ไม่พบผลการค้นหา
ประธาน กมธ.ศาลฯ รับหนังสือจากนักเคลื่อนไหวทางการเมือง ขอให้ตรวจสอบการทำงาน กสม.เป็นไปตามมาตรฐานในการคุ้มครองสิทธิมนุษยชนตามหลักการปารีส

นายจิรายุ ห่วงทรัพย์ ประธานคณะกรรมาธิการกิจการศาล องค์กรอิสระ องค์กรอัยการ รัฐวิสาหกิจ องค์การมหาชน และกองทุน รับหนังสือจาก น.ส.ณัฏฐา มหัทธนา นักเคลื่อนไหวทางการเมือง เรื่อง ขอให้ตรวจสอบความโปร่งใส ประสิทธิภาพ และความได้มาตรฐานในการคุ้มครองสิทธิมนุษยชนตามหลักการปารีส ของคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ

เนื่องจากก่อนหน้านี้ ตนได้ขอให้ตรวจสอบการละเมิดสิทธิมนุษยชนโดยเจ้าหน้าที่ของรัฐใน 4 กรณี ได้แก่ การละเมิดเสรีภาพในการชุมนุมของกลุ่ม People Go Network ในกิจกรรมเดินมิตรภาพ (We Walk), การละเมิดสิทธิในกระบวนการยุติธรรมของกลุ่มคนอยากเลือกตั้ง, การละเมิดเสรีภาพในการแสดงออก กรณีเจ้าหน้าที่ตำรวจข่มขู่สมาคมผู้สื่อข่าวต่างประเทศฯ ไม่ให้ใช้พื้นที่จัดงานแถลงข่าวกลุ่มคนอยากเลือกตั้ง, และการปิดพีซทีวีเป็นเวลา 15 วัน จากการนำเสนอข่าวการสัมภาษณ์ประชาชนผู้ไปเยี่ยมให้กำลังใจนักโทษการเมืองที่เรือนจำ แต่ผ่านไป 2 ปี ตนได้รับหนังสือพร้อมรายงานผลการตรวจสอบจากคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ โดยมีมติให้ยุติข้อร้องเรียนทั้งหมด

ดังนั้น จึงมีข้อสังเกตว่า รายงานผลการตรวจสอบดังกล่าวมีเนื้อหาที่ไม่ได้มาตรฐานการทำหน้าที่ตรวจสอบการละเมิดสิทธิมนุษยชนตามหลักการปารีส และขัดกับหลักการสิทธิมนุษยชนสากล อีกทั้งไม่สอดคล้องกับปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติที่ประเทศไทยได้ให้สัตยาบันไว้ ดังนั้น แสดงให้เห็นว่า คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติชุดปัจจุบัน ไม่สามารถทำงานเพื่อคุ้มครองสิทธิมนุษยชนของประชาชนได้ตามพันธกิจที่ประกาศไว้

จึงร้องเรียนให้มีการตรวจสอบการบริหารและการปฏิบัติหน้าที่ของคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ โดยเฉพาะผู้ดำรงตำแหน่งประธาน เรื่องความล่าช้าในการตรวจสอบเรื่องร้องเรียน และการแจ้งผลการตรวจสอบการละเมิดสิทธิมนุษยชน หลังผู้ร้องส่งเรื่องร้องเรียนไปถึง 2 ปี เป็นมาตรฐานตามปกติของสำนักงานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ หรือเป็นการเลือกประวิงเวลา เฉพาะกรณีที่เป็นข้อร้องเรียนของนักปกป้องสิทธิทางการเมืองในยุค คสช.

ขณะที่ เนื้อหาในรายงานผลการตรวจสอบที่ 361/2562 ทั้ง 4 กรณีที่มีมติให้ยุติเรื่องนั้น เป็นไปตามมาตรฐานการคุ้มครองสิทธิมนุษยชนตามหลักการสิทธิมนุษยชนสากลหรือไม่ และจริงหรือไม่ที่คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติมีมติให้ยุติเรื่องร้องเรียนถึงร้อยละ 80 ตลอดจนเหตุใดในช่วงระหว่างเดือน เม.ย. 2560 ถึงเดือนก.ค. 2562 จึงมีการลาออกของกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ถึง 4 คน ในช่วงการดำรงตำแหน่งของนายวัส ติงสมิตร ประธาน กสม.