ไม่พบผลการค้นหา
พรรคพลังประชารัฐ โยนข้อเสนอเชิงนโยบาย “แปลงที่ดิน สปก.เป็น โฉนดทองคำ” ออกสู่สังคม เรียกก้อนหินจากทุกทิศ ทั้งจากคนใน และคนนอก โดยเฉพาะจาก “คนใน” แต่ “เสียงใหญ่” อย่าง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ที่ออกมาดักคอ-ปิดทาง ข้อเสนอแปลงที่ดิน สปก. จน “กอบศักดิ์-สมศักดิ์” เปลี่ยนทิศปรับทาง เฉพาะฉากการเมืองนี้ก็น่าสนใจ เป็นการขัดกันผ่านสื่อของ “บิ๊กทหาร-เทคโนแครต-นักการเมืองเก่า” ชวนคิดต่อว่าแล้วเมื่อเข้าสู่สภา-จัดตั้งรัฐบาลร่วมกัน จะยิ่งสนุกสนานเพียงไหน ?

“สุชาติ ตันเจริญ” แห่งพรรคพลังประชารัฐ นำเสนอนโยบาย “เปลี่ยนที่ดิน สปก.เป็นโฉนดที่ดิน” สู่สังคมไทย เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา เรียกทั้ง ก้อนหิน และดอกไม้ โดยเฉพาะเป็นก้อนหิน จาก พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ผู้ที่คาดหมายกันว่า จะเป็นแคนดิเดตชิงนายกรัฐมนตรีจากพรรคพลังประชารัฐ ขณะที่นักวิชาการด้านเศรษฐศาสตร์ก็ออกโรงประสานเสียงวิพากษ์นโยบายนี้ว่าเอื้อทุนใหญ่ และแก้ไขปัญหาความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจผิดทิศผิดทาง

ชื่อนโยบายเต็มๆ คือ  "เปลี่ยน สปก.4-01 กว่า 30 ล้านไร่ ให้เป็นที่ดินทองคำ"

“พ่อมดนำ” เสนอว่า ในเชิงเทคนิคทางกฎหมาย จะต้องเพิ่มวัตถุประสงค์ใหม่ใน พ.ร.บ.ปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม ให้ที่ดิน สปก.4-01 สามารถทำเกษตรอุตสาหกรรม โรงงาน พาณิชย์ ท่องเที่ยว หรือรีสอร์ทสุขภาพได้ ตลอดจนสามารถพัฒนาที่ดินในรูปแบบการทำกินที่เหมาะสมกับศักยภาพของพื้นที่

“เพียงแก้กฎหมายเพียงไม่กี่บรรทัด คนจนดักดานก็จะหมดไปในชั่วพริบตา ยืนยันว่าเรื่องนี้ไม่ใช่หนังขายยาที่จะมาโฆษณาชวนเชื่อ แต่ทำได้จริงๆ”

“เราจึงต้องกำหนดใบเอกสารสิทธิ์ใหม่โดยเรียกว่า "ใบสลักสิทธิ์" เมื่อเปลี่ยนผู้ถือสิทธิ์ในที่ดินทำกินนั้น ก็สลักชื่อใหม่ให้เป็นผู้ได้รับสิทธิ์เป็นผู้ครอบครองใหม่ จากที่ดินผืนเดิมที่มีมูลค่าราคาเพียงไม่กี่หมื่นบาท ต่อไปก็จะมีมูลค่าเพิ่มมากขึ้นในทันที เป็น 10 - 30 เท่า ตามศักยภาพของพื้นที่ที่จะใช้ที่ดินทำอะไร และหากใช้หลักการนี้ยังสามารถนำที่ดินนั้นเข้าขอสินเชื่อจากสถาบันการเงินได้ง่ายขึ้น ต้องการจะประกอบอาชีพอะไรที่เหมาะสมก็จะสามารถทำได้”

จาก “ที่ดิน สปก. 4-01” เป็น “ที่ดิน สปก. 4.0”

“พ่อมดนำ” เสนออีกว่า เมื่อที่ดินสามารถเปลี่ยนมือได้ ก็ควรจะเรียกใหม่ จาก “ที่ดิน สปก.4-01” เป็น “ที่ดิน สปก.4.0” ให้สอดคล้องกับไทยแลนด์ 4.0 ในช่วงแรก สุชาติเสนอว่าควรเริ่มดำเนินนโยบายนี้ในพื้นที่ EEC ก่อน  แล้วสักพักจึงใช้หลักการเดียวกันทำคลอบคลุมทั่วประเทศ กับที่ดิน สปก.กว่า 30 ล้านไร่ “จะทำให้เพิ่มมูลค่าทางเศรษฐกิจของประเทศได้กว่า 10 ล้านล้านบาท ประชาชนจะมีโอกาสเป็นเศรษฐีมีเงินมีรายได้หลายแสน หรือหลายล้านบาทต่อคนต่อครอบครัว นี่คือสิ่งที่ผมจะนำเสนอ และทำให้ได้ให้เร็วที่สุด”

ข้อเสนอของสุชาติ ถูกขานรับต่อทันทีจาก ทีมสามมิตร ทั้งจาก “สุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ” ประธานยุทธศาสตร์ภาคอีสาน พรรคพลังประชารัฐ, “สมศักดิ์ เทพสุทิน” ประธานยุทธศาสตร์ภาคเหนือ และ “อนุชา นาคาศัย” ประธานยุทธศาสตร์ภาคกลาง พวกเขาประกาศกร้าวถึงนโยบายนี้ในงานเสวนาเรื่องการจัดทำนโยบายแก้ไขปัญหาที่ดินให้กับประชาชน ที่ จ.นครราชสีมา

“สมศักดิ์” ย้ำว่า “พรรคพลังประชารัฐ จะดำเนินการให้เรียบร้อย พร้อมยืนยัน สปก. ต้องถูกเปลี่ยนให้เป็นประโยชน์สูงสุด ทั้งนี้การเปลี่ยน สปก. เป็นโฉนด จะไม่ไปสู่มือคนรวย หรือ นายทุน เพราะไม่ใช่วัตถุประสงค์ และจากการลงพื้นที่เห็นอุปสรรคชัดเจน ที่ติดด้วยข้อกฎหมาย จึงทำให้ประชาชนเสียผลประโยชน์ในหลายอย่าง ส่วนข้อกังวลของพรรคประชาธิปัตย์ ว่า ที่ดินจะตกไปอยู่กับนายทุน ยืนยันว่า นายทุนคงไม่สนใจซื้อที่ดินเกษตร เพราะหากไม่ทำการเกษตรจะเสียภาษีแพง รวมถึงหากไม่เสียภาษี 10 ปี ที่ดินจะตกเป็นของรัฐ โดยมองว่า การที่นายทุนมาซื้อไม่ใช่เรื่องง่าย”

ปัญหาการตะครุบที่ดิน(land grabbing)

"อนุสรณ์ ธรรมใจ” นักวิชาการด้านเศรษฐศาสตร์​จาก ม.รังสิต ชี้ถึงจุดอ่อนของนโยบายแปลงที่ดิน สปก. ว่า จะนำไปสู่ ปัญหาการตะครุบที่ดิน(land grabbing) จะเพิ่มขึ้นจากกลุ่มทุนขนาดใหญ่ในประเทศ และต่างชาติ

“นโยบายดังกล่าวจะยิ่งเพิ่มปัญหาความเหลื่อมล้ำในการเข้าถึงทรัพยากรที่ดินที่ยิ่งรุนแรงมากขึ้น เพราะมีแนวโน้มที่ ที่ดิน จำนวนมากจะหลุดจากมือของเกษตรกร สู่มือของนายทุนใหญ่ การเปลี่ยน ส.ป.ก.ที่ดินเพื่อการเกษตร เป็นพื้นที่ในการสร้างโรงงาน สร้างโรงแรมรีสอร์ท สร้างบ้านจัดสรร สร้างตึกแถว สร้างศูนย์การค้า หรือเอาไปพัฒนาหากำไรอื่นๆเหมือนโฉนด อาจทำให้ผู้มีอำนาจรัฐแสวงหาผลประโยชน์ในทางที่มิชอบจากที่ดิน ส.ป.ก. 35 ล้านไร่ จากนโยบายโฉนดทองคำได้ และจะทำให้อำนาจทุนขนาดใหญ่ บวกอำนาจรัฐเข้าถือครองที่ดินอย่างไม่จำกัด จะสร้างความไม่เป็นธรรมอย่างใหญ่หลวง ที่ดินจำนวนหนึ่งอาจถูกปล่อยให้รกร้างว่างเปล่าเพราะรัฐครอบครองโดยไม่ได้ใช้ประโยชน์ หรือนายทุนถือครองเพื่อเก็งกำไร ในที่สุด ที่ดิน ส.ป.ก. 35 ล้านไร่ จะตกอยู่ในมือของกลุ่มทุน ขณะที่เกษตรกรจะไร้ที่ทำกินหรือต้องเช่าที่ดินอันเป็นเหตุให้ต้นทุนการผลิตสูงขึ้น

ว่าที่แคนดิเดต นายกฯ พรรคพลังประชารัฐ เบรคเอง!!

นายกรัฐมนตรีคนปัจจุบัน ซึ่งได้รับแรงหนุนจากพรรคพลังประชารัฐ ให้เป็นนายกรัฐมนตรีคนต่อไป ออกมาคัดค้านทันที ว่า “พื้นที่ต่างๆ ของประเทศไทยไม่ว่าจะเป็นที่ดินของ สปก.หรือที่ดินที่จัดสรรให้เป็นที่ดินส่วนกลางของประเทศ จำเป็นต้องสงวนไว้ให้กับลูกหลานและเป็นพื้นที่ที่จัดไว้เพื่อทำการเกษตร หากวันหน้าพื้นที่เหล่านี้หายไป จะทำอย่างไร เพราะบางพื้นที่ก็เป็นที่ของเอกชน หากเขาขายไป การเกษตรก็จะหายไปแล้วใครหรือพื้นที่ไหนทำการเกษตรได้อีก ตนเข้าใจว่าทุกคนอยากได้ แต่ถ้าทุกอย่างถูกขายไปทั้งหมดลูกหลานจะทำอย่างไร

“ที่พูดไม่ใช่จะไปคัดค้านกับใคร แต่ต้องสร้างหลักคิดที่ถูกต้องให้กับประชาชน วันนี้เราเดินหน้าไปสู่การเลือกตั้ง การหาเสียงจะต้องเป็นเรื่องของการหาเสียง ไม่ใช่การขายฝัน และฝันยังไม่เป็นจริง เพราะแม้แต่การซื้อลอตเตอรี่ก็ยังไม่ถูก ดังนั้น เมื่อฝันแล้วก็ต้องทำด้วยจะได้เป็นไปตามฝัน ไม่เช่นนั้นก็ไม่มีทางทำได้ ฉะนั้น ต้องทบทวนว่าเกิดอะไรขึ้น”

ไม่ใช่แค่เบรคคนกันเองอย่างพรรคพลังประชารัฐ แต่ยังเบรค “อนุทิน” แห่งภูมิใจไทยด้วยว่า “การที่หลายคนออกมาพูดจะให้ราคาข้าว 60% อยู่กับคนปลูก 15% อยู่กับโรงสี และอีก 15% อยู่กับส่งออก ถ้าทำไม่ได้ อย่าไปเชื่อเขา มันทำไม่ได้”

“กอบศักดิ์-สมศักดิ์” ไม่ดื้อกับ “ประยุทธ์”

หลังนายกรัฐมนตรี วิจารณ์นโยบายนี้ผ่านสื่อ บรรดาแกนนำพรรคพลังประชารัฐก็โอนอ่อนผ่อนตามทันที

“กอบศักดิ์ ภูตระกูล” โฆษกพรรคพลังประชารัฐ(พปชร.) ชี้ว่า “เรื่องของที่ดินทำกินประชาชนคาดหวังอยากให้เข้ามาช่วยดูแลซึ่งที่ดินก็ต้องแบ่งเป็น 3 ส่วน คือ ที่เอกชน ที่รัฐและพื้นที่ป่า ซึ่งมีอยู่เป็นจำนวนมากจะต้องมีแนวทางคือช่วยเหลือให้ประโยชน์กับประชาชนโดยไม่ปล่อยให้ที่ดินหลุดไปอยู่ในมือของนายทุนเหมือนกรณีเขาใหญ่และวังน้ำเขียว ทุกพื้นที่ประชาชนจะสามารถใช้ประโยชน์ได้ ส่วนข้อเสนอแนะเสียงวิพากษ์วิจารณ์ เรารับฟัง พวกเราไม่ดื้อ อะไรที่เป็นคำตอบที่ดีที่สุดเราจะเดินหน้า

ขณะที่แกนนำสามมิตร “สมศักดิ์” ชี้ว่า "แนวคิดของพรรคพลังประชารัฐเห็นด้วยอย่างยิ่งกับนายกรัฐมนตรี ในการที่จะต้องรักษาที่ดินของรัฐโดยเฉพาะอย่างยิ่ง สปก. ไว้เพื่อให้เกษตรกรทำอาชีพการเกษตรต่อไป เพียงแต่พรรคพลังประชารัฐต้องการที่จะแก้ปัญหาความเดือดร้อนให้แก่เกษตรกรให้ได้รับสิทธิ์ในที่ดิน สปก. ได้ตรงตามความต้องการและตามสถานการณ์ที่แท้จริงในด้านเศรษฐกิจและสภาพพื้นที่ ซึ่งเปลี่ยนแปลงไปจากเดิมแต่กฎหมาย สปก. ที่บังคับใช้อยู่ขณะนี้ มีมานาน 40 กว่าปีแล้ว จึงไม่สอดคล้องกับปัจจุบัน"

ปิดท้ายที่ “ธนกร วังบุญคงชนะ” รองโฆษกพรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) เปิดเผยว่า “ส่วนที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ท้วงติง พรรคก็พร้อมน้อมรับ และนำไปพิจารณาเพื่อปรับแก้ไข ให้ทุกนโยบายมีความรอบคอบรัดกุม สามารถทำได้จริง รวมทั้งมั่นใจว่า การท้วงติงนโยบายของนายกฯ ก็จะไม่กระทบกับภาพลักษณ์ของพรรค รวมถึงไม่กระทบต่อการที่จะสนับสนุน พล.อ.ประยุทธ์ เป็นนายกฯต่อไปด้วย

จะเห็นว่า แม้ดูเหมือนท่วงท่าและความสัมพันธ์ระหว่าง “บิ๊กทหาร(ทีมประยุทธ์) - เทคโนแครต(ทีมสมคิด+4รัฐมนตรี) - นักการเมือง(กลุ่มสามมิตร)” จะดูเป็นปึกแผ่น ทว่ากลับซ่อนรอยร้าวไว้มากมาย ดังที่เป็นกระแสก่อนหน้านี้มาแล้วหนึ่งรอบ เมื่อเกลี่ยที่นั่งผู้สมัครชิง ส.ส.ไม่ลงตัว มีคนหวังลงชิงตำแหน่งล้นเกินเก้าอี้ หลายพื้นที่ทับซ้อนกัน ระหว่างคนของทีมสีเขียว และคนของทีมสามมิตร

เฉพาะเสียงแตกจากกรณีแปลงที่ดิน สปก.เป็นแค่น้ำจิ้มถึงแรงปะทะที่รออยู่ข้างหน้า เพราะเมื่อประยุทธ์ย่างเหยียบสู่สนามการเมืองจริง ในอีกไม่กี่เดือนข้างหน้า จะได้พบความโกลาหลจากข้อเรียกร้อง ข้อวิจารณ์ จากบรรดานักการเมืองผู้คว่ำหวอดในสภา จะมีเรื่องให้ท่านผู้นำต้องปวดหัวอีกมากจากการเกลี่ยผลประโยชน์ไม่ลงตัว ทุกย่างก้าวของพรรคพลังประชารัฐจะเต็มไปด้วยการต่อรองที่แสนเหน็ดเหนื่อย ชนิดที่ต้องบอกว่า “สืบทอดอำนาจไม่ได้ง่ายอย่างใจ”!!



วยาส
24Article
0Video
63Blog