ไม่พบผลการค้นหา
สหรัฐฯ-สหภาพยุโรปแสดงความเห็นต่างสุดขั้ว ประเด็นการรับมือกับปัญหาวิกฤติการณ์การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศโลก หรือ 'Climate Change'

CNN รายงานว่า งานประชุมด้านเศรษฐกิจระดับโลกอย่าง World Economic Forum ที่เมืองดาวอสของสวิตเซอร์แลนด์ปิดฉากลงไปแล้วเมื่อวานนี้ (24 ม.ค.) โดยเป็นการปิดการประชุมประจำปีลงพร้อมกับความไม่เห็นด้วยอย่างสิ้นเชิงของ 2 บุคคลสำคัญอย่าง สตีเฟน มนูชิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังสหรัฐฯ และ คริสตีน ลาการ์ด ประธานธนาคารกลางยุโรป บนเวทีเสวนาเวทีสุดท้ายของงานประชุม ในประเด็นการจัดการกับปัญหาวิกฤติการณ์การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศโลก หรือ 'Climate Change' ซึ่งเป็นประเด็นหลักที่มีการจัดเสวนาเพื่อหาทางออกอย่างจริงจังในปีนี้

มนูชินกล่าวบนเวทีเสวนาว่า การวางแผนล่วงหน้าแบบระยะยาวคือมาตรการที่ไม่สร้างประโยชน์ใดๆต่อการวิเคราะห์และควบคุมสถานการณ์โลกร้อน

ลาการ์ดแสดงความไม่เห็นด้วยทันที พร้อมระบุว่าการประเมินความเสี่ยงล่วงหน้าคือสิ่งที่ควรทำ เพราะจะช่วยลดความเสียหายที่จะเกิดขึ้นกับทั้งตลาดเงินและระบบเศรษฐกิจของโลก และการวางแผนล่วงหน้าจะทำให้เราสามารถเตรียมตัวป้องกันล่วงหน้า ประเมินสถานการณ์ และอาจจะบรรเทาความรุนแรงของผลกระทบที่จะเกิดขึ้น

AFP - world economic forum มนูชิน

เมื่อได้ยินดังนั้นมนูชินตอบกลับทันทีว่า "ผมไม่อยากหลอกตัวเองในการวางแผนล่วงหน้าเพื่อแก้ไขปัญหานี้ เพราะผมเชื่อว่ามันเป็นไปไม่ได้เลยที่จะสร้างแบบจำลองที่มีความแม่นยำว่าในอีก 30 ปีข้างหน้าเราต้องเผชิญกับความเสี่ยงอะไรบ้าง" ซึ่งการแสดงความเห็นของทั้ง 2 คนชี้ให้เห็นอย่างชัดเจนว่า แม้จะมีการเรียกร้องจากทั่วโลกให้ผู้นำชาติต่างๆเร่งแก้ไขปัญหาโลกร้อน แต่ สหรัฐฯและสหภาพยุโรปมีแนวทางที่แตกต่างกันอย่างสุดขั้วต่อประเด็นสำคัญนี้

เมื่อช่วงต้นสัปดาห์ที่ผ่านมา มนูชินได้ตั้งข้อสงสัยถึงความน่าเชื่อถือของเกรียตา ธืนแบร์ก นักรณรงค์เพื่อสิ่งแวดล้อมวัย 16 ปี ชาวสวีเดน พร้อมกล่าวต่อหน้าผู้สื่อข่าวในงานประชุมที่ดาวอสว่า เกรียตาควรกลับไปเรียนให้จบมหาวิทยาลัยด้านเศรษฐศาสตร์เสียก่อนค่อยมาตัดสินว่านโยบายของรัฐบาลสหรัฐฯนั้นมีความเกี่ยวข้องกับวิกฤติโลกร้อนอย่างไรบ้าง 

ซึ่งเกรียตาตอบกลับในประเด็นนี้ว่า เธอไม่จำเป็นต้องจบปริญญาตรีก็รู้ได้ว่ากำลังเกิดอะไรขึ้น และหากทั่วโลกยังสนับสนุนการลงทุนและการใช้พลังงานฟอสซิลต่อไปและไม่มีการลดการปล่อยคาร์บอนสู่ชั้นบรรยากาศ ภายใน 8 ปีโลกก็จะเผชิญกับอุณภูมิที่สูงเกิน 1.5 องศาซึ่งเป็นเพดานสูงสุดที่ตั้งไว้