ไม่พบผลการค้นหา
SCB EIC วิเคราะห์เศรษฐกิจภาคครัวเรือนไทยอยู่ในสภาวะซบเซา ทั้งรายได้และการใช้จ่าย พาเหรดลดลงเป็นครั้งแรกในรอบ 10 ปี ชี้หนี้เพิ่มขึ้น อัตราการออมลดลง กันชนทางการเงินมีน้อยลง ชี้รัฐยังต้องช่วยประคองกลุ่มเปราะบาง

ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจ ธนาคารไทยพาณิชย์ หรือ SCB EIC เปิดเผยบทวิเคราะห์ เรื่อง "5 ข้อค้นพบสะท้อนภาวะซบเซาของเศรษฐกิจภาคครัวเรือนไทย จากข้อมูลการสำรวจภาวะเศรษฐกิจและสังคมล่าสุด" โดยระบุว่า จากข้อมูลการสำรวจภาวะเศรษฐกิจและสังคมของภาคครัวเรือนไทย (Household Socio-Economic Survey หรือ SES) ซึ่งจัดทำด้วยการสำรวจครัวเรือนจำนวนกว่า 4 หมื่นครัวเรือนในทุก ๆ 2 ปี โดยสำนักงานสถิติแห่งชาติ 

อีไอซีนำเอาข้อมูลล่าสุดในช่วงครึ่งแรกของปี 2562 มาวิเคราะห์เปรียบเทียบกับข้อมูลย้อนหลัง 10 ปี พบว่ามี 5 ข้อค้นพบน่าสนใจที่บ่งชี้ถึงภาวะเศรษฐกิจของครัวเรือนไทยในปัจจุบัน ดังต่อไปนี้

ข้อ 1: รายได้เฉลี่ยของครัวเรือนไทยลดลงเป็นครั้งแรกในรอบ 10 ปี สวนทางอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจ (จีดีพี) ที่ยังเติบโต

โดยในช่วงครึ่งแรกของปี 2562 ครัวเรือนไทยมีรายได้ลดลงสวนทางกับจีดีพีที่เพิ่มขึ้นต่อเนื่อง ในช่วงครึ่งแรกของปี 2562 ครัวเรือนไทยมีรายได้เฉลี่ยอยู่ที่ 26,371 บาทต่อเดือนต่อครัวเรือน ติดลบร้อยละ 2.1 จากในปี 2560 ที่ 26,946 บาทต่อเดือนต่อครัวเรือน ถือเป็นการลดลงครั้งแรกในรอบ 10 ปีจากในช่วงก่อนหน้านี้ที่รายได้ครัวเรือนมีการเพิ่มขึ้นมาโดยตลอด 

ทั้งนี้ รายได้ครัวเรือนที่ลดลงนั้นสวนทางกับเศรษฐกิจเมื่อวัดจาก nominal GDP (อัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจที่รวมเงินเฟ้อ) ที่เติบโตขึ้นร้อยละ 7.6 ในช่วงเดียวกัน (คำนวณเทียบ nominal GDP รวม 4 ไตรมาสย้อนหลังนับจากช่วงครึ่งแรกของปี 2562 เทียบกับของทั้งปี 2560) 

อีกทั้งรายได้ครัวเรือนลดลงทั้งในส่วนที่มาจากการทำงานเป็นลูกจ้าง (ค่าจ้าง) และจากการประกอบธุรกิจ (กำไรจากกิจการ) โดยมีรายละเอียดในแต่ละแหล่งที่มารายได้ ดังนี้

รายได้ครัวเรือนจากการทำงานเป็นลูกจ้างลดลงจากปัจจัยระยะสั้นและปัจจัยเชิงโครงสร้าง จาก 22,237 บาทต่อครัวเรือนต่อเดือนในปี 2560 เหลือ 21,879 บาทในช่วงครึ่งแรกของปี 2562 หรือติดลบร้อยละ 1.6 อีไอซีวิเคราะห์ว่าการลดลงของรายได้ค่าจ้างของครัวเรือนมีสาเหตุมาจากจำนวนคนทำงานและจำนวนชั่วโมงการทำงานเฉลี่ยต่อคนที่ลดลง รวมไปถึงอัตราค่าจ้างที่ชะลอลง ซึ่งเป็นผลมาจากทั้งปัจจัยเชิงวัฏจักร (การลดการใช้แรงงานตามภาวะเศรษฐกิจที่ชะลอตัว) และปัจจัยเชิงโครงสร้าง (การเกษียณอายุของแรงงานตามโครงสร้างประชากร และการนำเทคโนโลยีทดแทนแรงงานมาใช้) 

รายได้ครัวเรือนจากกำไรกิจการลดลงทั้งในและนอกภาคเกษตร โดยกำไรกิจการการเกษตรเฉลี่ยอยู่ที่ 7,048 บาทต่อครัวเรือนต่อเดือนในช่วงครึ่งแรกของปี 2562 ติดลบร้อยละ 4.8 จาก 2 ปีก่อนหน้าสอดคล้องกับเศรษฐกิจภาคเกษตรกรรมที่เผชิญกับทั้งภัยแล้งและปัญหาราคาสินค้าตกต่ำ ทั้งนี้กำไรกิจการการเกษตรลดลงอย่างต่อเนื่องมาตั้งแต่ปี 2556 เป็นต้นมา ส่วนรายได้ครัวเรือนที่มาจากกำไรกิจการนอกภาคเกษตรก็ลดลงเช่นเดียวกัน โดยในช่วงครึ่งแรกของปี 2562 อยู่ที่ 19,269 บาท ลดลงจาก 18,685 บาทในปี 2560 หรือติดลบร้อยละ 3 ตามสภาวะเศรษฐกิจที่ชะลอตัวและการแข่งขันที่รุนแรงขึ้นจากบริษัทขนาดใหญ่

สำหรับรายได้ครัวเรือนประเภทอื่น ๆ ค่อนข้างทรงตัว โดยรายได้ที่มาจากดอกเบี้ยจากการลงทุน ดอกเบี้ยจากเงินออม เงินโอนจากภาครัฐ เงินโอนจากผู้อื่น ฯลฯ ในช่วงครึ่งแรกของปี 2562 อยู่ที่ 7,806 บาทต่อครัวเรือนต่อเดือน ไม่เปลี่ยนแปลงจากปี 2560 คาดว่าสาเหตุที่รายได้ในส่วนนี้ทรงตัวมาจากเงินออมเฉลี่ยต่อเดือนที่ลดลงและอัตราดอกเบี้ยที่ทรงตัวในระดับต่ำ

ข้อ 2: การใช้จ่ายเฉลี่ยของครัวเรือนไทยลดลงเป็นครั้งแรกในรอบ 10 ปีเช่นกัน 

ครัวเรือนไทยลดการใช้จ่ายลง ในช่วงครึ่งแรกของปี 2562 ครัวเรือนไทยใช้จ่ายเฉลี่ยอยู่ที่ 21,236 บาทต่อครัวเรือนต่อเดือน ติดลบร้อยละ 0.9 จาก 21,437 บาทต่อครัวเรือนต่อเดือนในปี 2560 ถือเป็นการลดลงครั้งแรกในรอบ 10 ปี สอดคล้องกับรายได้ที่ลดลง ทั้งนี้การลดลงของการใช้จ่ายยังอาจมีสาเหตุมาจากความกังวลเรื่องความไม่แน่นอนทางเศรษฐกิจที่มากขึ้น รวมถึงภาระหนี้ที่เพิ่มสูงขึ้นด้วยเช่นกัน

ครัวเรือนไทยลดการใช้จ่ายในหลายหมวด โดยเฉพาะรายจ่ายสินค้าฟุ่มเฟือย เมื่อพิจารณาการเปลี่ยนแปลงเทียบระหว่างช่วงครึ่งแรกของปี 2562 และปี 2560 ในแต่ละหมวดรายจ่ายพบว่า ครัวเรือนมีการลดรายจ่ายในสินค้าจำเป็นบางรายการ เช่น หมวดอาหารซึ่งเป็นหมวดที่มีสัดส่วนรายจ่ายสูงที่สุด (ร้อยละ 33.2 ของรายจ่ายทั้งหมด) และหมวดรายจ่ายเกี่ยวกับการรักษาพยาบาล แต่ส่วนที่ลดลงมากกว่าค่าเฉลี่ยจะเป็นกลุ่มสินค้าฟุ่มเฟือย เช่น รายจ่ายในด้านเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ความบันเทิง และการท่องเที่ยว สะท้อนว่าครัวเรือนไทยเลือกที่จะประหยัดค่าใช้จ่ายในกลุ่มสินค้าและบริการฟุ่มเฟือยลงมากเป็นพิเศษในภาวะที่รายได้ไม่เติบโต 

อย่างไรก็ดี โดยเฉลี่ยครัวเรือนก็ยังคงมีการเพิ่มรายจ่ายในบางรายการ เช่น ค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับที่อยู่อาศัย เครื่องแต่งกาย ของใช้และบริการส่วนบุคคล และรายจ่ายด้านการสื่อสาร โดยรายจ่ายด้านการสื่อสารเป็นรายจ่ายหลักประเภทเดียวที่ครัวเรือนไม่เคยมีการลดการใช้จ่ายลงในตลอดช่วง 10 ปีที่ผ่านมา สอดคล้องกับพฤติกรรมการใช้เทคโนโลยีโทรศัพท์มือถือของผู้บริโภคที่เพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง 

ข้อ 3: ครัวเรือนไทยเป็นหนี้มากขึ้น ภาระหนี้ต่อรายได้แตะระดับสูงสุด 

ครัวเรือนไทยมีการก่อหนี้เพิ่มขึ้น เมื่อพิจารณาเฉพาะครัวเรือนที่มีหนี้ (ร้อยละ 46.3 ของจำนวนครัวเรือนทั้งหมด) พบว่า ภาระหนี้เฉลี่ยต่อครัวเรือนเพิ่มขึ้นจาก 353,210 บาทต่อครัวเรือนในปี 2560 มาอยู่ที่ 362,373 บาทต่อครัวเรือน หรือเพิ่มขึ้นร้อยละ 2.6 ส่งผลให้สัดส่วนหนี้ต่อรายได้ (หารเฉพาะครัวเรือนที่มีหนี้) เพิ่มขึ้นจากร้อยละ 96.1 มาเป็นร้อยละ 97.7 ซึ่งถือเป็นระดับที่สูงที่สุดเป็นประวัติการณ์ และเป็นการเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องต่างจากสัดส่วนหนี้ครัวเรือนต่อ GDP ที่มีการลดลง (deleverage) ในช่วงปี 2558 ถึงปี 2560 แล้วจึงเพิ่มขึ้นเล็กน้อยในช่วงหลังจากนั้น 

ทั้งนี้ สาเหตุหลักเป็นเพราะในช่วงดังกล่าวสัดส่วนรายได้ครัวเรือนต่อ GDP ลดลง ขณะที่สัดส่วนของกำไรภาคธุรกิจ (ซึ่งส่วนมากน่าจะมาจากกำไรของธุรกิจขนาดใหญ่) ต่อ GDP เพิ่มสูงขึ้น

หนี้บ้าน-บริโภค-การเกษตรเพิ่ม หนี้ธุรกิจลด โดยมีรายละเอียดในแต่ละวัตถุประสงค์การก่อหนี้ดังต่อไปนี้ 

หนี้บ้านเพิ่ม การก่อหนี้เพื่อซื้อที่อยู่อาศัยของครัวเรือนเฉลี่ยเพิ่มขึ้นจาก 128,287 บาทต่อครัวเรือนในปี 2560 มาอยู่ที่ 135,312 บาทต่อครัวเรือน หรือเพิ่มขึ้นร้อยละ 5.5 ส่งผลให้สัดส่วนหนี้ที่อยู่อาศัยต่อหนี้ครัวเรือนทั้งหมดเพิ่มขึ้นจากร้อยละ 36.3 มาเป็นร้อยละ 37.3 ซึ่งถือเป็นระดับที่สูงที่สุดนับตั้งแต่ปี 2552 

หนี้เพื่อการบริโภคเพิ่ม ในส่วนของหนี้เพื่อการบริโภค (รวมหนี้รถยนต์) ซึ่งเป็นหนี้ที่มีสัดส่วนสูงที่สุดของครัวเรือนในปัจจุบันเพิ่มขึ้นจาก 137,678 บาทต่อครัวเรือนในปี 2560 มาอยู่ที่ 139,904 บาทต่อครัวเรือน คิดเป็นการเพิ่มขึ้นร้อยละ 1.0 สำหรับหนี้เพื่อการบริโภคนี้ถือเป็นหนี้ที่เติบโตเร็วที่สุดในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา โดยเติบโตเฉลี่ยร้อยละ 7 ต่อปี ขณะที่หนี้ส่วนอื่น ๆ เติบโตเฉลี่ยเพียงร้อยละ 3.7 ต่อปี ทำให้หนี้เพื่อการบริโภคมีสัดส่วนเพิ่มขึ้นจากร้อยละ 30.8 ในปี 2552 มาเป็นที่ร้อยละ 38.4 ในปัจจุบัน 

การก่อหนี้เพื่อทำธุรกิจการเกษตรยังคงเพิ่มขึ้น จาก 49,273 บาทต่อครัวเรือนในปี 2560 มาอยู่ที่ 51,574 บาทต่อครัวเรือน คิดเป็นการเพิ่มขึ้นร้อยละ 4.7 ทั้ง ๆ ที่กำไรจากกิจการการเกษตรลดลงในช่วงเดียวกัน คาดว่าสาเหตุน่าจะมาจากการก่อหนี้เพื่อประคับประคองธุรกิจและค่าใช้จ่ายในครัวเรือนในช่วงที่ต้องเผชิญปัจจัยลบ รวมถึงอาจมีผลส่วนหนึ่งมาจากมาตรการภาครัฐในการให้สินเชื่อดอกเบี้ยต่ำแก่เกษตรกรต่อเนื่อง

ในทางกลับกัน การก่อหนี้เพื่อทำธุรกิจนอกภาคเกษตรลดลง จาก 30,120 บาทต่อครัวเรือนในปี 2560 ลดลงมาอยู่ที่ 29,478 บาทต่อครัวเรือนในปัจจุบัน คิดเป็นการติดลบร้อยละ 2.1 สอดคล้องกับทิศทางการเปลี่ยนแปลงของกำไรกิจการนอกภาคเกษตร ทั้งนี้หนี้ในส่วนนี้มีสัดส่วนมีแนวโน้มลดลงในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา โดยเคยมีสัดส่วนสูงถึงร้อยละ 16.3 ในปี 2552 ลดลงมาเหลือเพียงร้อยละ 8.1 ในปัจจุบัน 

ส่วนหนึ่งมาจากการที่จำนวนครัวเรือนที่ทำกิจการนอกภาคเกษตรลดลงจากร้อยละ 30.5 ในปี 2552 มาอยู่ที่ร้อยละ 25.2 ในปัจจุบัน อีกทั้งในบรรดาครัวเรือนที่ทำธุรกิจนอกภาคเกษตร สัดส่วนครัวเรือนที่กู้ก็ลดน้อยลงเช่นกันจากร้อยละ 14.2 ในปี 2552 มาอยู่ที่ร้อยละ 10.0 ในปัจจุบัน

จากแนวโน้มของการเปลี่ยนแปลงของหนี้แต่ละประเภทในช่วง 10 ปีที่ผ่านมานั้นแสดงให้เห็นว่าการเพิ่มขึ้นของหนี้ภาคครัวเรือนถูกขับเคลื่อนโดยหนี้เพื่อการบริโภคและหนี้เพื่อที่อยู่อาศัยเป็นหลัก ไม่ใช่หนี้เพื่อการทำธุรกิจ อย่างไรก็ดี ในระยะต่อไปการเติบโตของหนี้ทั้งเพื่อการบริโภคและที่อยู่อาศัยอาจชะลอลงจากภาระหนี้ที่อยู่ในระดับสูงส่งผลให้การกู้ยืมใหม่ยากขึ้น รวมถึงผลของมาตรการ LTV ที่ทำให้การกู้ยืมเพื่อที่อยู่อาศัยมีแนวโน้มชะลอลง

ข้อ 4: ครัวเรือนไทยเก็บออมลดลงและมีความเปราะบางทางการเงินมากขึ้น 

ครัวเรือนไทยออมลดลงจากในอดีตและมีครัวเรือนจำนวนไม่น้อยที่ไม่มีเงินออม เงินออมซึ่งคำนวณจากรายได้หักด้วยรายจ่ายเพื่อการบริโภค รายจ่ายเพื่อการชำระหนี้ และรายจ่ายภาษีของครัวเรือนไทยในช่วงครึ่งแรกของปี 2562 เฉลี่ยอยู่ที่ 1,677 บาทต่อเดือนต่อครัวเรือน ติดลบร้อยละ 2.4 จากปี 2560 ที่ 1,718 บาท หากพิจารณาข้อมูลย้อนหลังจะพบว่าครัวเรือนไทยเก็บออมลดลงมาโดยตลอดตั้งแต่ปี 2556 เป็นต้นมา 

โดยเมื่อคิดเป็นอัตราการออมคำนวณจากสัดส่วนเงินออมต่อรายได้ครัวเรือนในช่วงครึ่งแรกของปี 2562 อยู่ที่เพียงร้อยละ 6.4 ซึ่งถือเป็นระดับที่ต่ำที่สุดนับตั้งแต่ปี 2552 เป็นต้นมา โดยอัตราการออมของครัวเรือนไทยเคยสูงสุดอยู่ที่ร้อยละ 11.0 เมื่อปี 2554 ทั้งนี้ร้อยละ 41.3 ของครัวเรือนไทยไม่มีการเก็บออมในช่วงครึ่งแรกของปี 2562 และยิ่งเมื่อพิจารณาแยกเฉพาะครัวเรือนที่มีหนี้ พบว่ามีสัดส่วนสูงถึงร้อยละ 59.2 ของครัวเรือนที่มีหนี้ที่ไม่มีเงินออม

กันชนทางการเงิน (financial cushion) ของครัวเรือนไทยมีน้อยลง กันชนทางการเงินซึ่งสะท้อนจากสัดส่วนของสินทรัพย์ทางการเงินต่อรายจ่ายต่อเดือนของครัวเรือนไทยในช่วงครึ่งแรกของปี 2562 อยู่ที่ 7.3 เท่า (ซึ่งหมายความว่าสินทรัพย์ทางการเงินที่มีอยู่สามารถครอบคลุมค่าใช้จ่ายได้ 7.3 เดือน) ลดลงจาก 7.9 เท่าในปี 2560 ถือเป็นระดับกันชนที่น้อยที่สุดนับตั้งแต่ปี 2556 (ซึ่งเป็นปีแรกที่เริ่มมีการเก็บข้อมูลสินทรัพย์ครัวเรือน) บ่งชี้ว่าครัวเรือนไทยมีความเปราะบางทางการเงินมากขึ้นในการเผชิญปัจจัยลบทางเศรษฐกิจ เช่น การขาดรายได้ การตกงาน ซึ่งความเสี่ยงดังกล่าวมีเพิ่มขึ้นในปัจจุบัน

ทั้งนี้ มีครัวเรือนไทยเกินครึ่งที่มีสินทรัพย์ทางการเงินครอบคลุมรายจ่ายได้ไม่เกิน 3 เดือน โดยสัดส่วนต่อจำนวนครัวเรือนทั้งหมดอยู่ที่ร้อยละ 59.2 และหากพิจารณาเฉพาะครัวเรือนที่มีหนี้สัดส่วนดังกล่าวจะอยู่ที่ร้อยละ 62.0 ซึ่งเป็นระดับที่สูงที่สุดจากข้อมูล 10 ปี

ข้อ 5: เงินช่วยเหลือจากภาครัฐมีบทบาทเพิ่มมากขึ้นต่อเนื่อง ในการประคับประคองกลุ่มครัวเรือนรายได้น้อยในช่วงที่ความสามารถในการหารายได้อ่อนแอและยังมีความเปราะบางสูง

ครัวเรือนรายได้น้อยมีการพึ่งพาเงินช่วยเหลือจากภาครัฐเพิ่มขึ้นมาโดยตลอด ข้อมูลจากการสำรวจรายได้ของครัวเรือนนั้นจะมีส่วนหนึ่งที่มาจากการช่วยเหลือของภาครัฐ เช่น เงินโอน เงินสงเคราะห์ผู้สูงอายุและผู้พิการ และเงินช่วยเหลืออื่น ๆ ซึ่งกลุ่มครัวเรือนที่ได้เงินส่วนนี้มากที่สุดคือกลุ่มครัวเรือนรายได้น้อยกว่า 1 หมื่นบาทต่อเดือน (ร้อยละ 19.9 ของจำนวนครัวเรือนทั้งหมด) โดยเงินช่วยเหลือจากรัฐที่ได้ในช่วงครึ่งแรกของปี 2562 อยู่ที่ 813 บาทต่อเดือน คิดเป็นสัดส่วนสูงถึงร้อยละ 11.6 ต่อรายได้ทั้งหมด 

ทั้งนี้ สัดส่วนเงินช่วยเหลือของกลุ่มครัวเรือนรายได้น้อยนั้นมีทิศทางเพิ่มสูงขึ้นมาโดยตลอด โดยเพิ่มจากสัดส่วนเพียงแค่ร้อยละ 3.5 ในปี 2552 สำหรับสัดส่วนเงินช่วยเหลือจากรัฐในกลุ่มรายได้ที่สูงกว่านั้นมีทิศทางเพิ่มขึ้นเช่นกัน แต่จะอยู่ในระดับที่ค่อนข้างต่ำ เช่น กลุ่มรายได้ 1 ถึง 3 หมื่นบาทต่อเดือนจะอยู่ที่ราวร้อยละ 3.5 หรือ กลุ่มรายได้มากกว่า 5 หมื่นบาทต่อเดือนขึ้นไปจะอยู่ที่เพียงร้อยละ 0.6 เท่านั้น 

เงินช่วยเหลือจากรัฐเป็นปัจจัยสำคัญที่ช่วยประคับประคอง และทำให้รายได้ของครัวเรือนกลุ่มดังกล่าวเพิ่มขึ้นร้อยละ 0.6 เมื่อเทียบกับ 2 ปีก่อนหน้า ส่งผลให้ครัวเรือนกลุ่มดังกล่าวยังสามารถใช้จ่ายได้เพิ่มขึ้นร้อยละ 0.6 เช่นกันในช่วงเดียวกัน ทั้งนี้หากไม่รวมเงินช่วยเหลือจากรัฐ รายได้ครัวเรือนกลุ่มดังกล่าวจะติดลบร้อยละ 1.1 สะท้อนว่าโดยพื้นฐานการสร้างรายได้ของครัวเรือนกลุ่มนี้ยังมีความอ่อนแอและยังต้องอาศัยเงินช่วยเหลือจากรัฐ โดยหากไม่มีเงินช่วยเหลือ การใช้จ่ายของครัวเรือนกลุ่มนี้อาจปรับตัวลดลงได้

กลุ่มครัวเรือนรายได้น้อยมีความเปราะบางในหลายมิติ ทั้งภาระหนี้สูงกว่ารายได้ ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา กลุ่มครัวเรือนที่มีรายได้น้อยกว่า 1 หมื่นบาทต่อเดือนเป็นกลุ่มที่สัดส่วนหนี้ต่อรายได้เพิ่มเร็วที่สุดเมื่อเทียบกับอีก 3 กลุ่มรายได้ (กลุ่มรายได้ 1-3 หมื่น 3-5 หมื่น และมากกว่า 5 หมื่น) โดยเพิ่มจากร้อยละ 71.4 ในปี 2552 (สัดส่วนสูงเป็นอันดับ 3) เพิ่มขึ้นต่อเนื่องทุกปีมาเป็นสัดส่วนที่สูงถึงร้อยละ 117.8 โดยถือเป็นกลุ่มที่มีสัดส่วนหนี้ต่อรายได้สูงที่สุดในปัจจุบัน 

ขณะที่สัดส่วนหนี้ต่อรายได้ของครัวเรือนรายได้สูงกว่า 1 หมื่นบาทต่อเดือนโดยเฉลี่ยอยู่ที่ร้อยละ 96.2 ทั้งนี้ถ้าหักรายได้ในส่วนที่เป็นเงินช่วยเหลือจากภาครัฐออก สัดส่วนดังกล่าวของกลุ่มผู้มีรายได้น้อยจะเพิ่มขึ้นจากร้อยละ 117.8 ไปเป็นร้อยละ 134.2 สะท้อนให้เห็นว่าความสามารถในการชำระหนี้ของครัวเรือนกลุ่มนี้จะอ่อนแอลงมาก 

รายจ่ายเพื่อการชำระหนี้ต่อเดือนสูง กลุ่มครัวเรือนที่มีรายได้น้อยกว่า 1 หมื่นบาทต่อเดือนมีค่าเฉลี่ยสัดส่วนของรายจ่ายเพื่อการชำระหนี้ต่อรายได้ต่อเดือน (debt service ratio หรือ DSR) เพิ่มจากร้อยละ 29.5 ในปี 2552 มาเป็นที่ร้อยละ 40.0 ในปัจจุบัน สูงกว่ากลุ่มครัวเรือนที่รายได้สูงกว่า 1 หมื่นบาทขึ้นไปซึ่งมีสัดส่วน DSR เพียงประมาณร้อยละ 23.1 ในช่วงเดียวกัน

กันชนทางการเงินมีไม่มาก สินทรัพย์ทางการเงินเทียบกับรายจ่ายต่อเดือนของครัวเรือนรายได้น้อยโดยเฉลี่ยอยู่ที่ 4.3 เท่า ขณะที่ค่าเฉลี่ยสัดส่วนของกลุ่มรายได้ที่สูงกว่านั้นจะอยู่ที่ 7.5 เท่า นอกจากนี้ กลุ่มรายได้น้อยยังมีสัดส่วนของครัวเรือนที่มีสินทรัพย์ทางการเงินไม่พอรายจ่ายเกิน 3 เดือนสูงถึงร้อยละ 71.7 เพิ่มขึ้นต่อเนื่องจากปี 2558 ที่สัดส่วนดังกล่าวอยู่ที่ร้อยละ 68.4

โดยสรุป อีไอซีประเมินว่าสถานการณ์เศรษฐกิจของภาคครัวเรือนไทยในช่วง 2 ปีผ่านมาอยู่ในภาวะซบเซา สะท้อนจากการลดลงทั้งรายได้และรายจ่าย สวนทางกับทิศทางจีดีพีรวมของประเทศที่เติบโตอย่างต่อเนื่องในช่วงเดียวกัน นอกจากนี้ ครัวเรือนยังมีภาระหนี้ต่อรายได้ที่ค่อนข้างสูงซึ่งถือเป็นอีกหนึ่งอุปสรรคที่สำคัญต่อการใช้จ่ายและการกู้ยืมในระยะต่อไป 

รวมทั้งสัดส่วนการออมและกันชนทางการเงินซึ่งสะท้อนถึงความสามารถในการรับมือกับผลกระทบทางการเงินของครัวเรือนยังลดลง โดยปัจจุบันมีครัวเรือนไทยจำนวนมากไม่มีการเก็บออมและกว่าครึ่งมีสินทรัพย์ทางการเงินไม่พอรายจ่ายเกิน 3 เดือน 

อีไอซีมองว่า มาตรการช่วยเหลือจากรัฐระยะสั้นจึงยังคงมีความจำเป็นในการประคับประคองการใช้จ่ายและการชำระหนี้โดยเฉพาะสำหรับกลุ่มครัวเรือนรายได้น้อยที่มีความเปราะบางมากที่สุด และที่สำคัญยังควรต้องมีมาตรการการแก้ไขปัญหาในระยะยาวโดยเฉพาะอย่างยิ่งในส่วนของความสามารถในการหารายได้ของครัวเรือนไทยที่มีความอ่อนแอทั้งในส่วนของแรงงานและผู้ประกอบการ ด้วยการยกระดับผลิตภาพ (productivity) ผ่านการเพิ่มทักษะของแรงงานและการสนับสนุนการปรับตัวของธุรกิจ SMEs ต่อการเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยี รวมไปถึงการส่งเสริมการกระจายรายได้ด้วยการสนับสนุนการแข่งขันทางธุรกิจอย่างเป็นธรรมและการลดกฎระเบียบที่เป็นอุปสรรคต่อธุรกิจขนาดเล็ก

ข่าวที่เกี่ยวข้อง :