่วยให้เศรษฐกิจของประเทศสามารถเติบโต และมีรายได้ประชาชาติสูงขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ แน่นนอนว่า มันนำไปสู่การเพิ่มสวัสดิการของประเทศอย่างชัดเจน” นวลอนงค์ สรุปรายงานเรื่อง ‘ความสูญเสียจากอุบัติเหตุการจราจรทางถนนเป็นสิ่งที่ไม่ควรเกิดขึ้น และสามารถป้องกันได้ กรณีศึกษาประเทศไทย’ ให้ฟังสั้นๆ


bangkok-1990263_1920.jpg
  • สภาพการจราจรย่านใจกลางกรุงเทพฯ

ส่วนประเด็นการลงทุนด้านความปลอดภัย ดร. สุเมธแนะนำว่า สามารถทำได้หลายรูปแบบ เช่น การลงทุนกับการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานให้ปลอดภัยมากยิ่งขึ้น หรือการลงทุนกับมาตรการด้านความปลอดภัย

“ในอดีตเวลาพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานของประเทศ โดยเฉพาะการสร้างถนน ภาครัฐจะเน้นหนักกับเรื่องการพัฒนาเส้นทางใหม่พัฒนาโครงข่ายใหม่ไปเรื่อง และทั้งๆ ที่งบประมาณอาจจะจำกัดแต่อุปกรณ์ช่วยด้านความปลอดภัยทางท้องถนนกลับถูกให้ความสำคัญรองลงมา สรุปง่ายๆ คือสร้างถนนไปก่อนเลย ส่วนความปลอดภัยตามมาทีหลัง ซึ่งควรเปลี่ยนแนวคิดจากเดิมและหันมาสร้างถนนที่มีความปลอดภัยสูงก่อน แล้วค่อยๆ ขยายผลต่อไป

“นอกจากนั้น มาตราการอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนา หรือส่งสัญญาณให้กับภาคอุตสาหกรรมเรื่องของอุปกรณ์ด้านความปลอดภัย หลายๆ ประเทศเริ่มมีการพิจารณาว่า ถ้ารถยนต์มีอุปกรณ์ด้านความปลอดภัยสูง อาจมีการลดภาษีเป็นพิเศษ เพื่อจูงใจให้ประชาชนใช้รถยนต์ที่มีความปลอดภัยสูงมากขึ้นโดยตัวอุปกรณ์ด้านความปลอดภัย เช่น ถุงลมนิรภัย เบรกเอบีเอส หรือเทคโนโลยีใหม่ๆ ที่พัฒนาออกมาค่อนข้างเยอะ”

ส่ิงสำคัญอีกอย่างหนึ่งคือ การลงทุนของผู้ใช้รถยนต์เอง หลายๆ ครั้งภาครัฐอาจจะเน้นเรื่องความสะดวกสบายของการเดินทางเป็นหลัก แต่ทั้งนี้ เมื่อพูดถึงความสะดวกสบาย บางประเด็นมาพร้อมความเสี่ยงด้วย ยกตัวอย่างเช่นเรื่องความเร็ว หลายๆ ครั้งคนเลือกขับด้วยความเร็ว เพราะสมรรถนะรถยนต์ดี แล้วทำไมภาครัฐต้องกำหนดความเร็วบนท้องถนนค่อนข้างต่ำ เช่น กรณี 90 กิโลเมตร/ชั่วโมง ทั้งๆ ที่การขับรถยนต์ด้วยความ 120 กิโลเมตร/ชั่วโมง ทำให้ประชาชนถึงที่หมายได้รวดเร็วกว่า ทำอะไรได้มากกว่า

“ตามความเป็นจริงแล้ว การเพิ่มความเร็วมาพร้อมความเสี่ยง และอัตราการเกิดอุบัติเหตุสูงกว่าด้วย ฉะนั้นรัฐต้องทำความเข้าใจร่วมกับประชาชนแล้วว่า มันเป็นความเสี่ยงที่รัฐบาลต้องเข้ามาควบคุม ต้องเข้ามากำหนด เพราะถ้าเกิดอุบัติเหตุบาท้องถนนมันจะส่งผลกระทบต่อความสูญเสียทางเศรษฐกิจของประเทศ การกำหนดมาตรการหมายความว่า ตัวประชาชนเองจะได้รับความสะดวกสบายน้อยลง แต่ความปลอดภัยสูงขึ้น

“อีกปัจจัยหนึ่งคือ พฤติกกรมการขับขี่ จริงๆ ระเบียบเป็นเรื่องหนึ่งที่หากประชาชนมีก็ย่อมดี ทว่าการสื่อสารกับประชาชนถึงความสำคัญของความปลอดภัย ว่าระเบียบที่เกี่ยวข้องมีมา หรือบังคับใช้ เพื่อความปลอดภัยของประชาชน ถ้ามีการสื่อสารเรื่องดังกล่าวได้ ซึ่งทางภาครัฐเองก็ต้องลงทุนกับเรื่องการสื่อสารเพิ่มมากขึ้น ไม่ใช่ลงทุนกับเรื่องการบังคับใช้ โดยเฉพาะความสูญเสียเมื่อไม่ปฏิบัติตามระเบียบ”

จากนั้น เมื่อถามผู้สื่อข่าวถามต่อว่า แล้วสิ่งสำคัญเกี่ยวกับความเสียหายทางเศรษฐกิจ และสังคมไทย จากอุบัติเหตุทางถนนที่ทุกพรรคการเมืองควรทราบก่อนการเลือกตั้งคืออะไร ดร. สุเมธ ให้คำตอบกลับมาว่า เรื่องจำนวนผู้เสียชีวิตที่สูง และมันสามารถเกิดขึ้นกับใครก็ได้

“ปัญหาหลักของการพัฒนานโยบาย เพื่อใช้ในการหาเสียง หลายๆ ครั้งมันมีข้อจำกัด เพราะเวลาพรรคการเมืองหาเสียงมักพิจารณาจากกระแสสังคม แต่เรื่องมาตรการความปลอดภัยอาจทำให้ประชาชนไม่ได้รับความสะดวกสบาย และมันเป็นนโยบายที่ประชาชนไม่ค่อยซื้อ ซึ่งมันเป็นความท้าทาย ภาควิชาการเราทราบดีว่า ปัญหาดังกล่าวมีความสำคัญ แต่ถ้าภาคการเมืองมีความเข้าใจไม่ลึกซึ้งเพียงพอ แล้วไม่สามารถนำความเข้าใจไปดำเนินการแปรผันเป็นนโยบายได้ สถานการณ์ความปลอดภัยบนท้องถนนก็จะไม่ดีขึ้น”

ดร. สุเมธ คาดหวังว่า พรรคการเมืองต่างๆ จะมีทักษะในการสื่อสารกับประชาชนได้ดี สามารถหยิบยกประเด็นความสูญเสียจากอุบัติเหตุบนท้องถนนไปพัฒนาเป็นนโยบายที่เหมาะสม และทำให้อัตราการเสียชีวิต อัตราการเกิดอุบัติเหตุลดลงได้ในอนาคต


_MG_0432.JPG
  • ดร. ลีวีอู เวดราสโก (Dr. Liviu Vedrasco) ตัวแทนจากองค์การอนามัยโลก

ด้าน ดร. ลีวีอู เวดราสโก (Dr. Liviu Vedrasco) ผู้แทนจากองค์การอนามัยโลกประจำประเทศไทย ช่วยฉายภาพสถานการณ์การเสียชีวิตจากอุบัติเหตุบนท้องถนนผ่านผลการวิจัยให้ฟังว่า เมื่อ 2 ปีก่อนองค์การอนามัยโลกทำวิจัยออกมาฉบับหนึ่ง เพื่อประเมินความปลอดภัยทางถนนเชิงกฎหมาย และเชิงสถาบันของประเทศไทย ซึ่งเมื่อพิจารณาเชิงสถาบันพบว่า ประเทศไทยมีโครงสร้าง และกลไกอยู่แล้ว เพียงแค่ทำงานได้ไม่เต็มที่เท่าไหร่ บวกกับมีความท้าทายเรื่องความสามารถเชิงวิชาการ

“การเกิดอุบัติเหตุบนท้องถนนของประเทศไทยนับเป็นปัญหาใหญ่มาก แต่หน่วยงานที่รับผิดชอบ หรือศูนย์อำนวยการความปลอดภัยทางถนน อยู่ภายใต้กรมป้องกัน และบรรเทาสาธารณภัย กระทรวงมหาดไทย โดยประธานคือ นายกรัฐมนตรี ทว่าเนื้องานเวลาทำจริงๆ ตกอยู่กับหน่วยงานเล็กมากๆ จึงขาดการบูรณาการอย่างทั่วถึงระหว่างภาคส่วนต่างๆ” ดร. ลีวีอู กล่าว

เมื่อพิจารณาเชิงกฎหมายพบว่า กฎหมายด้านความปลอดภัยทางถนนของประเทศไทยค่อนข้างล้าสมัย เพราะร่างมานานกว่า 40 ปี โดยทางองค์การอนามัยโลกพยายามทบทวนทุกมิติของกฎหมายที่เป็นปัจจัยสำคัญ เช่น ความเร็ว หมวกกันน็อก เข็มขัดนิรภัย และแอลกอฮอล์ ซึ่งค้นพบว่า กฏหมายเกี่ยวกับหมวกกันน็อกของประเทศไทยดีอยู่แล้ว แต่การบังคับใช้กฎหมายกลับไม่ได้ผล

สำหรับข้อเสนอแนะจากองค์การอนามัยโลกคือ เชิงสถาบันควรจัดตั้งหน่วยงานเฉพาะภายใต้สำนักนายกรัฐมนตรี และมอบอำนาจหน้าที่รับผิดชอบอย่างเต็มที่ ไม่ใช่แค่เป็นหน่วยงานย่อยในระดับกรมอีกทีหนึ่ง ส่วนเชิงกฎหมาย ทางองค์การอนามัยโลกได้ทำจดหมายไปยังสำนักนายกรัฐมนตรี เพื่อเร่งปรับปรุงแก้ไขกฎหมายด้านความปลอดภัยบนท้องถนนในประเทศไทย

ดร. ลีวีอู เน้นย้ำว่า ประเด็นการเกิดอุบัติเหตุทางถนน ซึ่งสร้างความสูญเสียทางเศรษฐกิจควรถูกนำเข้าสู่วาระทางการเมือง โดยเฉพาะอย่างยิ่งช่วงที่กำลังเกิดการเปลี่ยนผ่านทางการเมืองในต้นปีหน้า

“สิ่งสำคัญที่ผมอยากให้เข้าไปอยู่ในวาระทางการเมืองคือ มอเตอร์ไซค์และผู้ใช้ทางเท้า ซึ่งเป็นกลุ่มที่ได้รับผลกระทบมากสุดจากความไม่ปลอดภัยทางท้องถนน” ผู้แทนจากองค์การอนามัยโลกกล่าวทิ้งท้ายก่อนจากกัน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง: